การจัดให้มีโนราแสดงเพื่อความบันเทิงนั้น มักมีในงานวัดเพื่อหารายได้บำรุงศาสนา งานประเพณีสำคัญตามนักขัตฤกษ์ งานพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ ที่ชาวบ้าน วัด รัฐ หรือหน่วยงานราชการจัดขึ้นในโอกาสพิเศษ น้อยครั้งที่แสดงในงานของเอกชนเว้นแต่เอกชนนั้นจะเป็นมีฐานะดี หรือมีบารมีและบริวารมากหรือเป็นการจัดแสดงเพื่อแก้บน และแสดงในพิธี "ลงครู" ของครอบครัวที่มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นโนราโดยตรง เพราะเชื่อว่าถ้ารับโนรามารำถวายวิญญาณของบรรพบุรุษที่เป็นโนราจะทำให้ครอบครัวเจริญก้าวหน้า ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่กระทำจะให้โทษนานาประการ
ในปัจจุบันมีบ้างที่นักจัดรายการบันเทิงจัดแสดงโนราเพื่อหากำไรจากการเก็บค่าผ่านประตู แต่มักมีมหรสพอย่างอื่นๆ ด้วย
(โนราห์  http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_)

 

ความเชื่อเรื่องครูมโนห์รา  การไหว้ครู  และการเข้าโรงครู
          คำว่าครูมโนห์ราในที่นี้หมายถึง  “ครูหมอโนรา”  นั่นเอง  นับเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะผู้ที่จะฝึกหัดรำมโนห์รา  หรือเป็นเชื้อสายมโนห์ราเราจะต้องกราบไหว้บูชาทุกปี  ถ้าละเลยไม่ปฏิบัติมักเป็นไปต่าง ๆ  เช่น  เจ็บป่วยรักษาไม่หายจนกว่าจะได้แก้บนโดยเข้าโรงครูครูต้นได้แก่  นางนวลสำลี  ขุนศรีศรัทธา  เป็นต้น
                ส่วนการไหว้ครูและเข้าโรงครู  มโนห์ราจะต้องทำพิธีไหว้ครูทุกครั้ง  แต่การไหว้ครูที่สำคัญที่สุดซึ่งทำกันทุกปี  คือ  “การเข้าโรงครู”  มักจัดกันในเดือนสี่หรือเดือนหก  มักทำกันเป็นพิธีใหญ่  ต้องปลูกโรงพิธีอัญเชิญครู  และรำถวาย  สำหรับโรงครูมีเครื่องประกอบได้แก่บายศรีต้นกล้วย  อาจจะใช้ห้าชั้นหรือเจ็ดชั้น  ผ้าคาดเพดาน  ผ้าขาวปูที่ครู  เครื่องเชี่ยนสองสำรับเสื้อผ้าสองชุด  กระจก  หวี  น้ำมัน  อาหารคาวหวานอย่างละหนึ่งสำรับ  หม้อน้ำมนต์  มะพร้าวอ่อน  เหล้า  เครื่องเซ่น  เทริด  เทียนหน้าศาล  ๙  เล่ม  เทียนหน้าชื่อโรงครู  ๙  เล่ม  หัวพราน  วางไว้บนหมอน  หมาก  ๙  คำวางไว้หน้าหัวพราน  กลางโรงเหนือศรีษะคาดผ้าเพดาน  ใบเตยสามท่อนไว้บนหลังคา
                ผู้กระทำพิธีจะต้องนั่งเชิญครู  ครูจะมาเข้าทรางหรือไม่ก็ได้  การทำพิธีใช้เวลาสามวันบ้าง  ห้าวันบ้าง  เจ็ดวันบ้าง  ขณะที่เชิญครูดนตรีประโคมทั้งกลางวันกลางคืน  หลังจากนั้นลูกศิษย์จะรำถวายครู
                การไหว้ครูหรือเชิญครูจะต้องบูชาพระรัตนตรัย  เทวดา  เสดถัน (๔)     เสร็จแล้วจึงกาดโรง  (๕)       กาดครู (๖)       และออกตัว (๗)
________________________________
(๓)  สุนันทา  โสรัจจ์  โขน  ละคร  ฟ้อนรำ  หน้า  ๑๘๐-๑๘๑.
(๔)  เสดถัน  :  เทวดาผู้คุ้มครองแผ่นดิน  คือ  บริถิว  กรุงพาลี
(๕)  กาดโรง :  ประกาศโรง
(๖)  กาดครู   :  ประกาศครู  
(๗)  ออกตัว  :  การออกมานอกฉาก

เอกสารอ้างอิง
ชวน  เพชรแก้ว. 2523. ชีวิตไทยปักษ์ใต้ ชุดที่ 3. กรุงเทพฯ : บางกอกสาส์น.
ทะเลสาบสงขลา : มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรม. 2543. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2548. ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ : ว่าด้วย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน ครบเครื่องเรื่องเมืองใต้. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
วิเชียร  ณ นคร. 2523. นครศรีธรรมราชของเรา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บางกอกสาส์น. 
โนรา http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_Nakhonsri/  ( เข้าถึง 5 กรกฎาคม 2552 )
โนรา http://kanchanapisek.or.th/kp8/nora/dance.html (เข้าถึง 8 กรกฎาคม 2552)
มโนราห์ : ประวัติมโนราห์ http://www.moradokthai.com ( เข้าถึง 8 กรกฎาคม 2552 )

ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด. 2529. การละเล่นพื้นบ้านศูนย์สังคีตศิลป์ ( พ.ศ. 2522-2524 ). กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว.


Previous