ตำนาน “ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์” ปรากฏเป็นครั้งแรกในยุคต้นของสมัยจั้นกว๋อ( ยุคสงคราม 475 – 221 ก่อนคริสต์ศักราช )

  เป็นเรื่องราวของฉังเอ๋อที่กินยาอายุวัฒนะของเจ้าแม่ซีหวังหมู่ แล้วกลายเป็นเทพธิดาอมตะแห่งดวงจันทร์ ตำนานเกี่ยวกับฉังเอ๋อผู้นี้ได้ถูกแต่งเติมรายละเอียดออกไปอีกในราชวงศ์ต่อมา ตำนานเรื่อง “เทพธิดาแห่งดวงจันทร์” มีว่า เมื่อครั้งโบราณกาล โลกเรามีดวงอาทิตย์อยู่ถึงสิบดวง นำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกมนุษย์ ทุกหย่อมหญ้าร้อนระอุเป็นแผ่นดินเพลิง ส่วนที่เป็นน้ำก็เหือดแห้ง ส่วนที่เป็นภูเขาก็ถล่มแผ่นดินแยก ต้นไม้ใบหญ้าแห้งกรอบ

ผู้คนไม่มีที่หลบซ่อนอาศัย ในครั้งนั้น ได้ปรากฏวีรบุรุษนามว่า “โฮ่วอี้” เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างอัศจรรย์ เขายิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียวก็ยิงถูกดวงอาทิตย์ถึงเก้าดวง ทำให้เหลืออยู่เพียงดวงเดียว ถือเป็นการขจัดทุกข์เข็ญให้กับบรรดาประชาราษฎร์ ผู้คนจึงพากันยกย่องให้เขาเป็นกษัตริย์
       ทว่า พอเขาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์
ก็ลุ่มหลงในสุราและนารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ กลายเป็นทรราช ราษฎรล้วนแต่โกรธแค้นและชิงชังเขาเป็นที่สุด โฮ่วอี้รู้ตัวว่าคงจะอยู่เป็นสุขเช่นนี้ไปได้อีกไม่นาน จึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน ( คุนลุ้น ) เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน แต่ฉังเอ๋อ ภรรยาของเขากลัวว่า ถ้าสามีของเธอมีอายุยืนนานโดยไม่มีวันตายเช่นนี้ อาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรเป็นแน่ คิดดังนี้แล้วเธอจึงตัดสินใจแอบนำยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง แต่พอกินเข้าไป ร่างของเธอก็เบาหวิว แล้วก็ลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดา ที่เชื่อกันว่าเป็นฉังเอ๋อนี้เอง

 
จากหนังสือบันทึกโบราณ โจวหลี่ ระบุว่า พิธีเซ่นไหว้พระจันทร์ทั่วทั้งประเทศนั้น เริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งที่มาของพิธีในเทศกาลนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับตำนานความฝันของกษัตริย์ถังหมิงหวง เสด็จประพาสพระราชวังบนดวงจันทร์ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ในกลางดึกของคืนเดือนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 กษัตริย์ถังหมิงหวงบรรทมหลับไปแล้วทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในฝันนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและทรงโปรดให้ฝันนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาในฝัน
       ตั้งแต่นั้นมาทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 พระองค์ก็รับสั่งให้จัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์
และทอดพระเนตรความงามของพระจันทร์ไปพร้อมกับการร่ายรำของนางสนม
       ประเพณีปฏิบัติเช่นนี้
ภายหลังได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลไหว้ขนมจ้าง ( ขนมบ๊ะจ่าง )
(ผู้จัดการออนไลน์. 2550)
 
 
PREVIOUS