ชุดหนังใหญ่วัดขนอน
                หนังใหญ่วัดขนอนทั้งหมดแต่ละชุดมีความยาวต่างกัน  ตอนที่ยาวมาก  คือ  หนุมานถวายแหวน  ซึ่งเริ่มเรื่องตั้งแต่พระรามใช้ให้หนุมาน  องคต  ชมพูพานไปสืบมารดา  เพื่อทราบหนทางไปเมืองลงกาและฝากแหวนกับสไบไปให้นางสีดา  จากนั้นก็ดำเนินเรื่องเป็นตอนย่อย ๆ  ติดต่อกันไป  คือ  ตอนพบยักษ์ปักหลั่น  หนุมานเข้าปราสาทนางบุษมาลี  พญานกสัมพาที  นางผีเสื้อสมุทร  อากาศตะไล  ลองดีพระนารถฤาษี  เข้าสวนถวายแหวน  จนถึงศึกสหัสสกุมาร  และเผาลงกา  เป็นตอนสุดท้ายของเนื้อเรื่องชุดนี้
                บางชุดเป็นตอนสั้น ๆ  และไม่สัมพันธ์กับชุดอื่น  เช่นศึกบรรลัยกัลป์  เพราะข้ามไปจับเนื้อเรื่องหลังจากทศกัณฐ์ตายไปนานแล้ว  ชุดอื่น ๆ  แต่ละชุดมักมีเรื่องต่อเนื่องกัน  เช่นตอนศึกทศกัณฐ์ครั้งที่  ๕  ชุดหนุมานอาสา  และชุดทศกัณฐ์สั่งเมือง  ส่วนชุดศึกมังกรกัณฐ์  ศึกวิรุญมุข  และนาดบาศ  จะมีเนื้อเรื่องที่เกี่ยวพันกันโดยตลอด  และต่อด้วยตอนศึกพรหมาสตร์  เป็นอันจบเรื่องที่เกี่ยวด้วยอินทรชิต
                หนังบางตอนไม่เคยนำออกแสดง  เช่น  ตอนศึกวิรุณมุข  ซึ่งแทรกอยู่กับตอนนาดบาศ  อาจเป็นเพราะจำบทกันไม่ได้  มีแต่บทเก่าของนายละออ  ซึ่งใช้ตัวอักษรแบบเก่าอ่านยาก  ผู้เล่นรุ่นใหม่จึงอ่านไม่ใคร่จะได้  ใช้แต่วิธีท่องจำก็อาจลืมได้ง่าย  บางตอนไม่กล้าเล่นกันเพราะคิดว่าครูแรง  คือ  ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง  ถ้าจะเล่นก็ต้องเชิญนายลออครูหนังเป็นผู้มาเลือกตัวหนังและเป็นผู้พากย์  หลังจากนายลออเสียชีวิตแล้ว  ไม่มีผู้ใดกล้านำหนังตอนนี้มาแสดงอีก
                ชุดที่นิยมเล่นกับมาก  คือชุดหนุมานถวายแหวน  ถ้าไปเล่นในงานศพ  มักจะเล่นตอนหนุมานเผาลงกา  ซึ่งต่อเนื่องกับตอนหนุมานถวายแหวน
                ชุดเบิกโรงคือชุดจับลิงหัวค่ำ  ซึ่งมีตัวหนังชุดนี้อยู่ประมาณสิบกว่าตัว  มีทั้งหนังจับใหญ่และหนังจับเล็ก
                ตัวหนังใหญ่วัดขนอนมีครบทุกประเภท  ตั้งแต่หนังครูไปจนถึงหนังเบ็ดเตล็ด  ตลอดจนหนังเดี่ยวขนาดเล็กและกลาง  เป็นรูปตัวตลก  ยักษ์และลิง  ซึ่งจะเข้ามาเสริมบทในแต่ละชุด  เพื่อออกแนวตลกบางตอน
                ลักษณะของตัวหนังมีความงดงามมากทั้งลวดลายที่วิจิตร  และสีซึ่งระบายสีแดง  เหลือง  น้ำเงิน  ดำ  และเขียว  ลายไทยสี่สลักมีความอ่อนช้อย  จังหวะช่องไฟ  การจัดองค์ประกอบภาพดูสวยงามกลมกลืน  เมื่อต้องแสงไฟ  จะยิ่งสวยอย่างประหลาด
บทพากย์และเจรจาประกอบการเล่นหนังใหญ่วัดขนอน
                บทเก่าซึ่งใช้กันมาแต่เดิม  ซึ่งเป็นของนายลออ  ทองมีสิทธิ์  แต่งโดยหมื่นพินิจอักษร  (เพิ่ม  ทองมีสิทธิ์)  คัดลอกโดยเหมื่นนรากร  (เลื่อง  ทองมีสิทธิ์)  ส่วนใหญ่จะเล่นตามบทเก่านี้บ้าง  ใช้บทละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๒  บ้าง  บทเก่าที่เหลืออยู่ไม่ครบทุกชุด  บางชุดไม่สมบูรณ์ชุดไหนไม่ใคร่ได้เล่น  บทพากย์ที่ได้จำตกทอดกันมาก็เลือนรางไป
                บทบางชุดมีเนื้อเรื่องแตกต่างไปจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๑  บ้าง  เช่น  ตอนศึกอินทรชิตครั้งที่  ๑  อินทรชิตต้องศรพระลักษมณ์  ร.๑  เป็นศรพลายวาต  แต่บทวัดขนอนเป็นศรอนันตจักรวาลและเมื่อโดนศรแล้วอินทรชิตหนีกลับลงกา  บทของ  ร.๑  มีว่าอินทรชิตร่ายเวทและลูบที่แผลจนศรหลุด  แต่บทวัดขนอน  อินทรชิตไปหานางมณโฑ ๆ  ให้กินนมจากเต้า  ศรจึงหลุดออกได้  เพื่อเน้นถึงพระคุณมารดา
                บทพากย์เจรจาทุกตอน  สรุปได้ว่ามีเนื้อความที่ดำเนินตามพระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๑  เกือบทั้งหมดในยุทธกัณฑ์  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๖  เฉพาะตอนท้ายชุดนาดบาศ  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๒  ตอนพากย์เอราวัณ  และบางตอนได้เสริมแต่งเองตามสังคมท้องถิ่น
                สำหรับบทพากย์ที่หายไป  ได้แก่ตอนศึกวิรุญมุขจนถึงพระลักษมณ์ต้องศรนาดบาศ  ชุดหนุมานถวายแหวนทั้งหมด  เหลือเฉพาะตอนหนุมานเข้าปราสาทนางบุษมาลี  ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดนี้ชุดพรหมาสตร์ตอนท้ายบทขาดหายไป  ชุดทศกัณฐ์สั่งเมืองไม่มีบทตอนจบ

 ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

การถือโชคลาง
                ผู้แสดงหนังใหญ่ทุกคนถือการไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้  ถ้าการไหว้ครูไม่ได้ทำครบพิธีเขาจะไม่ยอมเล่น  การแสดงตอนตาย  หรือที่เรียกตามภาษาหนังว่า  “ล้ม”  นั้น  ไม่เคยมีมาก่อน  เช่น  ตอนทศกัณฐ์ล้มในชุดทศกัณฐ์สั่งเมือง  ผู้เล่นถือกันว่าจะมีอันเป็นไป  ถ้าทำผิดประเพณีการเล่นหนังดังกล่าวจึงไม่มีใครกล้าลองดี  แม้แต่ตอนตัวละครสลบ  ก็ต้องให้ฟื้นก่อน  เช่น  ตอนพระลักษมณ์ถูกศรนาดบาศ  จะหยุดเล่นตอนนั้นไม่ได้  ต้องเล่นให้ถึงตอนฟื้นก่อนจึงจะหยุดได้  หนังตอนสำคัญ  เช่น  ตอนทศกัณฐ์สั่งเมืองคนเล่นหนังในปัจจุบันยังไม่กล้าเล่น  เพราะ  “ครูแรง”  ต้องเชิญให้ครูหนังเป็นผู้เล่นและพากย์  ชาวคณะหนังใหญ่วัดขนอนเชื่อว่าครูหนังสิ้นชีวิตไปแล้วยังอยู่คุ้มครองรักษา  ถ้าเคารพกราบไหว้จะเกิดสวัสดิ  ถ้าผู้ใดทำผิดก็จะมีอันเป็นไป  เพราะเคยมีผู้ขโมยหนังใหญ่หนีไปไม่สำเร็จ  ต้องจมน้ำตายในแม่น้ำแม่กลองหน้าวัด

การแสดงหนังใหญ่วัดขนอนในปัจจุบัน
                ๑.  การตั้งเสาปักจอ
                                ตั้งเสาปักจอบนพื้นดิน  ที่กว้างขวางพอ  จอเป็นแบบหนังใหญ่โบราณ  ไม่มีลวดลายเป็นฉากประกอบ  พื้นผ้าขาว  ขอบแดง  ด้านหลังจอปูเสื่อเพื่อเป็นที่เรียงตัวหนัง  และสำหรับผู้เชิดแต่งตัวรอการแสดง
                ๒.  การให้แสง
                                ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าแบบสปอร์ตไลท์ส่องข้างหลังแทนไฟไต้และไฟกะลา  ซึ่งสะดวกกว่าการเผากะลาต้องเตรียมงานมาก  ผู้คุมการป้อนเชื้อเพลิงต้องชำนาญในการคุมแสงให้พอดี  ต้องใช้กะลามากซึ่งหาได้ยาก  อีกอย่างหนึ่ง  ไฟกะลาทำให้จอดำได้ง่าย  จึงใช้ไฟสปอร์ตไลท์  ๕ – ๗  ดวงแทน  ซึ่งได้แสงไฟสว่างพอดี  แต่แสงแข็งไม่เรืองและพลิ้วอันจะทำให้หนังสวยงามมีชีวิตชีวา  เหมืองไฟกะลา
                 ๓.  การเตรียมตัวหนัง
                                ผู้เตรียมตัวหนัง  เรียกว่า  คนออกหนัง  หรือคนจัดหนัง  จะเตรียมเรียงลำดับหนังวางไว้ให้เรียบร้อยบนเสื่อหลังจอ  คอยส่งตัวหนังให้คนเชิดได้ถูกต้องตามบทพากย์  หนังใหญ่วัดขนอนนายบุญมี  เทียมจินดาเป็นคนออกหนัง

 

เอกสารอ้างอิง
กนกวรรณ สุวรรณวัฒนา. หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, 2527
ผะอบ โปษะกฤษณะ. วรรณกรรมประกอบการเล่นหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานเลขาธิการ
คณะรัฐมนตรี, 2520.
สอนสุพรรณ. 2552. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน     www.oknation.net/blog/phaen/2009/07/16/entry-1 (เข้าถึง 10 มกราคม 2553)
เสถียร ชังเกตุ. หนังใหญ่ : ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2538.

               

 

 
<<< PREVIOUS >>>