|
โนราโรงครู
โนราเป็นการละเล่นที่เก่าแก่ของภาคใต้ นอกจากแสดงเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “โนราโรงครู” หรือ “โนราลงครู” อีกด้วย พิธีกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายในการจัดคือ เพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู เพื่อทำพิธีแก้บนหรือ “แก้เหมฺรย” เพื่อทำพิธียอมรับการเป็นศิลปินโนราคนใหม่ที่สมบูรณ์ที่เรียกว่าพิธี “ครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” หรือ “แต่งพอก” เพื่อประกอบพิธีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น เหยียบเสน ตัดจุก ตัดผมผีช่อ ผูกผ้าปล่อย ในบาทพื้นที่ยังมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ เช่น โนราโรงครูที่วัดท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง จัดเพื่อให้ครูหมอตายายโนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุนกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา เป็นที่สถิตพำนักของครูโนรา พิธีโนราโรงครูที่วัดท่าคุระ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลาจัดขึ้นในงาน “ตายายย่าน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้บนและแสดงกตัญญูกตเวทีต่อ “เจ้าแม่อยู่หัว” (นางเลือดขาว) ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีประวัติเกี่ยวข้องกับโนรา และมีการสร้างรูปเคารพประดิษฐ์ไว้ที่วัดท่าคุระ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
2537,156) |
|
“เจ้าแม่อยู่หัว” เป็นพระพุทธรูปทองคำปางสมาธิของวัดท่าคุระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,40 |
|
มโนราห์กฤตชัย สินธุ์สาย ทำพิธีไหว้ครูโนรา (โนราโรงครู ไหว้ตายายโนรา) |
“เจ้าแม่อยู่หัว” เป็นพระพุทธรูปทองคำปางสมาธิของวัดท่าคุระ ซึ่งประดิษฐานที่วัดนี้กว่า 300 ปีมาแล้ว
พระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏอยู่ในตำนานนางเลือดขาวว่า นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารเสด็จท่องเที่ยวเมืองพาราณสีทางเรือ แล้วมาขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทอง (ท่าคุระ) สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งคือ วัดท่าคุระ และพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวประจำวัด 1 องค์ ตามตำนานว่า หล่อขึ้นที่วัดท่าคุระ ตรงกับวันพุธแรกของเดือน 6 ข้างแรม
นอกจากเป็นการแสดงความกตัญญูแล้ว วันนั้นเป็นวันทำพิธีแก้บนของชาวบ้านด้วย เมื่อถึงวันพุธแรกของเดือน 6 ข้างแรม ชาวบ้านท่าคุระ รวมทั้งที่ย้ายภูมิลำเนาไปยังถิ่นอื่นจะกลับมาชุมนุมพร้อมกัน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ (เป็นวันชุมชาติ หรือ “ชุมญาติ” ตามคำท้องถิ่น) พร้อมทั้งแสดงกตเวทิตาต่อ “เจ้าแม่อยู่หัว” ด้วย โดยชาวบ้านท่าคุระเชื่อกันว่า เจ้าแม่อยู่หัว สามารถดลบันดาลให้เกิดคุณและโทษกับคนในหมู่บ้านได้
วันงาน ตอนบ่ายชาวบ้านท่าคุระทุกคนจะมาร่วมพิธีในวัด มีการอัญเชิญพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวออกมาให้ชาวบ้านสรงน้ำ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดสมโภช มีการแก้บนต่างๆ ตามที่ได้บนบานไว้
การแก้บนที่นิยมทำกันก็คือ บวชพระ บวชสามเณร หรือบวชชีถวาย นอกจากนี้ยังมีการถวายข้าวตอก ดอกไม้ ปัจจัยไทยทาน หรือรำโนราถวายมือ
การแสดง “โนรา” เกี่ยวข้องกับความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการแสดงที่เจ้าแม่อยู่หัวโปรดปรานเป็นพิเศษ ในงานประเพณีตายายย่านทุกปีจะต้องมีการรำโนราโรงครู ต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน เริ่มวันพุธ ไปสิ้นสุดวันศุกร์ แต่งานประเพณีตายายย่าน จะเสร็จสิ้นตอนบ่ายวันพฤหัสบดี
การแสดโนรา ของประเพณีตายายย่านนี้ มีการำแก้บนของชาวบ้านในโรงรำด้วย เพียงแต่รำเป็นพิธีเช่น บนว่ารำเป็นตัวใดก็ให้รำตัวนั้น คนละท่าสองท่า โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ลูกชายหัวปีของครอบครัวและมีอายุเกิน 14-15 ปี ต้องทำขนมโคมาถวายวัดและเลี้ยงญาติมิตร แต่ถ้าเป็นลูกสาวคนหัวปีต้องทำขนมพอง หรือขนมลา หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าแม่อยู่หัวจะให้โทษถึงเป็นบ้า ง่อยเปลี้ยพิกลพิการ หรือประสบทุกขเวทนาได้
(ใต้...หรอย มีลุย. 2547,40-41) |
|
|
|