|
|
โนราโรงครูวัดท่าแค ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,40 |
ความเป็นมา
โนราโรงครูคงมีมาพร้อมกับการกำเนิดโนรา ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าเกิดครั้งยุคศรีวิชัย ในตำนานโนราในเขตพัทลุงกล่าวถึงการรำโนราโรงครูว่า เมื่อนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศไปติดอยู่เกาะกะชัง (เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา) นางได้อาศัยอยู่กับตาพราหมณ์ ยายจันทร์ ครั้นพระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นพระบิดาให้รับนางคืนกลับเมือง นางได้รำโนราถวายเทวดาและตายายทั้งสอง เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อตายายที่ได้ช่วยเหลือ การรำโนราถวายเทวดาและบูชาตายายของนางนวลทองสำลีครั้งนั้นถือว่าเป็นการรำโนราโรงครูครั้งแรก แต่ทาง จ.สงขลา โนราวัด จันทร์เรือง ต.พังยาง อ.ระโนด เล่าว่า การรำโนราโรงครูครั้งแรกเป็นการรำของอจิตกุมาร ซึ่งเป็นบุตรนางนวลทองสำลี ตอนเข้าเฝ้าพระยาสายฟ้าฟาด ในพิธีได้พระพี่เลี้ยงที่ขจัดพลัดพรายกันตอนถูกนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศลอยแพ เมื่อพระพี่เลี้ยงกลับมาแล้วก็รำถวาย โดยตั้งพิธีโรงครู มีเครื่องสิบสองและของกินต่าง ๆ จัดพิธี 3 วัน 3 คืน ครั้งนี้พระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเครื่องต้นให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา เปลี่ยนชื่อนางนวลทองสำลีเป็นศรีมาลา และเปลี่ยนชื่ออจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2537,156-157) |
|
|
เมื่อถึงคราวที่ศิลปินโนราจะต้องบูชาครูหมอ โดยการทำพิธี “ลงครู” หรือ “รำโนราโรงครู” พิธีกรรมนี้จะต้องเชิญครูหมอมารับเครื่องเซ่นไหว้ในโรงพิธี (ที่เรียกกันว่าโรงครู) โดยการตั้งเครื่องบูชา และจัดคนทรงให้ถูกถ้วนตามธรรมเนียมนิยม ครูหมอบางท่านก็เข้าทรงในร่างคนทรงโดยง่าย แถมบางท่านก็มาเข้าทรงก่อนกำหนดทำเอาเจ้าภาพวิ่งกันโกลาหล แต่คูรหมอบางท่านกลับตรงกันข้าม เพราะแม้จะได้ทำพิธีเชิญนานสักเท่าไดก็ไม่ยอมรับคำเชิญ จนเจ้าภาพอ่อนใจ คนทรงอ่อนแรงแทบจะเทสำรับเครื่องเซ่นพลีทิ้งเสียแล้ว ครูหมอจึงยอมมาลง
ครูหมอโนราห์จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ดูจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ คนอยู่นอกวงการค่อนข้างจะไม่ค่อยเชื่อ เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล หรือแสร้งทำกันเสียมากกว่า แต่สำหรับคนในวงการโนรา หรือเชื้อสายโนราแล้วจะมีความเชื่อถือกันมาก ชาวปักษ์ใต้ที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอของศิลปินโนรายังฝังแน่นในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่เรามักจะเห็นชาวปักษ์ใต้รุ่นเก่า หรือชาวชนบทปักษ์ใต้เล่น หรือรับโนรามาเล่นแก้บนอยู่บ่อย ๆ
(ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2523, 184 – 185) |
|
โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ โนราโรงครูใหญ่ และโนราโรงครูเล็ก โนราโรงครูใหญ่เป็นพิธีที่จัดเต็มรูปปรกติจัด 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องจัดตามวาระ เช่นทุกปี ทุกสามปี ทุกห้าปี แล้วแต่จะกำหนด การำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการนาน ใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง ตั้งแต่การปลูกสร้างโรง การติดต่อคณะโนรา การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และการเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เป็นต้น ส่วนโนราโรงครูเล็ก หมายถึงการำโรงครูอย่างย่นย่อ ใช้เวลารำเพียง 1 คืน กับ 1 วันเท่านั้น ปกติจะเข้าโรงครูในตอนเย็นของวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี การรำโนราโรงครูเล็กมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับการรำโนราโรงครูใหญ่ แต่ไม่อาจทำพิธีให้ใหญ่โตเท่ากับการรำโนราโรงครูใหญ่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องเวลา ความไม่พร้อมในด้านอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อถึงวาระที่ต้องทำการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราตามที่ได้ตกลงไว้ เช่นถึงวาระสามปี ห้าปี จึงได้ทำพิธีอย่างย่นย่อเสียก่อนสักครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้ผิดสัญญาต่อครูหมดโนรา การทำพิธีอย่างย่นย่อเช่นนี้เรียกว่า “การรำโรงครูเล็ก” หรือ “การค้ำครู” หรือ “โรงแก้บนค้ำครู” แต่พิธีกรรมบางอย่างที่ถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่จะจัดในพิธีโรงครูใหญ่เท่านั้น
ในการจัดพิธีทั้งโรงครูใหญ่และโรงครูเล็กมีองค์ประกอบในการรำที่สำคัญเช่นเดียวกัน ที่พิเศษออกไปได้แก่โนราใหญ่ หรือนายโรงโนราซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีต้องผ่านพิธีครอบเทริดมาแล้ว และรอบรู้ในพิธีกรรมอย่างดีระยะเวลาที่จัดพิธี นิยมทำกันในฤดูแล้ง ในแถบจังหวัดตรังมักทำในราวเดือนยี่ถึงเดือนสาม แถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา มักทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า โดยไม่จำกัดวันขึ้นวันแรม และจะเริ่มพิธีหรือเข้าโรงครูวันแรกในวันพุธ ไปสิ้นสุดพิธีในวันศุกร์ แต่ถ้าวันศุกร์เป็นวันพระ โนราบางคณะจะส่งครูวันเสาร์เป็นวันสุดท้าย โรงพิธี สร้างแบบดั้งเดิม ขนาด 9 x 11 ศอก มี 6 เสา ไม่ยกพื้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน เสาตอนหน้าและตอนหลังมีตอนละ 3 เสา ส่วนตอนกลางมี 2 เสา ไม่มีเสากลาง หน้าโรงหันไปทางทิศเหนือหรือใต้ เรียกว่า “ลอยหวัน” (ลอยตามตะวัน) ไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เพราะเป็นการ “ขวางหวัน” (ขวางตะวัน) ตามความเชื่อของโนราว่าเป็นอัปมงคล หลังคาทำเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ตรงกลางจั่วครอบด้วยกระแชง ถ้าไม่มีกระแชงก็ใช้ใบเตยแทน การที่ต้องครอบกระแชงบนหลังคาจั่วนัยว่าเพื่อระลึกถึงนางนวลทองสำลีตอนถูกลอยแพไปในทะเลก็ได้อาศัยกระแชงเป็นเครื่องมุงแพ ชาวบ้านบางแห่งยังเชื่อว่าโรงพิธีจะมีผีนางโอกะแชงรักษาเสาโรงทั้ง 6 ต้น และรักษากระแชงมุงหลังคาโรงทั้งด้านซ้ายขวาเรียกว่า “นางโอกะแชงสองตอน” ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา ด้านขวาหรือด้านซ้ายของโรงทำเป็นศาลสูงระดับสายตาสำหรับเป็นที่วางเครื่องบูชา เรียกว่า “ศาล” หรือ “พาไล” พื้นโรงปูด้วย “สาดคล้ำ” (เสื่อสานด้วยคล้า) แล้วปูทับด้วยเสื่อกระจูด วางหมอนปูผ้าขาวทับ เรียกว่า “สาดหมอน” บนหมอนวางไม้แตระและไม้กระดาน หรือเทียนติดเชิง เรียกว่า “เทียนครู” หรือ “เทียนกาศครู” โรงพิธีอาจจะตกแต่งด้วยผ้า กระดาษสี ธงชายและสิ่งของอื่น ๆ อีกก็ได้ |
|
|
|