ระยะเวลา
ระยะเวลาที่จัดพิธี นิยมทำกันในฤดูแล้ง ในแถบจังหวัดตรังมักทำในราวเดือนยี่ถึงเดือนสาม แถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา มักทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า โดยไม่จำกัดวันขึ้นวันแรม และจะเริ่มพิธีหรือเข้าโรงครูวันแรกในวันพุธ ไปสิ้นสุดพิธีในวันศุกร์ แต่ถ้าวันศุกร์เป็นวันพระ โนราบางคณะจะส่งครูวันเสาร์เป็นวันสุดท้าย
ในงานประเพณีตายายย่าน เป็นงานประจำปีของชาววัดคุระ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ทุกปีจะต้องมีการรำโนราโรงครู ต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน เริ่มวันพุธ ไปสิ้นสุดวันศุกร์ แต่งานประเพณีตายายย่าน จะเสร็จสิ้นตอนบ่ายวันพฤหัสบดี
อุปกรณ์ในการประกอบพิธีที่สำคัญได้แก่ผ้าเพดานบนศาลหรือพาไล ผ้าเพดานใหญ่ในโรงพิธี ที่วางเทริดเสื่อหมอน เครื่องเชี่ยนพิธี หม้อน้ำมนตร์ ไม้หวาย มีดหมอ บายศรีเล็กหรือบายศรีปากชาม บายศรีใหญ่หรือบายศรีท้องโรง ดอกไม้ ธูปเทียน หอกแทงจระเข้ หยวกกล้วยทำรูปจระเข้ ใบชิงหรือกระแชง ขันลงหิน หน้าพรานชายหญิง เทริด ย่าม ธนู เชือกคล้องหงส์ เครื่องแต่งตัวโนรา หญ้าคา หญ้าครุน ใบเฉียงพร้า ใบหมากผู้ เงินเหรียญ รวงข้าว มีดโกน หินลับมีด พระขรรค์ หนังสือ หนังหมี สำหรับที่วางหม้อน้ำมนตร์อาจจะทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าทรงสูงเรียกว่า “ตรอม”
|