พิธีกรรมในวันที่สาม
พิธีกรรมในวันที่สาม  คือวันศุกร์อันเป็นวันสุดท้ายของพิธี  เริ่มพิธีด้วยการลงโรง  กาศครู  เชิญครู  และรำสนุกทั่ว ๆไป 
และรำถวายครูพร้อม ๆ กัน  จากนั้นคณะโนราจะรำสิบสองท่า  สิบสองเพลง  และสิบสองบท  ครบถ้วน รำสิบสองท่า 
เช่น ท่าเทพพนม  ท่าเขาควาย  ท่าบัวตูม  ท่าบัวบาน  ท่าบัวแย้ม  ท่าขี้หนอน ฯลฯ  สิบสองเพลง  เช่น  บทสอนรำ 
บทประถม  บทครูสอน  บทนกจอก  บทแสงทอง ฯลฯ  สิบสองบท  เช่น  บทพระสุธน  บทไชยเชษฐ์  บทลักษราวงศ์ ฯลฯ
                หลังจากนั้นโนราจะรำประกอบพิธีกรรมและรำทำบทต่าง ๆ ดังนี้
                1. การเหยียบเสน  เสน  เป็นเนื้อที่งอกขึ้นจากระดับผิวหนังเป็นแผ่น  ถ้ามีสีแดงเรียกว่า  “เสนทอง” 
หรือเสนแดง  ถ้ามีสีดำเรียก  “เสนดำ”  เสนไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตราย  แต่ดูน่าเกลียด  ถ้าเป็นกับเด็กเสนจะโต
ขึ้นตามอายุ  ชาวภาคใต้เชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของ  “ผีโอกะแชง”  หรือ  “ผีเจ้าเสน”  หรือเกิดจากครูหมอโนรา
ทำเครื่องหมายไว้  เสนรักษาให้หายได้โดยการเหยียบของโนราในพิธีกรรมโนราโรงครู  พิธีนี้ผู้ที่เป็นเสนหรือผู้ปกครองต้องตัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีมามอบให้โนราใหญ่  ได้แก่ขันน้ำ  หรือถาดใส่น้ำ 
หมากพลู  ธูปเทียน  ดอกไม้  มีดโกน  หินลับมีด  เงินเหรียญ  เครื่องทอง  เครื่องเงิน  หญ้าคา  หญ้าเข็ดมอน  รวงข้าว
และเงินตามกำหนดเช่น  12  บาท  จากนั้นโนราใหญ่จะเอาน้ำใส่ขันหรือถาดพร้อมด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ  ทำพิธีจุดธูปเทียน
  ชุมนุมเทวดาชุมนุมครูหมอโนรา  ลงอักขระขอมที่หัวแม่เท้าของโนราใหญ่  แล้วรำท่าแบบเฆี่ยนพราย  หรือ 
“ท่าย่างสามขุม”  มีโนราหรือครูหมอโนราในร่างทรงรำประกอบโดยถือกริช  พระขรรค์  โนราใหญ่เอาหัวแม่เท้า
ไปแตะตรงที่เป็นเสน  แล้วเอาหัวแม่เท้าไปเหยียบเบา ๆ  ตรงที่เป็นเสน  โดยหันหลังให้ผู้ที่เป็นเสน  ว่าคาถากำกับ  ในขณะเดียวกันโนราหรือครูหมอโนราในร่างทรงก็จะเอากริช  พระขรรค์แตะเสนพร้อมกับบริกรรมคาถา  ทำเช่นนี้ 
3  ครั้ง  เสร็จแล้วเอามีดโกน  หินลับมีดและของอื่น ๆ  ในขันน้ำหรือถาดไปแตะที่ตัวผู้เป็นเสน  เป็นเสร็จพิธี 
จากพิธีกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเสนจะค่อย ๆ หายไป  ถ้าไม่หายก็ให้ทำซ้ำอีกจนครบ  3  ครั้ง  เสนจะหายไปในที่สุด

    
    PREVIOUS                                                                                       การเหยียบเสน

2. การตัดผมมีช่อ  ผมผีช่อคือผมที่จับตัวกันเป็นกระจุกโดยธรรมชาติเหมือนผูกมัดเอาไว้ตั้งแต่แรกคลอดชาวบ้าน
และโนราบางคนเชื่อว่า ผมผีช่อเกิดจากความต้องการของครูหมอโนรา  โดยเฉพาะครูหมอโนราฝ่ายอิสลามได้แก่ 
โต๊ะห้าดำ  ยินมู่หมี  และลูกสาวของโต๊ะห้าดำคือ  จันจุหรี  ศรีจุหรา  ที่ต้องการให้บุคคลบางคนมาเป็นโนราหรือ
คนทรงครูหมอโนรา  จึงผูกผมเป็นเครื่องหมายเอาไว้  เชื่อว่าถ้าใครตัดผมนี้ออกด้วยตัวเองจะเกิดโทษภัย  แต่แก้ได้โดยให้โนราใหญ่ตัดออกให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู  ผมที่ตัดออกแล้วให้เก็บไว้กับตัวผู้เป็นเจ้าของ 
เชื่อว่าจะเป็นของขลังสามารถป้องกันอันตรายได้  เวลาตัด  โนราใหญ่จะต้องทำพิธีขออนุญาตจากครูหมอโนรา  หรือตายายโนราเสียก่อนหากไม่อนุญาตแม้จะตัดผมออกแล้ว  ผมก็จะผูกันใหม่อีก  ในการทำพิธี  ผู้เข้าพิธีต้องเตรียม
พานดอกไม้ธูปเทียน  เงิน  12  บาท  มามอบให้โนราใหญ่  ทางคณะโนราจะเตรียมกรรไกร  มีดหมอหรือพระขรรค์เอาไว้  เริ่มพิธีโดยบริกรรมคาถาผู้เข้าพิธีปูผ้าขาวรองรับผมของตนเอง  โนราใหญ่ทำน้ำมนตร์รดหัวผู้เข้าพิธี  แล้วรำ  “ท่าสามย่าง”
  หรือ  “ท่าย่างสามขุน”  ตัดผมที่จับตัวกัน  3  ครั้ง ด้วยกรรไกร  พระขรรค์  หรือมีดหมอ  เก้บผมที่ตัดออกแล้ว  3  ครั้ง
  เรียกว่า  “สามหยิบ”  มอบให้ผู้เข้าพิธีหรือผู้ปกครองไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน  เชื่อว่าหลังจากตัดผมผีช่อออกแล้ว
  ผมที่งอกขึ้นใหม่จะไม่ผูกกันเป็นกระจุกอีกต่อไป
                3. การรำคล้องหงส์  ใช้รำเฉพาะในพิธีครอบเทริดหรือผูกผู้ใหญ่  และพิธีเข้าโรงครูเท่านั้น  ใช้ผู้รำ  9  คน
  โดยโนราใหญ่เป็น  “พญาหสงส์” อีก  6  คนเป็นหงส์  และผู้รำเป็นพราน  1 คน  สมมุติท้องโรงเป็นสระอโนดาตเหล่านางทั้งเจ็ดเล่นสนุกกันอยู่โดยโนราร้องบทพญาหงส์  บทร้องพญาหงส์เช่น
                                ทอยติหนิ้งช้าเจ้าพญาหสงส์เหอ                      ปีกเจ้าอ่อนร่อนลงในดงไผ่
                                แลหน้าแลตาเจ้าดีดี                                             เหตุไหรไปมีผัวเมืองไกล
                                ร่อนลงในดงป่าไฝ่                                              ทอยติหนิ้งติ้งช้าเจ้าพญาหงส์เหอ
          ตอนที่หงส์กำลังร้องกลอนบททำนองพญาหงส์  พรานจะออกมาด้อม ๆ  มอง ๆ  เพื่อเลือกคล้องพญาหงส์ 
พอจบบทกลอนพรานเข้าจู่โจมไล่คล้องหงส์  ดนตรีเชิด  หงส์วิ่งหนีเป็นรูป  “ยันต์เต่าเลื่อน”  (เป็นยันต์ที่เขียนหรือ
ลงอักขระบนรูปตัวเต่าหรือกระดองเต่า  เพื่อใช้ป้องกันตัวป้องกันเสนียดจัญไร  และให้เกิดโชคลาภ  เมตตากรุณา) 
นายพรานไล่คล้องได้พยาหงส์  พญาหงส์ใช้สติปัญญาจนสามารถหลุดจากบ่วง  เป็นจบการรำ  เชื่อกันว่าการรำคล้องหงส์ในโรงครูทั้งตัวพญาหงส์คือโนราใหญ่และผู้แสดงเป็นพรานมีครูโนราเข้าทรงด้วย
                4. การรำแทงเข้  (จระเข้)  รำหลังจากรำคล้องหงส์  ผู้รำมี  7  คน  โนราใหญ่รำเป็น  “นายไกร”  ที่เหลืออีก 
6  คนเป็นสหายของนายไกร  อุปกรณ์มีเข้  (จระเข้)  1  ตัว  ทำจากต้นกล้วยพังลา  (กล้วยตานี)  เบิกหูกเบิกตา 
เรียกเจตภูตใส่ไว้  และต้องทำพิธีสังเวยครูด้วยหมากพลู  ดอกธูปเทียน  และเหล้าขาว  แล้วนำไปวางข้างโรงโนรา
ด้านตะวันตกให้จระเข้หันหัวไปทางทิศหรดี  หากหันหัวไปทางทิศอีสานโนราจะไม่แทง  บนตัว  หัวและหางจระเข้ติดเทียนไว้ตลอดด้านหน้าโรงที่จะไปแทงเข้จะต้องเอาหยวกกล้วยพังลา  (กล้วยตานี)  3  ท่อน
ทำเป็นแพเพื่อให้โนราเหยียบก่อนออกไปแทงเข้  นอกจากนี้มีหอก  7  เล่ม  เรียกชื่อต่างกันเช่น  หอกพิชัย  คอกระบาย 
โบตะกง  ปากหนะ  เป็นต้น  การรำแทงเข้จะเริ่มด้วยโนราใหญ่จุดเทียนบายศรีและเทียนครู  แล้วร้องจับบทนายไกร
  (ไกรทอง)  ตอนนายไกรปราบชาละวันเวลาจะแทงเข้  ดนตรีทำเพลงเชิด  โนราว่าบทสัดดีใหญ่  ร่ายรำด้วยท่ารำที่แสดง
อำนาจองอาจสง่างาม  บริกรรมคาถาแทงเข้ว่า  “พุทธัง  ระงับจิต  ธัมมัง ระงับใจ  สังฆัง  สูไป  ตัวสูคือท่าน
  ตัวกูคือพระกาล  ธัมมัง  พุทธัง  อะระหัง  สูอย่าอื้อ  บรรดาศัตรู  เหยียบดิน  กินน้ำ  หายใจเข้าออก  ต้องแสงพระอาทิตย์ 
พระจันทร์  ทำร้ายแก่ข้าพเจ้า  ไม่ได้  มีญาเตร  จาเม  ปวิสติ”  ต่อจากนั้นโนราออกจากโรงใช้เท้าเหยียบแพหยวกแล้ว
กล่าวบริกรรมคาถาว่า  “นางณีเจ้าข้า  ตัวยังหรือไม่  สังขาตั้ง  โลกังชา  นาติ  ลิโล  กาวิทู  ข้าพเจ้าจะออกไป  อย่าให้มี
ภัยอันตราย  พุทธังระงับจิต  ธัมมังระงับใจ  สังฆังสูไป  ตัวสูคือท่าน  ตัวกูคือพระกาล  อัมมิพุทธัง  อะระหัง  สูอย่าอื้อ 
บรรดาศัตรู  เหยียบดินกินน้ำ  หายใจเข้าออก  ต้องแสงอาทิตย์พระจันทร์  ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้  มาอยู่แก่ข้าพเจ้าให้หมด” 
จากนั้น  ร่ายรำไปยังตัวจระเข้  แล้วโนราใหญ่กล่าวบริกรรมคาถากำกับว่า  “โอมธรณีสาร  กูคือผู้ผลาญ  อุบาทว์ให้
ได้แก่เจ้าไพร  จังไหรให้ได้แก่นางธรณี  สิทธีได้แก่ตัวกู”  แล้วจึงใช้หอกแทงเข้  เอาเท้าถีบให้เข้หงายท้อง 
โนราคนอื่น ๆ ก็ใช้หอกแทงเข้ต่อจากโนราใหญ่  แล้วว่าบทปลงอนิจจัง  กรวดน้ำให้ชาละวันจบแล้วว่าคาถาถอนเสนียด
จากเข้  เป็นอันจบกระบวนรำ
                จากนั้นโนราใหญ่จะร้องบท  “ชาครูหมอ”  หรือ  “ชาตายาย”  เป็นการบูชาครูหมอโนรา  ตอนนี้เจ้าภาพลูกหลานตายายโนราจะนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธา  เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอตายายโนรา
โนราร้องบทชาครูหมอ  และขอพรให้แก่ลูกหลาน  เช่น
                                                สุขีสุขี                                                     ร้อยปีอย่ามีความเจ็บไข้
                                ความชั่วอย่าเข้ามาใกล้                                       ความไข้ให้ไกลกายา
                                ลูกหลานยกย่างไปข้างไหน                              ตายายตามไปช่วยรักษา
                                ลูกหลานจะไปทำไร่                                           ให้ข้าวงามได้เทียมปลายป่า
                                เจ้าทองแส้แท้                                                       ตีแกะตีเคียวไม่เกี่ยวเอา
                                ข้าวงามได้เทียมภูเขา                                          ได้เมล็ดเจ็ดเกวียน
                                จบแล้วโนราใหญ่ร้องบท  “ส่งครู  คือส่วนครูหมอกลับดังตัวอย่าง
                                ตัดว่าร้องส่ง                                                          ทุกองค์พระเทวดา              
                                แรกเข้าเชิญมา                                                     ถึงเวลาร้องส่งให้พ่อไป
                                ไปหน้าให้มีลาภ                                                  ลูกอยู่หลังให้มีชัย
                                เชิญไปพ่อไป                                                       ส่งเทียมทางสองแพรก
                                แพรกหนึ่งไปไทย                                               แพรกหนึ่งไปแขก
                                ถึงทางสองแพรก                                                 แยกไปเถิดพระเทวดา
                ส่งครูหมอแล้วโนราทำพิธี  “ตัดหฺมฺรย”  (ตัดทานบน)  โดยตัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ตายายให้ขาดแยกกัน  เป็นเคล็ดว่า  “หฺมฺรย”  หรือพันธะสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ครูหมอได้ขาดกันแล้ว  สิ่งที่โนราใหญ่ตัดได้แก่บายศรีท้องโรง  เชือกมัดชื่อโรง 
จากบนศาลหรือพาไล  3  ตับ  เชือกผูกผ้าหรือเพดานศาลหรือพาไล  1  มุม  เชือกผูกผ้าดาดเพดานท้องโรง  1  มุม 
และห่อหฺมฺรย  เวลาตัดหฺมฺรยโนราใหญ่จะถือมีดหมอ  1  เล่ม  เทียน  1  เล่ม  หมากพลู  1  คำ  ไว้ในมือขวาแล้วรำท่าตัดหฺมฺรย  โดยตัดแต่ละอย่างตามที่กล่าวมาแล้วไปตามลำดับ  ขณะที่ตัดจะว่าคาถากำกับไปด้วย  เสร็จแล้วเก็บเครื่องบนศาลหรือพาไล
ไปวางไว้นอกโรง  ทำพิธีพลิกสาดพลิกหมอน  รำบนสาด  แล้วถอดเทริดออกเป็นอันเสร็จ  แต่หากเจ้าภาพบนครูหมอว่า
จะแก้บนด้วยหัวควาย  โนราใหญ่ก็จะทำพิธีแก้บนให้เรียกว่า  “รำถีบหัวควาย”
                การรำถีบหัวความนี้เชื่อกันว่าเพื่อบูชา  “ทวดเกาะ”  คำว่า  “เกาะ”  หมายถึง  สถานที่อันเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เช่น  ทวดงู  ทวดเสือ  เป็นต้น  แต่บางแห่งเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อบูชา  “ผีแชง”  ซึ่งเป็นผีจำนวนหนึ่งที่มีหน้าที่ประจำเสา
และเฝ้าโรงโนรา  ผู้แก้บนจะนำหัวควายที่ฆ่าแล้วมาต้มหรือย่างให้สุก  จัดถาดเพื่อวางหัวควาย  โดยมีผ้าขาวปูรองในถาด  แล้วนำไปตั้งไว้บนศาลหรือพาไลในวันพฤหัสบดี  วันศุกร์เอาหัวควายลงมาวางไว้ที่พื้นโรงผูกติดกับเสาโรงที่อยู่ใกล้ศาล
หรือพาไล  หลังจากโนราใหญ่ทำบทคล้องหงส์และแทงเข้แล้วก็ขึ้นไปเซ่นไหว้ครูหมอโนราบนศาลหรือพาไลพร้อมด้วย
ตัวแทนเจ้าภาพ  ส่วนคนอื่นจับด้วยสายสิญจน์ที่ต่อลงมาจากศาลหรือพาไล  เสร็จแล้วดึงสายสิญจน์ไปพันที่เขาควาย
และจุดเทียนบนหัวควาย  โนราใหญ่จับบท  “ทรพี”  จบบทแล้วบริกรรมคาถา  รำท่าย่างสามขุม  ใช้มีดหมอหรือดาบฟัน
ที่หัวควายเพื่อตัดด้ายสายสิญจน์  แล้วจึงใช้เท้าถีบหัวควายให้ออกไปนอกโรง  เป็นเสร็จพิธี  การรำถีบหัวควายอาจม
ีพิธีผิดแผกกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น  เช่น  บางแห่งใช้วิธีฟันด้วยมีดพร้าแทนการใช้เท้าถีบเป็นต้น
                ประเพณีการรำโนราโรงครู  มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน  ทั้งนี้เพราะโนราโรงครูเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่เป็นความเชื่อทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  อันหมายถึงความเชื่อในหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนาซึ่งผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร
์หรือผีสางเทวดา  อันรวมไปถึงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษการเข้าทรง  และพิธีกรรมทางความเชื่ออื่น ๆ  ความเชื่อและพิธีกรรมโนราโรงครูจึงมีบทบาทและหน้าที่ต่อปัจเจกบุคคล  และต่อสังคมส่วนรวม  ตามลักษณะของ
พุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  เพราะศาสนาจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ของปัจเจกบุคคล
และต่อสังคมส่วนรวม  ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมมนุษย์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ  ปากท้อง 
ความจัดแย้ง  การอบรมสั่งสอนสมาชิกใหม่  ความลี้ลับและอำนาจเหนือธรรมชาติ  ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ  การติดต่อ
สื่อสารกัน  การแสดงออก  และการพักผ่อนหย่อนใจ  เป็นต้น  จากความสำคัญในบทบาทและหน้าที่โนราโรงครู  จึงพบว่าประเพณีรำโนราโรงครูมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดการำโนรา
  ความเชื่อเรื่องการแก้บน  มีส่วนสำคัญให้จัดพิธีกรรมโนราโรงครู  และการสร้างโนราสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย 
การช่วยเหลือชาวบ้านในการรักษาอาการป่วยไข้  และสามารถบนบานศาลกล่าวขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนรา 
ล้วนอาศัยพิธีกรรมโนราโรงครูเป็นสำคัญ  ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับโนรา  การปฏิบัติตัวของโนรา  คนทรงครูหมอโนรา 
และลูกหลานตายายโนรา  ได้ส่งผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและสังคมสามารถที่จะสร้างเอกภาพ
และสัมพันธภาพในสังคม  เพราะมีความรู้สึกเป็นหมู่พวกเดียวกัน  มีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเดียวกัน  จึงเป็นที่มา
ของความเข้าอกเข้าใจ  ความรักสามัคคี  และความมั่นคงในสังคมให้เกิดขึ้น  นอกจากนี้ประเพณีการรำโนราโรงคร
ูและความเชื่อเกี่ยวกับโนรา  มีส่วนในการสร้างและส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นผู้รำโนรา  ลูกคู่โนรา 
คนทรงครูหมอโนรา  สามารถมีรายได้ส่วนหนึ่งมาเลี้ยงตนและครอบครัวได้  บางคนกลายเป็นศิลปินโนรามีชื่อเสียง  สามารถตั้งเป็นคณะออกรับงานการแสดงอยู่ในปัจจุบันนี้
                จะเห็นได้ว่า  ประเพณีการรำโนราโรงครูและพิธีกรรมบางอย่าง  เช่นพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ 
พิธีรำสอดเครื่องหรือสอดกำไล  เป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมด้านคารวธรรม  มีความเคารพนับถือครูบาอาจารย์ 
มีความกตัญญูรู้คุณ  มีเมตตาธรรมเป็นเครื่องชี้นำในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน  ช่วยคลี่คลายปัญหา
ทางด้านร่างกายและจิตใจ  ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมการแก้บน  พิธีผูกผ้าปล่อย  การเหยียบเสน  ตัดจุก  ตัดผมผีช่อ  เป็นต้น 
พิธีกรรมโนราโรงครู  จึงมีส่วนสำคัญในการสืบทอดและรักษามรดกวัฒนธรรมด้านศิลปะการละเล่นโนราเอาไว้จากอดีต
จนถึงปัจจุบัน  แม้ว่าปัจจุบันสังคมจะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม  แต่ความเชื่อเกี่ยวกับโนรา  ประเพณีการรำโนราโรงครู  ยังคงมั่นคงอยู่ในสังคมชาวภาคใต้ได้ตามสมควร  ทำอย่างไรที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนจะได้มีส่วนเข้าไปสนับสนุน
ส่งเสริม  หรือแม้แต่การศึกษา  ทำความเข้าใจ  ก็อาจทำให้มองเห็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน  และคุณค่าในมรดกวัฒนธรรม
ของชาติ  ของท้องถิ่น  ที่สามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  พัฒนาสังคม  และประเทศชาติไปในทิศทาง
ทีพึงประสงค์ไ ด้
ต่อไป

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน. 2537. ชีวิตไทย ชุด สมบัติตายาย. กรุงเทพฯ: คุรุสภา
ฉัตรชัย  ศุกระกาญจน์.  2523.  ชีวิตไทยปักษ์ใต้  ชุดที่ 4     กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์
ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้.  2547. 
กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 

PREVIOUS