เทพแห่งโชคลาภ ไหว้เจ้าวันสารทจีน

          ในช่วงหลายสิบปี เทพแห่งโชคลาภที่บันทึกไว้ในระบบความจำของตี๋หมวยใหญ่น้อยทั้งหลายคือ "ฮก-ลก-ซิ่ว" เทพยอดนิยมอมตะนิรันดร์กาล ที่ไม่ว่าจะเป็นจีนเชื้อสายใด เป็นคนรุ่นไหน ฮก-ลก-ซิ่ว คือเทพที่อยู่ในความศรัทธา
มายาวนาน ที่สามารถเข้าได้กับทุกงานมงคล ตั้งแต่งานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เปิดสำนักงาน วันเกิด ฯลฯ 

          หรือหากเป็นเมื่อประมาณ 5-6 ปีผ่านมา "ไฉ่ สิ่งเอี๊ย" หรือเทพแห่งทรัพย์ เริ่มยึดครองพื้นที่ศรัทธาในใจ
ผู้คนมากขึ้น เพราะไม่ว่าคนรวยคนจนไหว้พระไหว้เจ้าก็ไม่พ้นเรื่องของเงินทอง

          ส่วนเทพแห่งโชคลาภของจีนมี 7 องค์ด้วยกัน คือพระยูไล พระโพธิสัตว์กวนอิม พระสังกัจจายน์ พระจี้กง
เทพแห่งเงินตราทั้ง 4 ในศาสนาพุทธ เซียนคู่ และเทพฮก

          หลายองค์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเทพที่คุ้นเคยใกล้ชิดไม่เฉพาะแต่คนจีน หากรวมถึงคนไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียว
เช่น พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่เรามักเรียกกันว่าเจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจายน์ ที่นั่งยิ้มแฉ่งรับญาติโยม 

            พระโพธิสัตว์กวนอิม ว่ากันว่าถูกสร้างขึ้นมา หาได้มีตัวตนจริงไม่ แต่เมื่อสร้างแล้วมีผู้กราบไหว้บูชามากมาย จึงพยายามผูกเป็นเรื่องให้เข้ากับประวัติศาสตร์จีน โดยจัดเรื่องให้พระโพธิสัตว์เป็นพระราชธิดาของพระราชาองค์หนึ่ง…กล่าวไว้ว่าพระนางนั้นเดิมเป็นพระธิดาของ
พระเจ้าเมี่ยว จวง หวาง ทรงพระนามว่า เมี่ยวซ่าน ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ไม่ยอมเข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสตามพระประสงค์ของพระบิดา

          ต่อมาได้เทพทางศาสนาเต๋า คือเทพไท้ไป๋ ซิง จวิน ชี้แนะ จึงได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์…ด้วยศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าล้วนเข้าไปสู่วิถีชีวิตของชาวจีน
อย่างแยกกันไม่ออก พระโพธิสัตว์กวนอิมของศาสนาพุทธจึงกลายเป็นเทพของศาสนาเต๋าไปด้วย ไม่ว่าใครจะเป็นพุทธศาสนิกชนก็ได้ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาเต๋าก็ดี ล้วนกราบไหว้พระโพธิสัตว์องค์นี้กันทั้งนั้น…

           พระสังกัจจายน์ หรือพระยิ้ม หรือเรียกกันทั่วไปว่าพระถุงย่าม…ที่รู้จักกันของชาวจีนว่าคือ พระหมี เล่อ โฝว นั้นเป็นนามเรียกขานเดียวกับพระศรีอริยเมตไตรย แต่แท้จริงแล้วพระยิ้มอาจไม่ใช่พระศรีอริยเมตไตรยก็ได้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระประหลาด…ที่มีรูปร่างอ้วนเตี้ย พุงยุ้ย มักใช้ไม้เท้าที่ทำจากไม้ไผ่เกี่ยวถุงผ้าแล้วแบกไว้บนบ่า มักปรากฏกายไปบิณฑบาตในตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่านด้วยใบหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา พูดจาผิดจากคนทั่วไป
ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ที่ไหนๆ ก็นอนได้หมด มักจะบอกเล่าและทำนายเรื่องในอนาคตที่จะเป็นอันตรายต่อผู้คน ราวกับเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน 

          ความจริงแล้วสิ่งที่ติดตัวของท่านก็มีเพียงถุงย่ามใบเดียว ท่านมักจะนำของบิณฑบาตมาได้เทรวมลงไป
ในถุงย่าม ผู้คนเข้ามามุงดู ท่านจะพูดกับคนเหล่านั้นด้วยคำพูดที่เปรียบเทียบให้คนรู้เห็นธรรมอันแท้จริง บางคนบอกว่าท่านเป็นเทพเจ้า บางคนก็ว่าท่านเป็นบ้า… 

 พระหมีเล่อ หรือพระศรีอริยเมตไตรย เป็นเสียงเรียกขานตามภาษาสันสกฤต Maitreya ความหมายก็คือผู้มีความเมตตา เป็นนามของพระโพธิสัตว์หมีเล่อของศาสนาพุทธมหายาน กล่าวกันว่าท่านเป็นบุตรตระกูลพราหมณ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งหมู่บ้านเจี่ยพอหลีชุน แห่งหนานเทียนจู๋ ของอินเดียโบราณ

          พระศรีอริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ก่อนพระศรีศากยมุนี จากนั้นก็ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ในแดนสุขาวดีพุทธเกษตรทางทิศตะวันตก…พระองค์ทรงดูแลความสุขของมวลมนุษยชาติสืบต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวกันว่าในยุคของพระองค์จะมีแต่สิ่งดีๆ ความสวยงาม และความสุข…
  พระจี้กง หลายท่านรับรู้เรื่องราวของท่านในฐานะ "พระคนยาก" เพราะภาพลักษณ์ของพระที่แต่งตัวปอนๆ ด้วยจีวรเก่าซอมซ่อ และมีขวดน้ำเต้าบรรจุเหล้าติดตัวอยู่เสมอ หากเบื้องลึกของพระจี้กงที่ได้กล่าวไว้คือ พระจี้กงเป็นชาวไถโจว ปัจจุบันคืออำเภอหลินไห่ ของมณฑลเจ้อเจียง นามเดิมของท่านคือหลี่ ซิน หย่วน ท่านออกบวชที่วัดหลิงอวิ่นซื่อ ที่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง…เนื่องจากพระจี้กงไม่นิยมปฏิบัติตามกฎของสงฆ์ ชอบกินเนื้อสัตว์และดื่มเหล้า อีกทั้งมีท่าทางเหมือนคนบ้า ผู้คนจึงเรียกท่านว่าพระบ้า 

          พระจี้กงมีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม อีกทั้งดูถูกพวกข้าราชการที่ชอบกินสินบนและกดขี่ข่มเหงประชาชน การปฏิบัติตัวของพระจี้กงเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั้งหลาย จนเรียกกันว่า ท่านคือพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิดในยุคปัจจุบัน…"

          ข้อความข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระเจ้าใกล้ตัว ที่หลายท่านคุ้นเพราะเคยได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวจากผู้เฒ่าผู้แก่มาตั้งแต่เด็ก ในเชิงของตำนานพื้นบ้านที่มีอภินิหารผสมอยู่ด้วย เล่าสู่กันฟังเพื่อความสนุก จึงอยากเชิญให้ท่านลองทำความรู้จักกับพระเจ้าองค์เดิมที่นับถือมานาน รวมถึงพระเจ้าองค์อื่นๆ ที่เหลือในแง่มุมที่มีหลักฐานอ้างอิงได้ ตลอดจนสถานะของเทพแห่งโชคลาภ เผื่อการไหว้พระไหว้เจ้าใน สารทจีน จะมีคุณค่า และความหมายยิ่งขึ้น 

          ที่สำคัญ สารทจีน สะท้อนให้คนเราเห็นว่า เมื่อมีชีวิตอยู่ควรกระทำตัวให้เป็นบรรพบุรุษที่ดี ให้ลูกหลานเคารพ และกราบไหว้บูชาแม้ยามจากไป ยังดีกว่าจะรอให้คนทั่วไปมาเซ่นไหว้ไหว้ตามข้างทาง ขึ้นอยู่ที่ว่า..คุณ!!จะเลือกเป็นบรรพบุรุษแบบไหน 
(มารู้จักเทศกาล สารทจีน วันสารทจีน กัน ... http://hilight.kapook.com/view/14824)


เอกสารอ้างอิง
จิตรา ก่อนันทเกียรติ. 2540. ตึ่งหนั่งเกี้ย.พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพฯ : แพรว.
มารู้จักเทศกาล สารทจีน วันสารทจีน กัน ... http://hilight.kapook.com/view/14824 ( เข้าถึง 30 กันยายน 2552 )
ศรีมหาโพธิ์. 2543. ประเพณีธรรมเนียมจีน : พิธีแต่งงาน เทศกาลตรุษจีน วันสารทจีน วันเช็งเม้ง เทศกาลกินเจ
งานทิ้งกระจาด พิธีงานศพจีน ความเชื่อโชค ลาง.
กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์น.
350D. 2550. วันสารทจีน
http://db.onec.go.th/thaied_news/index1.php?id=30845 ( เข้าถึง 30 กันยายน 2552 )

 

 
<<< Previous   >>>