ความเปลี่ยนแปลงจากเก่าสู่ใหม่
            “ย้อนหลังไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วคือ จะมีการใช้หางม้า หางวัวมาติด ถัดมากลายเป็นขนแกะ ขนเทียม
เพราะขนสัตว์เริ่มหายาก เดี๋ยวนี้มีการพัฒนามาใช้ขนมิ้งค์เหมือนชุดแดนเซอร์ ตอนนี้จะใช้ขนไก่มาประดับเพื่อเพิ่มสีสัน ถ้าเป็นสิงโตยุคโบราณคือหน้าตาของสิงโตจะดูมีอำนาจ น่าเกรงขามมากกว่างานสมัยนี้
               สำหรับเอกลักษณ์ชุดแต่งกายประจำคณะเชิดสิงโตจะเน้นสีแดง อาจเป็นสีแดง-เขียว หรือ สีแดง-เหลือง ฯลฯ ด้วยหลักความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีที่อั่งอั๋ง ตั่งตั๋ง คือมีเงินทองไหลมาเทมา อยู่เย็นเป็นสุข”

สมชาย ชาวอุบล หัวหน้าคณะวัย 35 ปี หนุ่มเลือดไทยแท้ 100%
ผู้ก่อร่างสร้าง “คณะสิงโตลูกท้าวมหาพรหม” ให้เป็นที่รู้จักด้วยการครองแชมป์ติดต่อกันถึง 5 สมัย ผู้รักการเชิดสิงโตเป็นชีวิตจิตใจ ก่อตั้งคณะนี้ขึ้นมาเมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา โดยมีญาติสนิทมิตรสหายจากคนในครอบครัว และชาวบ้าน
ในชุมชนตลาดพลูเป็นลูกคณะ
หลงเสน่ห์ “สิงโต”
         “แรกเริ่มเดิมทีผมเป็นลูกน้องคณะสิงโต แต่ว่าพ่อไม่ชอบที่จะให้ลูกชายเล่น พ่อจะให้ตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่า ไม่อยากให้ไปทำอย่างอื่น แต่ผมก็เลือกที่จะไปเล่นสิงโต โดยเริ่มฝึกตั้งแต่การต่อตัว 2 คน เป็นลูกน้องเขา ฝึกจนเล่นเป็นทุกตัวในคณะสิงโต ตอนนั้นรู้แต่เพียงว่าชอบสิงโตมาก ให้ไปทำอย่างอื่นคงไม่เอา ปักหลักทำงานอยู่นานถึง 20 ปี จนวันหนึ่งเมื่อชีวิตมันมีการเปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ด้วยเรื่องค่าแรง เพราะเราทำงานทุกอย่าง เล่นเป็นทุกตัว แต่ได้ค่าแรงวันละแค่ 100 บาทเท่านั้น ในขณะที่คนอื่นแทบไม่ได้ทำอะไรกลับได้ค่าแรงวันละ 2,000 บาท มันจึงถึงจุดเปลี่ยนที่เราออกมาทำเอง ออกมาตั้งคณะเอง”

      สมชาย ชาวอุบล หัวหน้าคณะสิงโตลูกท้าวมหาพรหม     ที่มา : ‘สิงโต’ สัญลักษณ์แห่งความมีโชค http://www.thonburi-home.com/index.php?lay

จุดเริ่มต้นความมีชื่อเสียง
            “ก่อนหน้านี้ความรู้สึกของคนทั่วไปจะรู้สึกว่าพวกเชิดสิงโตเป็นพวกกุ๊ย พวกขี้ยา เราจึงต้องการเปลี่ยนภาพเดิมๆ เหล่านั้น ผมจะสอนเด็กๆ เสมอว่าอย่าไปยุ่งกับยาเสพติด ต้องมีระเบียบวินัย จนเมื่อปี 2538 เราไปแข่งขันเชิดสิงโตที่เดอะมอลล์บางแค รายละเอียดในการแข่งขันนั้นเราจะต้องทำตามกติกาที่คณะกรรมการกำหนด เช่นมีท่าบังคับท่าสิงโตออกจากถ้ำ สิงโตขึ้นโต๊ะซึ่งเปรียบกับการขึ้นภูเขา สิงโตกินผัก สิงโตกินส้มเปรียบกับการได้แก้วสารพัดนึก มีการต่อตัว 2 คน 4 คน และขึ้นไม้ไผ่บนความสูง 4 เมตร ใช้เวลาในการแสดงแต่ละครั้งในเวลาครึ่งชั่วโมงจากสิงโตทั้งหมด 30 คณะ ปรากฎว่าเราได้ตำแหน่งที่ 5
จากนั้นในปีถัดมาเราฝึกซ้อมมากขึ้น พัฒนาฝีมือมากขึ้น แล้วก็คว้าตำแหน่งแชมป์ทำให้คณะของเราเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากวันนี้ถึงวันนี้ผมว่า คณะสิงโตนั้นอยู่ที่ความพร้อมเพรียง ความแข็งแกร่ง และความสวยงาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องมีการฝึกซ้อมอย่างดี ส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะสิงโตเรามีพัฒนาคือการได้ไปเก็บประสบการณ์จากเมืองจีน และหลายครั้งที่เราคนไทยมีโอกาสไปสอนคนจีนเชิดสิงโตด้วยเหมือนกัน”

      

ทีมงานพรั่งพร้อม
            “มีลูกหลานและเด็กๆ ในซอยเทอดไท 22 ประมาณ 30 กว่าคนที่เป็นตัวเล่นยืนพื้น ผู้เล่นของเรามีทั้งชาย-หญิงเพราะเรามีความคิดว่าคณะสิงโตไม่จำเป็นต้องมีผู้เล่นที่เป็นชายเท่านั้นซึ่งจะเป็นการช่วยให้เขามีงานทำ ไม่ต้องไปทำในสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้คนในซอยมีรายได้เพิ่ม บางคนมีงานประจำแล้วก็มาฝึกเพิ่มเติม มีเวลาว่างก็มารับงานด้วยกัน แต่ถ้าเป็นงานใหญ่เราจะใช้ทีมงานทั้งหมด 100 คน สามารถเรียกมาร่วมงานกันได้ทันที งานของเราที่มีส่วนใหญ่เกิดจากลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก ไม่เคยโปรโมท ไม่เคยประชาสัมพันธ์”

งานล้นเทศกาลตรุษจีน
            “ในแต่ละเดือนที่ไม่ใช่ช่วงตรุษจีนเราจะมีงานเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 งาน รับงานทุกที่ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด ถ้าเป็นงานในกรุงเทพอยู่ที่ราคา 8,000 บาท ต่อครึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นงานการกุศลอยู่ที่ราคา 3,000-5,000 บาท งานส่วนใหญ่ที่รับคือ งานเปิดร้าน ทำบุญบ้าน งานแต่งงาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เรียกว่าทุกงานที่เป็นงานมงคลเราเล่นได้หมด แต่ถ้าเป็นงานต่างจังหวัดก็ต้องขึ้นกับระยะทาง ซึ่งอัตราราคาจ้างนี้ผมว่าไม่แพงเลย เพราะเราอยากให้คนมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อไปจุนเจือครอบครัวบ้าง อย่างในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คณะเรารับงานไปแล้ว 10 งาน”

ระเบียบวินัยคือหัวใจ
            “เวลาที่เราฝึกซ้อมกัน จะฝึกตั้งแต่ตี 5 ทุกคนต้องมาพร้อมเพรียงกัน และทำการไหว้ครูก่อนเวลากินข้าวแต่ละมื้อก็ต้องกินพร้อมกัน การที่เราต้องไหว้ครูก่อน เพราะเราถือว่าครูต้องได้กินก่อนเรา ทำแบบนี้ตลอดตั้งแต่ตั้งคณะใหม่ๆ

            ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่ได้ฝึกทุกวัน เพราะถ้าฝึกทุกวันคนจะเริ่มท้อซะก่อน นอกเสียจากว่าวันไหนที่มีการแข่งขันจะมีการซักซ้อมกันล่วงหน้า เรื่องของการต่อตัวเราจะไม่ใช้คนอื่นเลยนอกจากญาติพี่น้องของเราเอง  เพราะทุกคนจะมีพื้นฐานการเล่นสิงโต”

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ
            “การต่อตัวนี่อันตรายมาก ถ้าเผลอเรอในช่วงเวลานั้นเพียงพริบตาเดียวจะเกิดอุบัติเหตุได้ อาจแขนหัก ขาหัก หรือเสียชีวิตได้ ผมเองเคยได้รับอุบัติเหตุเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องแข่งขันกับตัวเองให้มากที่สุด การฝึกซ้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องรู้ขา รู้คิวกัน ตัวผมเองเคยเจอหนักๆ อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2527 ไหล่หลุด แขนหักจนต้องใส่เหล็ก จนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็เข็ด”

ธุรกิจต่อเนื่องจากสิงโต
            “นอกจากจะรับเล่นการเชิดสิงโตแล้ว ผมยังทำหัวสิงโตเอง ตัดเย็บเสื้อผ้าคณะสิงโต ที่หันมาจับงานด้านนี้เพิ่มก็เป็นเพราะไม่ต้องการไปซื้อของต่างชาติ ซึ่งราคาตกหัวละ 30,000 บาท ผมจึงคิดทำเอง ขายเอง บางทีก็เอามาเล่นเอง ค่าทำหัวสิงโตตกประมาณหัวละ 30,000 บาทเท่ากัน มันสะดวกตรงที่เราไม่ต้องเดินทางไปถึงต่างประเทศ ซึ่งความแตกต่างนั้นแทบจะไม่มี หรือถ้าจะมีงานของเรานั้นดูดีกว่า ทนกว่า แข็งแรงกว่า ด้วยซ้ำเรารับทำทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่เพียงแต่หัวสิงโตเท่านั้นแต่ยังมีมังกร กิเลนหยก สิงโตปักกิ่ง สิงโตเสือไหหลำ สิงโตฮักกา พญานาค ด้วย”
แม้งานเชิดสิงโตยังคงได้รับความนิยมและยังไม่เลือนหายในยุคสมัยนี้ แต่หัวหน้าคณะสิงโตก็ยังแสดงความห่วงใยงานเชิดสิงโตที่ส่อเค้าลดน้อยลงด้วยความรู้สึกกลั่นออกมาเป็นคำพูดว่า “มีแต่คนรุ่นเก่าๆ เท่านั้นที่ยังเล่นสิงโตอยู่ ส่วนคนรุ่นใหม่ๆ จะให้ความสนใจน้อย ผมยังเกรงว่าถ้าคนรุ่นผมหมดไป อาชีพนี้คงเลือนหาย”

 

เอกสารอ้างอิง
จุดประทัดเชิดสิงโตวันตรุษจีนเพื่อนำโชค : จุดประทัดเชิดสิงโต จุดประทัดเชิดสิงโตเพื่อนำโชค ตรุษจีน. 2553.
http://th.88db.com/th/Knowledge/Knowledge_Detail.page/Fortune-Telling-Amulet/?kid=3084639 (เข้าถึง 20 กันยายน 2553)

ศรีมหาโพธิ์. 2543. ประเพณีธรรมเนียมจีน : พิธีแต่งงาน เทศกาลตรุษจีน วันสารทจีน วันเช็งเม้ง เทศกาลกินเจ งานทิ้งกระจาด พิธีงานศพจีน ความเชื่อโชค ลาง. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์น.
ส. พลายน้อย. 2542. ประเพณีจีน : รวมขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและความเชื่อของคนจีน. กรุงเทพฯ : เยลโล่การพิมพ์.
‘สิงโต’ สัญลักษณ์แห่งความมีโชค
  2552.    http://www.thonburi-home.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538837875&Ntype=5
(เข้าถึง 20 กันยายน 2553)
หวง หวา เจี๋ย. การเชิดสิงโต.    http://guru.sanook.com/pedia/topic/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%
B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%95/  
(เข้าถึง 20 กันยายน 2553)
ประเทศจีน เมืองแห่งอารยธรรมโบราณ ตอนที่ 26 : การเชิดสิงโตตรุษจีน http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/viewlongc.php?id=474055&chapter=26     (เข้าถึง 5 ตุลาคม 2553)



<<<   PREVIOUS  >>>