ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,48

   ความสำคัญ
ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพยดา เชื่อว่าเทพยดาจะดลบันดาลให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้าน การทำไร่นาจะได้ผลดี มีฝนตกชุกลอดฤดูกาล และนอกจากนี้ยังเชื่อว่าเทพยดาสามารถดลบันดาลให้ตนได้ในสิ่งที่ตนอธิษฐานไว้

รับเทียมดาหรือรับเทวดา เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยพุทธในภาคใต้ ทำกันในเดือน 6 หลังวันสงกรานต์ ถ้าเป็นข้างขึ้นจะต้องเป็นวันคี่  ข้างแรมจะเป็นวันคู่ เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่าในวันแรมคู่ขึ้นคี่จะมีแต่เฉพาะเทวดาเท่านั้นที่จะมารับของบวงสรวงได้ ด้วยความเชื่อของสังคมเกษตรสมัยก่อนที่เชื่อว่าจะโชคดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับเทวดาจะดลบันดาล จึงจัดพิธีเพื่อแสดงความกตัญญูกับเทวดาองค์เก่าและเอาใจเทวดาองค์ใหม่ให้คุ้มครองพวกตนให้มีความสุขในปีต่อไปโดยเชื่อว่า สิ่งที่ใส่ลงไปในแพพิธี เพื่อให้เทวดาใช้เป็นเสบียงในระหว่างการเดินทางไปสวรรค์ที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ไปร่วมพิธีจะตัดเล็บ เส้นผม และใช้เศษผ้าที่ใช้แล้วของตนเองห่อรวมกันเพื่อลอยไปกับแพด้วย ห่อเล็บ เส้นผมจะต้องนำมา “วาดเคราะห์” (การสะเดาะเคราะห์) ด้วยการเวียนรอบศีรษะ 3 รอบ พร้อมกล่าวว่า เคราะห์ดีเอาไว้ เคราะห์ร้ายพาไป นอกจากนี้ยังมีการใส่เงินตามแต่ศรัทธาลงไปในแพด้วย
 วันทำพิธีชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารที่จะถวายพระ และสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีไปยังสถานที่ทำพิธีพร้อมกัน แล้ว ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ หลังจากนั้น ผู้พิธีจะไปพร้อมกันที่ลำน้ำนำแพที่ใส่สิ่งของที่เตรียมไว้มาวางหน้าพระเพื่อสวดสมโภช หลังจากนั้นจะทำพิธีตักบาตรถวายเพล เสร็จแล้วสวดชะยันโต แล้วร่วมกันกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับ ตอนที่พระสวดใกล้จะจบ ชาวบ้านจะร่วมกันทำพิธีส่งแพลงน้ำพร้อมกับมีการสาดน้ำกันเหมือนกับการเล่นสงกรานต์ (ใต้...หรอย มีลุย.2547,48-49)

 
PREVIOUS