ประเพณีรับเทียมดา มีอุปกรณ์ในการประกอบพิธี ประกอบด้วย
1. ร้าน สำหรับจัดวางเครื่องบวงสรวงเทวดา ทำด้วยไม่ไผ่สูงประมาณ 1 เมตร ปูด้วยใบตอง
2. เครื่องบวงสรวง ประกอบด้วย ข้าวสุกที่ยังไม่มีใครตักกิน เรียกว่า ข้าวปากหม้อ ปลาย่างทั้งตัว เรียกว่า ปลามีหัวมีหาง น้ำดื่ม เหล้า ดอกไม้ ธูปเทียน โดยจะนำสิ่งเหล่านี้ใส่ภาชนะที่ทำด้วยใบตอง แล้วจัดวางในถาด นำไปวางบนร้านที่ทำพิธี
3. ธง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการรับ-ส่งเทวดา เป็นธงรูปสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษสีขาว จำนวน 2 ธง จะมีรวงข้าว 3 รวง หมากพลู 1 คำ ผูกติดไว้ที่ปลายธง ธงที่ 1 จะเขียนว่า ข้าพเจ้า นาย...นาง....ได้มารับเทียมดาองค์ใหม่แล้ว ส่วนธงที่ 2 จะเขียนว่า ข้าพเจ้า นาย...นาง... ได้มาส่งเทียมดาองค์เก่าแล้ว
ก่อนจะถึงการประกอบพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะสนุกสนานด้วยการตั้งขบวนเดินไปตามแต่ละบ้าน และส่งเสียงร้อง รับเทียมดากันเหย... เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ชาวบ้านเตรียมตัวไปพร้อมกันในสถานที่ประกอบพิธี หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะนำถาดที่ใส่เครื่องบวงสรวงมายังสถานที่ประกอบพิธี แล้วบรรจงวางของที่นำมาบวงสรวงลงบนร้านที่ทำไว้ แล้วเริ่มประกอบพิธี โดยผู้นำประกอบพิธีจะนำกล่าวนะโมฯ สามจบ แล้วต่อด้วยบทสวดชุมนุมเทวดา จบแล้วผู้ขับร้องเพลงบอกก็จะขับร้องเพลงเชิญเทวดา เมื่อจบแล้ว ทุกคนก็จะนั่งประนมมือด้วยอาการสงบ รอบๆ ร้าน แล้ว อธิษฐานขอให้เทวดาคุ้มครอง และขอสิ่งที่ปรารถนาแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน และนำธงที่ 1 ที่เป็นธงรับเทียมดา ไปปักไว้ที่หลังคาบ้าน และมีความเชื่อว่าเทวดาได้มาคุ้มครองปกปักษ์รักษาแล้ว ครอบครัวก็จะอยู่เย็นเป็นสุข |