เทศกาลวันตรุษจีน

วันตรุษจีน  นับเป็นวันพิเศษ  และมีความสำคัญยิ่งสำหรับคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน  เป็นประเพณีของจีนสืบมาแต่โบราณกาล  นานกว่า  2,000  ปี  ล่วงมาแล้ว
                ปัจจุบันนี้  บรรดาประชากรจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่  อันเป็นมาตุภูมิหรือเมืองแม่  มีประมาณ  12,000  คน  มีผู้รู้คิดคำนวณอย่างคร่าว ๆ  ว่าชาวจีนดังกล่าวถือตรุษจีนราว  70  เปอร์เซ็นต์
                นอกจากนี้  ยังมีชนเชื้อสายจีนทั้งหลาย  ที่อพยพไปทำมาหากินอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  นับได้อีกจำนวนไม่น้อย  อย่างเช่นคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย  จะมีผู้ถือตรุษจีนกว่า  80  เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
                วันตรุษจีน  ชาวจีนถือว่าเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัว  ไม่ว่าจะไปประกอบธุรกิจการงานอยู่ที่ไหน  ห่างไกลบ้านเกิดเพียงไรหากอยู่ในจังหวัดหรือในประเทศเดียวกัน  บรรดาสมาชิกในครอบครัวชาวจีนเหล่านั้น  จะกลับบ้านมาพบปะเห็นหน้าตาอย่างพร้อมเพรียงกันเทียบเคียงกับลัทธิศาสนาอื่น
                - จะคล้ายวันตรุษสงกรานต์  อันเป็นวันขึ้นเทศกาลปีใหม่ของชาวไทย
                - จะคล้ายวันคริสต์มาสของชาวฝรั่งตะวันตก

การกำหนดวันตรุษจีน
                วันตรุษจีนนั้น  ในแต่ละปีจะมีกำหนดวันไม่ตรงกัน  จะต้องตรวจสอบดู  ปฏิทินทางจันทรคติ  คือนับวันขึ้น – แรม – เดือน  แบบตัวเลขก่อน  แล้วจะรู้ว่าวันตรุษจีนของปีนั้น ๆ  จะตรงกับปฏิทินทางสุริยคติ  คือ  วันที่ – เดือน  แบบตัวอักษรอะไร
                วันดังกล่าว  จะตกอยู่ระหว่างวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุดในฤดูหนาว
                นักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์  ได้คำนวณประมาณเอาระหว่างตั้งแต่วันที่  20  ธันวาคม  กับ  วันวิษุวัต  (Equinox)  ได้แก่วันที่มีกลางวันกับกลางคืนเท่า ๆ กัน  คือจะไม่เกินวันที่  20  มีนาคม  ของปีรุ่งขึ้น
                ดังนั้น  วันตรุษจีนจะตกอยู่ระหว่างกลางเดือนมกราคม  ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์  และเดือนมีนาคม  (ถ้าปีนั้นมีอธิกมาส)
                ดูตัวอย่างวันตรุษจีนในปี  พ.ศ.  2538  กับปี  พ.ศ.  2542  ดังนี้ :-
                พ.ศ.  2539  ตรุษจีน  ตรงกับทางจันทรคติ = วันจันทร์  ขึ้น  2  ค่ำ  เดือน  4  ปีกุนปลายปี  ต่อปีชวดต้นปี  (อธิกมาส)  ทางสุริยคติ = วันที่  19  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2539
                พ.ศ.  2540  ตรุษจีนตรงกับทางจันทรคติ = วันศุกร์  ขึ้น  1  ค่ำ  เดือน  3  ปีชวดปลายปี  ต่อปีฉลูต้นปี  (ปรกติมาส)  ทางสุริยคติ = วันที่  7  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2540
                หมายเหตุ  :  พึงทำความเข้าใจด้วยว่า  เดือนของไทยเราจะแก่กว่าเดือนของจีนไป  2  เดือน  กล่าวคือ  เดือน  1  (อ้าย)  ของจีน  จะตรงกับเดือน  3  ของไทย
                แต่ถ้าเทียบเดือนทางภาคเหนือ  (ล้านนาไทย)  จะแก่หรือเกินเดือนทางภาคกลางของไทยไป  2  เดือน  กล่าวคือ
                - วันเพ็ญเดือน  12  ภาคกลาง  จะตรงกับ
                - วันยี่เป็ง  คือวันเพ็ญเดือนยี่  ภาคเหนือ
                ตรวจสอบวันตรุษจีน  ย้อนไปปี  พ.ศ.  2538  ตรงกับทางจันทรคติ = วันอังคาร  ขึ้น  1  ค่ำ  เดือน  3  ปีจอต่อปีกุน  ((ปรกติมาส)  ทางสุริยคติ = วันที่ 31  เดือน  3  พ.ศ.  2538
                เลยไปตรวจสอบวันตรุษจีนล่วงหน้าไปปี  พ.ศ.  2541  ตรงกับทางจันทรคติ = วันพุธ  ขึ้น  1  ค่ำ  เดือน  3  ปีฉลูปลายปี  ต่อปีขาลต้นปี  (ปรกติมาส)  ทางสุริยคติ = วันที่  28  มกราคม  พ.ศ.  2541
                เลยไปตรวจสอบวันตรุษจีนล่วงหน้าไปปี  พ.ศ.  2542  จะตรงกับทางจันทรคติ = วันอังคาร  ขึ้น  2  ค่ำ  เดือน  4  ปลายปีขาลต่อปีเถาะ  (อธิกมาส)  ทางสุริยคติ = วันที่  16  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2542 
                ดังนั้น  วันที่  1  เดือน  1  ตามทางจันทรคติของจีน  จะตรงกับทางจัทรคติของไทย  เดือน  3  ขึ้น  1  ค่ำ
                แต่ถ้าปีใดเป็นปีที่อธิกมาส  คือปีเดือน  8  สอง  8  วันตรุษจีนจะเลื่อนไปเป็นเดือน  4  ขึ้น  2  ค่ำ  ดูได้จากวันตรุษจีนปี  พ.ศ.  2542

<<< PREVIOUS      NEXT >>>