กำเนิดเทศกาลตรุษจีน

ประวัติความเป็นมาของเทศกาลตรุษจีนแม้แต่นักปราชญ์จีนก็มีเรื่องเล่าไม่ตรงกัน  อาจจะสืบเรื่องนี้มาจาก  พุทธประวัติสมัยพระเจ้าพิมพิสาร  แห่งนครสาวัตถี  ในชมพูทวีป  ที่ปราชญ์จีนนำมาเป็นเค้ามูลประกอบนั่นเอง
                สมัยจักรพรรดิอู่  แห่งราชวงศ์เหลียง  (พ.ศ.  1683-1738)  มีเรื่องนี้เกิดขึ้น  กล่าวคือ  จักรพรรดิอู่ทรงสุบินว่า  มีผู้มาขอให้พระองค์ทำการราชพิธีทำบุญกุศลอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว  ทั้งทางบกและทางทะเล  น่าจะเอาแนวความคิดนี้มาจากลัทธิขงจื้อปราชญ์ยอดเยี่ยมของจีนที่เคยกล่าวไว้ว่า
                “จงอุทิศตัวเองให้แก่ความต้องการอันสมควรแก่ประชาชนจงเคารพในผีและดวงวิญญาณ  แต่อย่าเข้าใกล้มากนัก  เช่นนี้จึงเรียกได้ว่า  เป็นคนมีปัญญา”
                เมื่อทรงสุบินเช่นนั้น  พระองค์จึงทรงเรียกราชบัญฑิตประจำสำนักเข้ามาเฝ้า  แล้วตรัสถามเพื่อแก้สุบินนิมิต
                ราชบัญฑิตจึงกราบทูลว่า  ทายาทของพระองค์ที่ล้มหายตายจากไปแล้วนั้น  ต้องวิบากกรรมหนัก  อดโซไม่ได้กินอาหารเลยเพราะญาติในเมืองมนุษย์ไม่มีใครทำบุญอุทิศไปให้  สมควรที่พระองค์จะได้ประกอบราชพิธีทำบุญกุศล  แล้วอุทิศผลานิสงส์ไปให้เปรตชนเหล่านั้น
                เนื่องจากเจ้านิรยบาล  (ตี้จั้งหวาง)  ผู้ครองนรก  พอถึงวันขึ้น  1  ค่ำ  เดือน  1  ของจีน  (ตรงกับวันตรุษจีน)  จะเปิดประตูนรก  เพื่อให้วิญญาณของเปรตชนต่าง ๆ  ออกไปท่องเที่ยวเสาะหาญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่เมืองมนุษย์  เป็นการเตือนสติชาวมนุษย์ในโลกให้ระลึกนึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว  แต่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดเพราะวิบากกรรมมากน้อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
                เวลาที่นายนิรยบาลเปิดประตูให้เปรตชนออกไปหาญาตินั้นมีเวลาเพียง  1  คืนเท่านั้น  ญาติในเมืองมนุษย์ของผู้ใดได้ทำบุญบำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้  เปรตชนผู้นั้นก็จะได้รับ  ถ้าญาติเมืองมนุษย์ไม่ได้ทำบุญอุทิศไปให้  เขาก็จะไม่ได้รับ
                แต่เมื่อสิ้นกำหนดกลับเข้าไปสู่นรกแล้ว  นายทวารผู้เฝ้าประตูนรกก็จะซักถามวิญญาณแต่ละดวงว่า  ญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ของใครได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง
                ถ้าเปรตชนตนใดได้รับส่วนกุศลผลบุญจากญาติ  บาปกรรมหนักก็จะทุเลาเบาบางลง  หากมีบาปกรรมน้อยก็จะปลดโทษให้ไป เกิดในมนุษย์โลกต่อไป  แต่ถ้าเปรตชนตนใด  ญาติพี่น้องไม่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เลย  ก็จะต้องตกนรกหมกไหม้  ได้รับทรมาทรกรรมต่อ ๆ  ไปอย่างไม่มีสิ้นสุด
                บรรดาวิญญาณของเปรตชนที่ได้ออกจากขุมนรกในวันนั้นจึงรีบพากันไปปรากฏกายในรูปร่างต่าง ๆ  เช่นทำให้ญาติฝันถึงบ้างแปลงร่างให้ญาติพบเห็นแบบอสุรกายบ้าง  เพื่อเตือนให้ญาติพี่น้องเร่งทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
                เมื่อจักรพรรดิอู่ได้ทรงประกอบพิธีทำบุญแล้ว  จึงทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่เป็นเปรตชนทั้งหลาย  ได้มาอนุโมทนารับส่วนบุญโดยทั่วกัน
                เปรตชนเมื่อได้รับส่วนบุญแล้ว  ก็พากันดีใจ  อวยพรให้ญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์  ขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข  ตัวเขาจะได้ไปผุดไปเกิดเสียที

                 

วันสำคัญของตรุษจีน
                เนื่องจากวันตรุษจีนเป็นเทศกาลปีใหม่ของจีน  ชนชาวจีนกว่า  70  เปอร์เซ็นต์  บนผืนแผ่นดินใหญ่  และคนเชื้อสายจีนที่ไปพักพิงประกอบธุรกิจการค้าอยู่ตามต่างประเทศ  ตามบรรพบุรุษที่อพยพไปและเกิดที่นั่น  จะถือเอาตรุษจีนเป็นลัทธินิยมสืบต่อกัยมาตั้งแต่โบราณ
                ดังนั้น  ตรุษจีนจะมีวันพิเศษแบบถือว่าสำคัญอยู่  2  วัน  คือ  :-
                1.  วันไหว้
                2.  วันถือ
                สำหรับ  วันไหว้  (สิ้นเดือน  12  ของจีน)  การไหว้มีกำหนด  3  เวลา  คือ :-
                1.  เวลาเช้า  จะทำพิธีไหว้เจ้า
                ข้าวของที่จัดเตรียมทำพิธีไหว้จะมี
                - หมูต้ม  (เป็นเนื้อหมูติดหนังชิ้นโต ๆ )
                - เป็ด-ไก่  (ถอนขนเอาเครื่องในออก  ต้มทั้งตัว)
                - ปลา  ปลาหมึก  ตับหมู  รวม  5  อย่าง,  3  อย่าง  หรือ  1  อย่างก็ได้
                - แจฉ่าย  ได้แก่  เห็ดหอม  เห็ดหูหนู  ดอกไม้จีน  ฯลฯ
                - วุ้นเส้น  แจฉ่าย  ฟองเต้าหู้  รวม  5  อย่าง  3  อย่าง  หรือ  1  อย่างก็ได้
                - กระดาษเงิน  กระดาษทอง  ที่ไหว้เจ้า
                - ขนมถ้วยฟู  ขนมเข่ง  ขนมเทียน  ขนมกู่ไฉ่  หรืออื่น ๆ
                - จะต้องมีสัม  หรืออย่างอื่น ๆ  รวม  5  อย่าง  หรือ  3  อย่าง  หรือ  1  อย่างก็ได้
                - น้ำชา  จัดเทใส่ถ้วยชา  พร้อมปั้นชา
                - สุรา  (เป็นขวด  เปิดจุกหรือฝาแล้ว)
แล้วข้าวของอาหารการไหว้  จะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับเจ้าของมีฐานะดี  หลังจากไหว้เจ้าเล้ว  ก็จะมีการเลี้ยงการกินกันภายในครัวเรือน  หรืออาจจะมีบุคคลภายนอกที่เจ้าบ้านเคารพนับถือ  เชื้อเชิญมาร่วมกินสุราอาหารกันเป็นกรณีพิเศษด้วยก็มี

                ของไหว้  จะจัดทำเป็นสำรับกับข้าว  ที่พ่อแม่สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ท่านชอบกินชอบรับประทานอะไร  ก็จะมีลูก ๆ  หลาน ๆ  จัดหามาไหว้  จะมีอาหารคาว-หวานบริบูรณ์  เหมือนกับการจัดเลี้ยงพระสงฆ์และแบบจัดพิธีตอนเช้า
                การไหว้ตอนนี้  จะต้องทำพิธีไหว้  ต้องไม่เกินเที่ยงวัน
                เวลาบ่าย  จะจัดพิธีไหว้อุทิศให้กับวิญญาณไร้ญาติขาดมิตรสหาย  ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด  ที่ต้องอยู่ใช้กรรม
                ของไหว้  จะจัดให้ตามฐานะของเจ้าของบ้าน  มักจะใส่ชามหรืออ่างใบโต ๆ  หรืออาจจะยกมาตั้งทั้งหม้อ  ทั้งกระทะ  จะมีทั้งขนมผลไม้  น้ำชา  สุรา  แบบจัดพิธีไหว้บรรพบุรุษ
                เวลาจัดไหว้ต้องเป็นเวลาบ่าย  ถึง  6  โมงเย็น

                ขนมไหว้เจ้า
                การประกอบพิธีไหว้เจ้าทุกครั้งขนมในพิธีมักจะขาดมิได้เลย ได้แก่:-
                - ขนมถ้วยฟู                                                         - ขนมกู่ไฉ่
               - หมี่ซั่ว                                                                 - ขนมเข่ง
                -ขนมเทียน                                                           - กระดาษเงิน
                - กระดาษทอง                                                      - จุดเทียนแดง

                สิ่งของที่ว่านี้จะขาดมิได้  โดยเฉพาะขนมถ้วยฟู  ส่วนขนมประเภทอื่น ๆ  เช่น  ขนมเปี๊ยะ  เป็นต้น  แล้วแต่สมาชิกในครอบครัวชอบก็ให้หาซื้อมาร่วมได้
                เวลาเซ่นไหว้  เผากระดาษเงินกระดาษทองให้แก่บรรพบุรุษให้สวยพระคาถา  “ฮวง  แซ  จิ๋ว”  ไป  3  จบ,  5  จบ  หรือ  7  จบ  หรือยิ่งมากยิ่งดี
                บรรพบุรุษจะได้รับของที่เราไหว้ทุกอย่าง  และไปสู่สุคติ

<<< PREVIOUS      NEXT >>>