ประวัติ
     วัดมัชฌิมาวาส
เดิมชื่อ วัดเลียบ วัดกลาง วัดยายศรีจันทร์   
     อยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมือง เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา เมื่อ 400 ปีมาแล้ว ยายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลา ได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" มีผู้สร้างวัดในจังหวัดสงขลาขึ้นทางทิศเหนือวัดหนึ่ง ชื่อ วัดเลียบ และ ทิศใต้สร้างอีกวัดหนึ่ง ชื่อ วัดโพธิ์ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า วัดกลาง พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นภาษาบาลีว่า วัดมัชฌิมาวาส
ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ "ภัทรศิลป" เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 - 16.00 น.

     ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ    ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ได้บูรณะและสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบันพร้อมด้วยศาลาการเปรียญ หอไตร ศาลาฤาษี และกำแพงวัด
                -  พระอุโบสถ  เป็นอาคารทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยย่อส่วน และปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่จากกรุงเทพ ฯ ร่วมกับช่างเมืองสงขลา ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มมงกุฎ หน้าบันทั้งภายนอกและภายในเป็นประติมากรรมปูนปั้น นูนสูงปิดทองและติดกระจก หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นรูปปั้นพระพรหมสี่หน้าทรงหงส์ ล้อมด้วยกนกลายไทย ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปปั้นพระอินทรทรงช้างเอราวัณ อยู่ในวงล้อมที่เป็นกนกลายไทย   ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันออก มีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าตรง ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันตกมีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าเอียง
            พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีน กล่าวคือฝีมือปั้นหุ่นเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแล้วนำไปแกะสลักหินอ่อนที่ประเทศจีน
            ภายนอกพระอุโบสถ ระหว่างช่องเสาโดยรอบกำแพง มีภาพจำหลักหินเรื่องสามก๊ก เป็นฝีมือช่างจีน
            ที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถทั้งสี่ประตู มีศิลาจารึกอักษรจีน มีข้อความต่อเนื่องกัน

            ภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นงานฝีมือช่างหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม ประกอบด้วยเทพในชั้นจตุมหาราชิก ยักษ์และครุฑ ต่ำลงมาเป็นภาพปฐมสมโพธิ แบ่งเรื่องโดยใช้เส้นสีเทา เส้นแบ่งภาพเป็นรูปหยักฟันปลา เพื่อแบ่งส่วนที่เป็นโลกสวรรค์ และโลกมนุษย์เริ่มจากเทพยดา ในหมื่นจักรวาลมาชุมนุมกันในสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่ออัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์ ให้มาปฏิสนธิในโลกมนุษย์  ภาพนี้เด่นกว่าภาพทั้งหลาย  เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับในปราสาท มีกำแพงแก้วชั้นในล้อมอยู่ด้านนอก เทพยดาทั้งหลายนั่งพนมมือ  เหนือขึ้นไปเป็นหมู่เมฆ มีปราสาทอยู่ไกล ๆ เหล่าเทพยดาเรียงรายกันอยู่  ถัดมาเป็นภาพพระเจ้าสุทโทธนะทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ต่อมาเป็นภาพประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งหมดเป็นภาพพุทธประวัติที่ต่อเนื่องกันไป มีการสอดแทรกภาพชีวิตของชาวบ้านที่ถอดแบบจากคนในท้องถิ่นเอาไว้ด้วย  ด้านหน้าของภาพปราสาทส่วนล่างเป็นริมฝั่งน้ำยาวเหยียดเป็นแม่น้ำอโนมา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเกศา ณ ริมฝั่งแม่น้ำนี้  พระอินทร์เอาผอบมารองรับพระเกศา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามริมฝั่งแม่น้ำแสดงชุมชนชาวบ้าน
            ภาพเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรจนพระวรกายผ่ายผอม แล้วมีภาพพระอินทร์เสด็จมาดีดซอสามสาย จากนั้นเป็นภาพพระพุทธองค์ทรงบาตร ณ กรุงราชคฤห์  รับมธุปายาสแล้วทรงลอยถาดจนล่วงรู้ไปถึงพญานาคในเมืองบาดาล
            ตามผนังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นภาพมารผจญ  ด้านล่างที่ประทับมีแม่ธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมเหล่ามารทั้งหลาย
            ต่อไปเป็นภาพปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์  ต่อมาทรงแสดงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  โปรดพระราชบิดา และพระนางพิมพา  ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงทรมานพญามหาชมพู  แล้วเป็นภาพเสด็จขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดา แล้วเสด็จไปโปรดสัตว์นรก จากนั้นเป็นภาพกระทำภัตกิจในเรือนนายจุน แล้วเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ภาพสุดท้ายเป็นภาพโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ และพระอินทร์อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ด้านขวาไปไว้ในเจดีย์จุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
            ชั้นล่างสุดติดกับช่องหน้าต่าง แบ่งเป็นห้อง ๆ รวม ๑๘ ห้อง เป็นเรื่องทศชาติตามลำดับคือพระเตมีย์ พระชนก พระสุวรรณสาม  พระเนมิราช  พระมโหสถ  พระภูริทัต  พระจันทกุมาร  พระนารถ  พระวิทูร และพระเวสสันดร

PREVIOUS         NEXT