หากแต่ในด้านสถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคารคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่
ในรูปทรงและองค์ประกอบมักถูกเชื่อมโยงกับคติฮินดูและระบบจักรวาลแบบฮินดู
ดั่งกรณีการอธิบายความ  ช่อฟ้าที่ใช้เป็นรูปหัวพญานาคส่วนสันมุมหลังคา
ทำเป็นรูปสันหลังของพญานาคกำลังเลื้อยลงมาเป็นชั้น ๆ  จนถึงชายหลังคา
ชั้นล่างสุด  แล้วจึงมีทวยไม้สลักเป็นนาคค้ำยันไว้  สัญลักษณ์ที่เรียงกันลงมาเช่นนี้
 เปรียบเสมือนสายน้ำที่กำลังไหลจากภูเขาที่เป็นจดศูนย์กลางสู่เบื้องล่าง
จนกระทั่งถึงฐานโบสถ์...หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ  มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
อันเป็นที่รวมของน้ำทั้งหมด  (สุเมธ  ชุมสาย  ณ อยุธยา,  ๒๕๒๘+๒๓) 

ที่มา : ติ๊ก แสนบุญ. 2550,34

 

สรุปแล้ว  ความหมายที่แท้จริงของช่อฟ้าควรเป้นพญานาค  เพราะเป็นความหมายที่โยงกลับ
ไปถึงเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในระบบจักรวาล  กล่าวคือการกวนเกษัยรสมุทรโดยพระวิษณุ
หรือการต่อสู้ระหว่างพระอินทร์กับพญานาคบนเขาพระสุเมรุ  ซึ่งทำให้นาคต้องพ่ายแพ้ 
และต้องปล่อยให้น้ำไหลหลากลงมาหล่อเลี้ยงชีวิตบนโลก  (สุเมธ  ชุมสาย ณ อยุธยา,
 ๒๕๒๘:๑๕๗)  หากพิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างหน้าที่นิยม  จะพบได้ว่าลักษณะรูปสัณฐาน
ของพญานาคที่มีพัฒนาการมาจากงูนั้นมีคุณลักษณะพิเศษที่สัมพันธ์ลงตัวเหมาะสม
ในการสร้างสรรค์จินตนาการในเชิงช่างที่หลากหลายรูปแบบนับตั้งแต่ส่วนหัวจนถึง
ส่วนหาง  ที่สามารถเติมเต็มสัญญะความหมายทางสังคมวัฒนธรรมผ่านงานช่างทาง
ความเชื่อไม่ว่าจะเป็นศาสนาคาร  หรืองานพุทธหัตถศิลป์

ที่มา : ติ๊ก แสนบุญ. 2550,35

นอกจากนี้รูปสัณฐานของงูหรือนาค  ยังสอดรับกับรูปสัญลักษณ์ของเรือและรูปสัณฐาน
ของโลกศพ  ที่เชื่อมโยงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดบราณคดีที่อธิบายว่า  เรือศักดิ์สิทธิ์
มีหลักฐานอยู่ที่ลายเส้นสลักบนกลองทอง  (สัมฤทธิ์)  หรือ  มโหระทึก  เมื่อไม่น้อยกว่า
 ๓,๐๐๐  ปีมาแล้ว  พบที่ประเทศไทย  เวียดนาม  จีน  ที่มณฑลกวางสี  และที่อื่น ๆ 
ในสุวรรณภูมิบริเวณอุษาคเนย์แสดงว่าชุมชนและบ้านเมืองยุคดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคนี้
ล้วนมีเรือศักดิ์สิทธิ์ที่เติบโตเป็นเรือพระราชพิธีเหมือนกันทุกแห่งไม่ใช่มีเฉพาะในประเทศไทย
เท่านั้นเรือมีรูปร่างจากงู  ที่ตอมาเรียกนาค  (ตามคำละตินและบาลี)  หัวเรือมีรูปเป็นงูหรือนาค 
ส่วนหางเรือเรียวยาวไปเป็นงูหรือนาคนั้นเองและจากความเชื่อที่ว่างูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
  หรือบรรพบุรุษ  ที่สถิตอยู่บาดาลคือใต้ดิน  ดังนั้นเมื่อเมื่อคนตายลง  ต้องกลับไปหา
บรรพบุรุษในถิ่นเดิม  คือโลกบาดาลหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ทำโลงศพด้วยไม้เป็นรูปงู
หรือนาคแล้วเรียกภายหลังว่าเรือ  (สุจิตต์  วงษ์เทศและคณะ,  ๒๕๕๐:๑๐-๑๑)
 โดยรูปแบบดังกล่าวยังปรากกอยู่ในกลุ่มชนพื้นเมือง  ทั้งกลุ่ม  ขมุหรือ  กำมุที่ต่อมา
เรียกกันว่าลาวเทิงในสปปลาว,  หรือกระตูในเวียดนาม  ที่นิยมจำหลักลวดลายโลงศพ
เป็น  งูหรือพยานาค

PREVIOUS        NEXT