ตำนาน
ตำนาน นิทานปรัมปราที่อธิบายเรื่องเราวเกี่ยวกับนาค ปรากฏอยู่ในกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์
ในแถบถิ่นนี้ ซึ่งท่านอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดมได้วิเคราะห์ เรื่องของ นาค ไว้ในหนังสือ
แอ่งอารยธรรมอีสาน อยู่ ๓ ประเด็นซึ่งเป็นกรอบแนวความคิดที่นักวิชาการรุ่นต่อมาใช้อธิบาย
ความหมายของนาคในบริบทของแถบถิ่นสุวรรณภูมิ คือ ๑) นาคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชน
ดั้งเดิม ๒) นาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ ๓) นาคเป็นลัทธิทางศาสนา
นอกจากนี้ นาค ได้ถูกอธิบายความไว้ในหนังสืออุรังคธาตุ ตอนต้น เรื่องว่า
“เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย” นาค ในมิติความหมายทางลัทธิศาสนา เช่น
ตำนาน อุรังคธาตุ ที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะใหม่ต่อระบบความเชื่อเดิมจากการเคารพนับถือผี
สู่การนับถือพุทธและพราหมณ์ ซึ่งผสมผสานกลมกลืนดังนั้นจะเห็นได้ว่าบรรดานาค
ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา และสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการนำลักษณะของงู
หรือนาค เข้าไปเป็นองค์ประกอบทางงานช่างต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อดั่งปรากฏ
สถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคารในเวลาต่อมา ส่วนในด้านเอกลักษณ์และรูปแบบ
ก็ย่อมแปลกแตกต่างกันไปตามแต่รสนิยมในเชิงช่างที่สั่งสมถ่ายทอดสืบต่อกันมาในแต่ละ
สายสกุลช่าง ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวอีสานชื่อนาคยังปรากฏคำในภาษาถิ่นที่ต่างออกไปอีก
เช่น งูซวง ในนิทาน สังข์สินไซ และในสารานุกรมไทย ฉบับปรีชา พิณทองได้อธิบายว่า
ลวง คือ นางนาค เรียก นางลวง ซึ่งสอดคล้องกับมหาสิลา วีระวงศ์ ซึ่งอธิบาว่า “ลวง”
นี้หมายความว่า นาค (ลวงเป็นคำลาว นาคเป็นคำบาลี) |