ประวัติศาสตร์ปัตตานี และปัตตานีวันนี้
 

ต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๓  นักจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียง  ชื่อเหลียงชูได้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของ  รัฐลัง-ยา-สิ่ว”  หรือลังกาสุกะ  ไว้ว่าตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่  ๗  ในบริเวณทะเลใต้  ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง  ๒๔,๐๐๐  ลี้
                เมืองมีกำแพงล้อมรอบ  มีประตู  และหอคอยคู่  มีอาณาบริเวณจากตะวันออกถึงตะวันตกโดยเดินทางด้วยเท้าใช้เวลาถึง  30  วัน  จากเหนือถึงใต้ใช้เวลา  ๒๐  วัน  พระราชามีพระนามว่า  “ยอเจียต้าตัว”  เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใดจะทรงช้างเป็นพาหนะ  มีฉัตรสีขาวกั้น  มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลองและทิวธงนำหน้า  แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย
                “ชาวเมืองไว้ผมยาว  แต่งกายด้วยฟ้าฝ้าย  ผู้หญิงผู้ชายไม่ใส่เสื้อ  เปลือยกายท่อนบน  ปล่อยผมยาวลงมาทางหลัง  มีเครื่องเพชรพลอยประดับตกแต่งกาย  ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง  มีเชือกทองคาดต่างเข็มขัด  และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม”
                ในปีที่สิบแห่งศักราชเถียนเจียน  (ตรงกันปี  พ.ศ. ๑๐๕๘)  กษัตริย์แห่งลังกาสุกะส่งราชทูตชื่ออาเช่อตัว  หรืออชิตะ  ลงเรือมาเฝ้าจักรพรรดิจีน  ทางจีนให้ช่างเขียนภาพราชทูตไว้  “เป็นคนหัวหยิกหยองน่ากลัว  นุ่งผ้าโจงกระเบนห่มสไบเฉียง  สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง  ผิวค่อนข้างดำ”
                อาจารย์สง่า  กาญจนาคพันธ์  ได้ให้ความเห็นไว้ว่า  รูปลักษณะของทูตจากลังกาสุกะนี้  เราจะพบเห็นได้จากชาวชนบททั่วไปในภูมิภาคทักษิณของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

การแต่งกายที่ต่างกัน 2 ชนิด ของหญิงไทยมุสลิม
ชุดกุรง สีฟ้าด้านหลัง และชุดบะนง สีเหลืองด้านหน้า ภายในสุเหร่าตะลุโมะ

ที่มา : อภินันท์ บัวหภักดี. 2554,42