ที่มา : บรรจง บินกาซัน. 2542,หน้าปก

กระบวนการและวิธีการ
กระบวนการ

        ในเดือนรอมฎอนของทุกๆปี ชาวไทยมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ (ชาย-หญิง อายุ 15 ปี หากหญิงมีประจำเดือนก่อนอายุ 15 ปี ก็ถือว่าบรรลุศาสนภาวะ) ต้องถือศีลอดโดยงดเว้นอาหาร เครื่องดื่ม และการร่วมประเวณีทุกๆวัน ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น จนหลังจากที่พระอาทิตย์ตก มีข้อยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดในบางคน คือ ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน หรือมีเลือดออกหลังคลอด บุคคลที่ป่วยหรือเดินทางไกล ทำงานหนัก แต่มีการถือบวชชดเชยภายหลังเท่ากับจำนวนวันที่ขาดไป กรณีผู้ป่วยเรื้อรังที่หมอวินิจฉัยแล้วไม่หายก็ไม่ต้องถือศีลอด หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอ ก็ให้บริจาคอาหารแก่คนยากจนจำนวนเท่ากับที่ตนเองรับประทานวันละมื้อเท่ากับวันที่มีการถือศีลอด
        หลังพระอาทิตย์ตกทุกวัน ในเดือนรอมฎอน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ชาวไทยมุสลิมชายหยิงที่บรรลุศาสนะภาวะแล้ว จะไปร่วมชุมนุมกันที่มัสยิด สุเหร่าประจำหมู่บ้าน เพื่อทำพิธีละหมาดตือราแวะห์ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ไม่เป็นการบังคับตามศาสนบัญญัติ ถ้าทำก็ถือว่าได้บุญกุศล หลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารว่าง เช่น ของหวาน ผลไม้ โดยชาวบ้านตกลงกันจะเป็นเจ้าภาพจัดอาหารว่างเลี้ยงแต่ละคืน เสร็จแล้วต่างแยกย้ายกลับบ้าน บางหมู่บ้านก็มีการเชิญ โต๊ะครู หะยี โต๊ะอิหม่าม เพื่อนบ้าน มาทำพิธีเลิกศีลอดด้วยกันบ้านใดบ้านหนึ่งหลังจากที่พระอาทิตย์ตกในบางคืน เพื่อเป็นการตอบแทนและหมุนเวียนการบริจาคซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสมัคคีในหมู่บ้านอีกด้วย (ฉวีวรรณ วรรณประเสริฐ. 2524, 72-73)