เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน

มือจับประตูศิลปะแบบจีน และกรอบบานหน้าต่างศิลปะแบบจีน    ที่มา : ชัยวัฒน์ ชินอุปราวัฒน์. 2553,54

หลังจากที่เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาทำลายหมดสิ้นในปี  พ.ศ.  ๒๒๒๓  ประชาชนที่เหลืออยู่ก็ย้ายชุมชนไปสร้างเมืองใหม่เป็นแห่งที่สองในบริเวณฝั่งแหลมสน  ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขาริมทะเล  ฝั่งตรงกันข้ามเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่ถูกทำลายลงไป  เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่เชิงเขา  ทำให้เมืองสงขลาแห่งที่สองประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดและพื้นที่ราบไม่เพียงพอต่อการขยายเมือง  ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อ  ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนนิยมใช้วัสดุที่ไม่คงทนถาวร  เช่น  ไม้  ใบจาก  ในลักษณะ  “เรือนเครื่องสับ”  จึงทำให้เหลือหลักฐานไม่มากนัก
                เจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนคนแรกได้รับการแต่งตังจากพระยาจักรีและพระยาพิชัยราชา  เป็นชาวบ้านธรรมดา  ชื่อว่า  “โยม”  ดำรงตำแหน่งเป็น  “พระยาสงขลา”  เจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน  และในเวลาเดียวกันก็มีพ่อค้าชาวจีนชื่อ  “นายเหยี่ยง  แซ่เฮา”  ซึ่งอพยพมาจาเมืองเจียงจิ้งหู  มณฑลฟูเจี้ยน  ได้เสนอทรัพย์สินพร้อมบริวารของตนแลกกับสัมปทานผูกขาดรังนกบนเกาะที่และเกาะห้าในทะเลสาบสงขลา  เจ้าพระยาจักรีและพระยาพิชัยราชาจึงได้แต่งตั้งให้นายเหยี่ยง  แซ่เฮา  เป็น  “หลวงอินทรคีรีสมบัติ”  นายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า
                พระยาสงขลาปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนจนถึงปี  พ.ศ.  ๒๓๑๗  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็แต่งตั้งให้หลวงอินทรคีรีสมบัติเลื่อนตำแหน่งเป็น  “หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ”  และให้เป็นเจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนเป็นคนถัดมา  เพราะเห็นว่าพระยาสงขลาปฏิบัติราชการได้ไม่ดี
                หลวงสุวรรณคีรีสมบัติเป็นต้นสายสกุล  “ณ  สงขลา”  และได้ปกครองเมืองสงขลามาถึง  ๘  รุ่น  ปัญหาหลักของการปกครองเมือสงขลา  คือ  การควบคุมหัวเมืองแขกต่าง ๆ  ให้อยู่ในความสงบโดยมเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับการรบหลายครั้ง  ทำให้เจ้าเมืองสงขลาในรุ่นต่าง ๆ  มีโอกาสแสดงความสามารถทางการรบหลายต่อหลายครั้ง  ในสมัยนั้นเมืองปัตตานีได้ถูกแยกออกเป็นเจ็ดหัวเมืองย่อย  และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองสงขลา  ซึ่งต่อมาชื่อเมืองต่าง ๆ  ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนนในครั้งตั้งเมืองใหม่ที่ฝั่งบ่อยาง  เมืองทั้งเจ็ดมีรายชื่อดังต่อไปนี้  เมืองปัตตานี  เมืองหนองจิก  เมือยะลา  เมืองรามันห์  เมืองยะหริ่ง  เมืองสายบุรี  เมืองระแงะ  และเมืองสตูล  ซึ่งเป็นเมืองสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของเมืองสงขลา  ในปี  ๒๓๗๙  รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๓  และตรงกับสมัยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี  (เถี้ยนเส็ง  ณ  สงขลา)  ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน  จากนั้นอีกไม่นานก็มีการย้ายเมืองอีก

แหลมสนอ่อน
PREVIOUS       NEXT