พระราชนิพนธ์เรื่อง  เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ (ต่อ)

   

พอมาถึงจวนข้าหลวงก็ตรงเข้าห้องพัก เป็นห้องกว้างและสบายที่นี่ไม่ค่อยร้อนเหมือนเมืองไทย ทั้งไม่มียุงด้วย  ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีมุ้ง  เราได้พักผ่อนชั่วครู่ภายหลังที่ได้เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย  หูยังอื้ออยู่เพราะเสียงเครื่องบิน  กินข้าวมื้อเย็นกับข้าหลวง  และรู้สึกดีใจเหลือเกินที่ได้หลับนอนตามสบาย  เพราะรุ่งเช้าพรุ่งนี้จะต้องบินต่อไปยังเมืองการาจี

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ก่อนที่จะออกเดินทางเราไปที่วัดพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งอยู่ในเมือง เข้าไปในโบสถ์แล้วจุดเทียน (เทียนไขเราดี ๆ นี่เอง) เอาดอกไม้ที่ข้าหลวงจัดมาให้บูชาพระ สมภารเจ้าวัดนี้เป็นคน ๆ เดียวกันกับที่ได้เคยต้อนรับเราเมื่อคราวมาเที่ยวที่แล้ว ที่วัดนี้เองเมื่อ ๘ ปีมาแล้ว พี่ชายของข้าพเจ้าได้มาปลูกต้นจันทน์... บนแท่นที่บูชายังมีรูปถ่ายเป็นรูปพี่ที่เคยมาด้วยกันกำลังตั้งท่าปลูกอยู่ทีเดียว  สมภารได้นำเราไปยังต้นจันทน์ต้นนั้น คาดว่าจะใหญ่โตแต่ดูไม่เจริญงอกงามเสียเลย สูงยังไม่เกินสองฟุต
เมื่อออกมาจากวัด มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาคอยเฝ้า บางคนยกมือขึ้นไหว้อย่างไทย ๆ เรา บางคนตบมือ บางคนตะโกนออกมาด้วยความพออกพอใจ มาถึงสนามบินเวลาประมาณ ๙.๐๐ นาฬิกา เราลาข้าหลวงและภริยาผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยนและให้ความเอื้อเฟื้อต่อเราเป็นอย่างดี แล้วขึ้นเครื่องบินจากมา
การเดินทางเป็นไปอย่างปกติ สจ๊วตนำอาหารมาให้เรากินตามเวลามิได้ขาด บางทีก็ได้รับรายงานจากนักบินแสดงด้วยแผนที่ให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้เราอยู่ตรงไหน  บางทีก็รายงานอากาศที่เราจะต้องประสบในเบื้องหน้า ตลอดจนความเร็วและระยะสูงของเครื่องบิน ฯลฯ  เป็นการเดินทางที่สะดวกและสบายดี...
ในตอนจวนจะถึงอากาศไม่สู้จะดีเหมือนที่แล้วมา  เพราะมรสุมกำลังตั้งเค้า  แต่เรากำลังจะถึงการาจีอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินบินเร็วทำเวลาได้ดีมาก เมื่อบินอยู่เหนือเมืองมองดูรอบ ๆ ลักษณะเป็นทะเลทรายเรา ดี ๆ นี่เอง  ช่างไม่มีชีวิตจิตใจเสียเลย  ที่ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นได้ก็เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ อยู่ในทำเลที่เหมาะ เครื่องบินลงถึงพื้นดินเมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา บินมาได้ ๘ ชั่วโมง  มีพวกข้าราชการมาคอยรับอยู่  ขึ้นรถตรงไปศาลาว่าการของรัฐบาลเป็นแขกของข้าหลวงเช่นเดียวกับที่เกาะลังกา
พรุ่งนี้เราจะต้องบินเป็นระยะทางไกล  ฉะนั้นจึงอยากนอนแต่หัวค่ำสักหน่อย แต่ว่าต้องกินข้าวกับข้าหลวงและคณะ  จำต้องสนทนาปราศรัยถึงเรื่องที่ไม่มีเรื่องเหมือนที่พวกฝรั่งนิยมกัน  เราเพลียมากรู้สึกว่าหลับได้อย่างง่ายดาย
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบินรถวิ่ง ๒๐ นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง  มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ  พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ข้างทางและตามประตู  พวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ ๆ กับที่นอน  และเขาทำกันอย่างนี้ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ในย่านการค้าเช่นนั้น
ประชาชนพลเมืองเหล่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น  สีของเสื้อผ้านั้นขาวหรือก็คงต้องเป็นสีขาวมาก่อน  ที่มาแลเห็นเป็นสีเทาไปมากกว่าสีขาวนั้นก็เพราะระคนปนไปกับฝุ่น  นอกจากนี้ยังได้เห็นวัวศักดิ์สิทธิ์ เดินท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามท้องถนนหลวง  จะไปไหนมาไหนไม่มีใครกล้าจะขับไล่  ไม่ว่าจะเกิดหิวขึ้นมาเมื่อไรพบร้านขายผักก็เดินเข้าไปเลือกกินได้ตามใจชอบ ส่วนเจ้าของร้านนั้นเมื่อวัวเข้าไปก็ถือว่าเป็นมงคล...

ถึงสนามบินเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา และบินออกในทันทีที่มาถึง  เครื่องบินบ่ายหัวตรงไปสู่ท้องทะเลด้วยอัตราความเร็ว ๓๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างจนสามารถมองเห็นเรือหาปลาเล็ก ๆ ในท้องทะเลได้ถนัด ทั้ง ๆ  ที่บินอยู่สูงถึง ๒,๕๐๐ เมตร ข้าเจ้าชอบเดินไปที่ ๆ นักบินขับบ่อย ๆ และนั่งลงข้าง ๆ ตรงที่นั่งของนักบินสำรอง ช่างมีเครื่องบังคับหลายอย่างเสียจริง ๆ บังคับปีก บังคับใบพัด เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และอื่น ๆ อีกมาก ในตอนต้น ๆ ออกจะงง ๆ แต่นักบินเป็นคนสุภาพมาก ได้พยายามชี้แจ้งให้เข้าใจถึงเครื่องทุก ๆ ส่วนที่มีอยู่
ที่ข้อมือนักบิน สังเกตเห็นว่าผูกนาฬิกาไว้ถึงสองเรือน เรือนหนึ่ง  ๖ นาฬิกา อีกเรือนหนึ่ง ๔ นาฬิกา แต่ของเราเองเป็น ๙.๓๐ นาฬิกา เขาอธิบายให้เข้าใจว่า  ๔ นาฬิกานั้นเป็นเวลาที่กรุงไคโรที่เรากำลังจะไป  และ ๙.๓๐ นาฬิกานั้นเป็นเวลาที่การาจี  เราจะไปไคโรจึงเลื่อนเข็มถอยหลังกลับไปสามชั่วโมงครึ่ง
ราว ๆ เที่ยงเราบินอยู่เหนือทะเลทรายอาหรับ มีหลุมอากาศหลายแห่ง ฝรั่งเรียกว่า “bump” เป็นลมสูงขึ้น  เกิดจากความร้อนของทรายจากเบื้องล่างที่ถูกพระอาทิตย์แผดเผา  หลุมอากาศเหล่านี้มีอยู่ตลอดทาง กระทั่งผ่านพ้นเขตของทะเลทรายนั้นไปคือราว ๑๔.๓๐ นาฬิกา การผ่านหลุมอากาศวับ ๆ หวำ ๆ เช่นนี้ไม่มีความสบายเลย  และความไม่สบายใจนี้ทวีขึ้นเมื่อพวกประจำเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า  หากเราจำต้องร่อนลงยังท้องทะเลทรายนี้แล้ว  ออกจะน่าวิตกอยู่มากที่ชาวพื้นเมืองเบื้องล่างนี้มิค่อยจะเป็นมิตรที่ดีของคนแปลกหน้านัก
ล่วงไปอีกชั่วโมงหนึ่งก็ผ่านคลองสุเอช  กำลังมีเรือแล่นเข้าคลอง  มีเรือรบขนาดหนักลำหนึ่งจอดอยู่ที่นั่น  ขนาดของเรือลำนี้เห็นจะหนักกว่าเรือศรีอยุธยาประมาณ ๑๕ เท่า  แม้กระนั้นมองดูช่างเล็กเหลือเกินเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลและความเวิ้งว้างของทะเลทรายอันมหึมานั้น
               เรามาถึงนามบินอันมาซา (Almaza) ใกล้ ๆ กับกรุงไคโรหลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา ๑๑ ชั่วโมง ๔๕ นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบิน ด้วยหลุมอากาศและด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ทำเราเอางงไปหมด...
เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่งและได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญ  ในตอนเย็นสมุหพระราชมณเฑียรของเจ้าฟารุดได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา  ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร  นอกประตูของห้องเรามีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่  ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา
               กรุงไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสมัยใหม่  แต่เบื้องหลังของตึกเหล่านี้มีบ้านกระจอกงอก
     ง่อยอยู่เป็นอันมาก  บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนจน  เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ  อีกตามถนน
    รถรางก็เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดห้อยโหนกันจนไม่มีที่ว่าง และล้วนแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปุปะไม่มี
   ชิ้นดี เป็นผู้ชายทั้งนั้นเกือบไม่มีผู้หญิงปะปนอยู่ด้วยเลย คล้าย ๆ กับที่การาจีอยู่มาก ผู้คนหลับอย่างแสน
    สบายตามสนามหญ้าข้างถนน รถยนต์มีมาก แต่เป็นรถรับจ้างที่ขับกันอย่างเร็วปรื๋อโดยมาก

วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  คืนนี้สบายดีแท้ถ้าไม่คำนึงถึงเสียงที่มาจากโรงหนังใกล้ ๆ ที่พัก กินอาหารเช้าแล้วก็ออกเดินทางไปสนามบินด้วยรถยนต์สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุคมาส่ง  และเชิญพระพรให้เดินทางโดยสวัสดีของพระองค์มาประทาน... ข้าพเจ้าตอบขอบพระราชหฤทัยและขอให้นำความไปทูลขอให้ทรงพระเจริญสุข  กับขออำนวยพรให้ประชาชนพลเมืองของพระองค์มีความสุขสำราญด้วย
รอบ ๆ  เครื่องบินมีตำรวจอียิปต์รักษาการณ์อยู่อย่างกวดขันยิ่งนัก เวลา ๘.๑๕ นาฬิกา เริ่มออกเดินทาง ต่อมาอีก ๔๐ นาที ก็ผ่านเมืองอาเลกซานเดรียเมืองท่าใหญ่ที่สุดของอียิปต์ วันนี้ต้องบินถึง ๙ ชั่วโมงกับ ๕๐ นาที จะถึงกรุงเจนีวาราว ๆ ๑๗.๐๕ นาฬิกา
ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยเมื่อสามวันที่แล้วเรายังอยู่เมืองไทย  และวันนี้เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตรกว่า... เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง  และช้าไปกว่ากำหนด ๑๕ นาที  เมื่อเวลา ๑๖ นาฬิกา ช้ามากขึ้นเป็นอีก  ๔๕ นาที  เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรนียน  บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่าง ๆ เกาะใหญ่ที่สุด คือ เกาะซารดิเนียและคอร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ ๑๖.๔๐ นาฬิกา  เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้นเราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว... จากขอบฟ้าสลัว ๆ ที่บดบังด้วยเมฆหมอกแลเห็นเมือง ๆ หนึ่งอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองนั้น ๆ  คือ เมืองเจนีวา  อันเป็นที่หมายปลายทางที่เรามาด้วยเครื่องบิน และเราจะต้องจากพวกประจำเรือไป คนประจำเครื่องบินเหล่านี้เป็นคนที่ดีต่อเรามาก  ได้ให้เครื่องถมเป็นที่ระลึกบินอยู่รอบเมืองรอบหนึ่งแล้วก็ร่อนลงสู่พื้นดินเมื่อเวลา ๑๗.๕๕ นาฬิกา
อธิบดีกรมพิธีการแห่งรัฐบาลสวิสได้มารับรับรองในนามของรัฐบาลแนะนำให้รู้จักกับบรรดาข้าราชการที่มารับ  นักเรียนไทย  อัครราชทูตไทย  และข้าราชการไทยก็พากันมารับด้วย รัฐบาลสวิสจัดรถยนต์ไว้ส่งเราถึงเมืองโลซานซึ่งอยู่ห่างจากเจนีวาไปราว  ๖๐ กิโลเมตร
อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย  อธิบดีกรมพิธีการได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาโดยคิดว่าข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้แล้วเป็นอย่างดีเพราะอยู่ที่นี่มาถึง ๑๔ ปีเศษแล้ว  เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้ แล้วเราก็คุยกันเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ได้ทราบต่อมาว่าเขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของเราชาวตะวันออกและพระพุทธศาสนาด้วย
พอถึง “วิลลาวัฒนา” เขาก็ลากลับอำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อท่านประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย
เรากลับถึงโลซานแล้ว... ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเข้าเรียนต่อไป...                                                                                                            ภูมิพลอดุลยเดช
----------------------------------------------------------
  ที่มา
  ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา.  “พระราชนิพนธ์เรื่องเมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่
สวิทเซอร์แลนด์”  วัฒนธรรมไทย 33 (ธันวาคม 2538): 12 – 18.

 
PREVIOUS    NEXT