ม.ล. ทวีสันต์ ลดาวัลย์ เขียนเล่าถึงพระอัจฉริยภาพด้านภาษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในเรื่อง “พร้อมพระปรีชาญาณด้านภาษา” ที่ลงพิมพ์ในหนังสือ “เพ็ญพระพิริยะเกินจะรำพัน” ๑ * ว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ดังความตอนหนึ่งว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญวัยในต่างประเทศ ทรงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กในต่างประเทศ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาละติน นอกจากนั้น ยังทรงโปรดงานช่างต่าง ๆ และดนตรีเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญวัยก็ได้ทรงศึกษาวิชาสาขาวิทยาศาสตร์...
“ในด้านภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาภาษาไทยเมื่อทรงเจริญวัยแล้ว เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาไทยบ้างเล็กน้อยจากพระอาจารย์ที่ไปถวายพระอักษรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จนิวัตพระนครครั้งสุดท้าย พระองค์จึงได้ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจัง เพราะทรงถือว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดของคนไทย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะกอปรด้วยทรงสนพระราชหฤทัยภาษาไทยอย่างมาก จึงทรงศึกษาได้รวดเร็ว และผลที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรกก็คือ พระราชนิพนธ์ ‘พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘’ ซึ่งทรงใช้ภาษาไทยเรียบง่าย ทำให้ราษฎรทราบถึงพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ ๘ ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎรและประเทศชาติตลอดเวลาแม้ในเวลาว่างราชกิจ
พระราชนิพนธ์ต่อมาที่อาณาประชาราษฎรยังฝังใจอยู่จนทุกวันนี้ก็คือเรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ ที่ทรงใช้ศิลปะของภาษาถ่ายทอดพระราชดำริของพระองค์ให้ผู้อ่านได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความผูกพันของพระองค์กับเมืองไทย และประชาชนของพระองค์ และความตั้งพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ที่จะต้องเข้าทรงศึกษา เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง”
------------------------------------------------------------------
๑* สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ |