นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า ๖๐ ปี ได้พระราชทานพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท แก่บุคคล และสถาบันต่าง ๆ มากมาย พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแต่ละองค์ทรงยึดหลักภาษาไทย มีทั้งพรรณนาโวหารอุปมาโวหาร เทศนาโวหาร และสาธกโวหาร หรือโวหารเปรียบเทียบ กล่าวได้ว่ามีในทุกลักษณะ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการธำรงรักษ์ภาษา ทรงตระหนักว่า “ภาษาเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติและเป็นรากฐานของสรรพวัฒนธรรมไทย”
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน” กับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน กระแสพระราชดำรัสในการอภิปรายแสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยต่อภาษาไทย ทั้งพระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการใช้คำในภาษาไทยหลายประการ ดังจะขออัญเชิญพระราชดำรัสบางตอนถึงความสำคัญของภาษาไทยความว่า
“การใช้ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี... ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน... เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้...”
และพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการออกเสียงว่า
“ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน ปัญหาเรื่องการออกเสียงนั้น ก็อันตรายอย่างยิ่ง นึกถึงคำว่า มหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ทางโทรทัศน์หรือทางวิทยุได้ยินว่า หมาวิทยาลัยกลายเป็นวิทยาลัยหมา ออกจะอันตราย ซึ่งเรายอมไม่ได้...”
ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้กำหนดวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ นับจากนั้นเป็นต้นมา หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรม นิทรรศการ การสาธิต การแสดง เกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมไทยเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ
ณ ที่นี้ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานคณะบุคคล และพสกนิกรไทยในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาไทย