พระราชนิพนธ์
เรื่อง  “พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง
“พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘” นี้ตามคำกราบบังคมทูล
ขอพระราชทานของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล
เพื่อให้พระราชานุกิจกรุงรัตนโกสินทร์ครบแปดรัชกาล
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ในเรื่อง “พระราชานุกิจ” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน
ในการพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙
*พระราชานุกิจ คือ กำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติพระราชกิจต่าง ๆ เป็นประจำทุกวัน
เป็นการส่วนพระองค์ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงประพฤติ
มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทำให้ผู้อ่านรัก
เคารพ และเทิดทูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งยังแสดงพระปรีชาญาณด้านภาษาไทย
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย
-----------------------------------------------------
*จากเรื่อง พระราชานุกิจ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระราชานุกิจ รัชกาลที่ ๘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดชทรงพระราชนิพนธ์

ตามปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นเวลาเช้าระหว่าง ๘.๓๐ นาฬิกา นอกจากทรงมีพระราชกิจบางอย่าง เช่น เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกรมกองทหารหรือสถานที่อื่น ๆ ก็ตื่นบรรทมเวลาย่ำรุ่ง หรือก่อนย่ำรุ่ง
เมื่อสรงและแต่งพระองค์แล้ว เสด็จมายังห้องพระบรรทมสมเด็จพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีก่อน  แล้วจึงเสด็จเสวยเครื่องเช้าพร้อมกันที่มุขพระที่นั่งด้านหน้าเวลาราว ๙.๐๐ นาฬิกา ถึง ๙.๓๐ นาฬิกา บางวันทรงพระอักษรหรือตรัสเรื่องต่าง ๆ กับสมเด็จพระราชชนนี
เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๐.๓๐ นาฬิกา ราชเลขานุการในพระองค์เฝ้าถวายหนังสือราชการทุกวันอังคารและวันศุกร์ ถ้ามีงานพระราชพิธีก็เสด็จพระราชดำเนินตามกำหนด
เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง สับเปลี่ยนกันเป็น วัน ๆ  ดังนี้ คือ
๑.  ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา
๒.  ข้าราชการในกระทรวงและกรมต่าง ๆ ผลัดกันเข้าเฝ้าถวายรายงานกิจการตามหน้าที่ บางวันมีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๓.  เสด็จพระราชพิธี
๔.  ถ้าไม่มีการเฝ้าหรือพระราชกิจอื่นใดก็มักจะทรงพระอักษร บางวันทรงรถยนต์ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา เสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา เสวยเครื่องฝรั่งและไทย ส่วนเครื่องเสวยนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ลดจำนวนโดยเฉพาะเครื่องฝรั่งซึ่งเคยตั้งโต๊ะเสวยมาก่อนนั้นลงบ้าง ด้วยทรงพระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ที่ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยในบางโอกาส บางวันเสด็จเสวยกลางวันอย่างปิคนิคที่ริมสระในสวนศิวาลัย
ตามธรรมดาเสวยเสร็จภายในเวลาประมาณ ๔๕ นาที แล้วเสด็จจากโต๊ะเสวย ทรงปราศรัยเรื่อง ต่าง ๆ กับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยต่อไป ถ้าไม่มีผู้ใดเฝ้าก็ทรงพักผ่อน
เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง ดังนี้

๑.  ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา
๒.  ข้าราชการ ชาวต่างประเทศ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๓.  หากไม่มีพระราชกิจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มักจะทรงสำราญพระราชหฤทัยกับสมเด็จพระ  อนุชา
เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา เสวยเครื่องว่างบนพระที่นั่งเป็นปกติ นอกจากบางครั้งเสด็จลงเสวยที่ริมสระน้ำในสวนศิวาลัย เสวยเครื่องว่างแล้วถ้าไม่มีงานพระราชพิธีหรือไม่ทรงมีพระราชกิจอื่นใด ก็เสด็จวังสระปทุมเฝ้าเยี่ยมสมเด็จพระอัยยิกาบ้าง เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติอื่นบ้าง มิฉะนั้นก็เสด็จประพาสพระนคร ทอดพระเนตรพระอารามและสถานที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ถ้าไม่เสด็จประพาสหรือมีพระราชกิจอื่นใดก็มักจะเสด็จลงทรงสำราญพระอิริยาบถกับสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา หรือทรงกีฬาบางอย่างเพื่อเป็นการบำรุงพระราชอนามัย แล้วเสด็จขึ้นทรงพักผ่อนเวลาประมาณ  ๑๘.๐๐ นาฬิกา
  เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา เสด็จลงประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา บางวันโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วย เสวยเสร็จแล้วทรงปราศรัยเรื่องต่าง ๆ กับผู้มาร่วมโต๊ะเสวยภายหลังเวลาเสวยแล้ว ทรงพระราชกิจเปลี่ยนแปลงเป็นวัน ๆ ดังนี้ คือ
๑. พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๒. ทรงพระสำราญในการดนตรีกับสมเด็จพระอนุชาพร้อมด้วยนักดนตรี หรือผู้สนใจในการดนตรีที่ เข้ามาเฝ้าร่วมด้วย
๓. บางวันเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละคร หรือทรงฟังดนตรีในโรงละครสวนศิวาลัย
๔. บางวันเสด็จทรงรถพระที่นั่งประพาสพระนครเป็นไปรเวต บางทีทรงขับเอง
๕. บางวันทรงพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาและมหาดเล็ก ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์แล้วเสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีก่อนบรรทม  เสด็จเข้าที่พระบรรทมประมาณเวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา เป็นปกติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเสด็จประพาสเยี่ยมประชาชนภายนอกเขตพระนคร ได้เสด็จตามท้องที่จังหวัดและอำเภอใกล้เคียง มีอำเภอสมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี  พระประแดง ปากเกร็ด สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และบางเขน ภายในเขตต์พระนครได้เสด็จประพาสเยี่ยม     สำเพ็งเพื่อให้ประชาชนชาวต่างชาติได้เฝ้าด้วย
พระราชกิจที่ทรงปฏิบัติในระหว่างเวลาเสด็จประพาสมีดังนี้ คือ
๑.  ทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญในท้องที่
๒.  เสด็จเยี่ยมสถานที่ราชการในท้องที่
๓.  ทอดพระเนตรกิจการในสถานที่สำคัญ ๆ เช่น โรงงานและทอดพระเนตรการประกอบอาชีพ เช่น การทำนา การจับปลา การหัตถกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
๔.  ทรงปราศรัยต่อประชาชนด้วยเครื่องกระจายเสียง
๕.  ทรงปราศรัยต่อประชาชนเป็นรายบุคคล
๖.  ทอดพระเนตรการเล่นหรือการแสดงถวาย
๗.  พระราชทานรางวัลแก่ประชาชนที่นำของขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ในการเสด็จประพาสทั้งทางบกทางน้ำนี้ เสด็จพระที่นั่งในเวลาเช้า บางครั้งก่อนเสวยเครื่องเช้า บางครั้งภายหลัง เมื่อเสด็จก่อนเครื่องเช้าก็มักจะเสวยแต่เพียงเล็กน้อยก่อนเสด็จ และเสวยเครื่องเช้าในเรือพระที่นั่งบ้าง หรือสถานที่ ๆ เสด็จประพาสบ้าง
เสวยเครื่องกลางวันประมาณเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา หรือ ๑๓.๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร่วมโต๊ะเสวยด้วย เสวยแล้วทรงพักผ่อนเล็กน้อยก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระราชกิจต่อไปในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระบรมมหาราชวังเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา โดยมาก

-------------------------------------------------------------------------------------
                        ที่มา           ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา.  “พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8.”    
              วัฒนธรรมไทย 33   (ธันวาคม 2538): 9 – 11.

PREVIOUS    NEXT