รูปแบบของกริชในดินแดนที่มีวัฒนธรรมกริช
                คตินิยมของการใช้กริชในบริเวณคาบสมุทรมลายู  และบริเวณใกล้เคียงมีขึ้นอย่างกว้างขวางจากอิทธิพลของชวา  ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบของกริชไปตามกลุ่มวัฒนธรรม  จนมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว  G.C.Woolley  ได้จำแนกกลุ่ม
ของกริชไว้ในหนังสือเรื่อง  The  Malay Keris:Its origin and development  (1947)  โดยอาศัยรูปแบบของด้ามและฝักเป็นหลัก
  ได้  7  กลุ่ม  (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  เล่ม  1. 2529 : 46)  คือ
                (1)  กริชแบบสกุลช่างบาหลีและมูดูรา
                      กริชกลุ่มบาหลีและมูดูรา  เป็นกริชของชวาฮินดู  ด้ามกริชมักแกะสลักเป็นรูปบุคคลลักษณะเหมือนจริง
มากกว่าเป็นแบบนามธรรม  และมีความเป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัด  2  แบบ  คือแกะสลักเป็นรูปยักษ์หรือรูปรากษสและแบบเทพยดาที่ทรงเครื่องแบบตัวละครในนาฏศิลป์ของบาหลี  ทั้ง  2  แบบ
จะแสดงรายละเอียดต่าง ๆ  ไว้ชัดเจนไม่ว่า  ตา  หู  จมูก  คอ  มือ  เท้า  ตลอดจนเส้นผมและหนวดเครา
  และเสื้อผ้าอาภรณ์  ฝักกริชแบบบาหลีมี  2  แบบ  ที่นิยมกันและตรงกับของชวา  คือ  แบบกายามันและแบบลาดรังงัน  แต่แบบกายามันของบาหลีมีความมนกลมมากกว่า  มีลักษณะคล้ายลอนตาลหรือเมล็ดลูกสะบ้า  ส่วนฝักกริชบาหลีแบบลาดรังงันปีกฝักลักษณะคล้ายตัวเรือและมีความหนาเทอะทะกว่าของชวาและนิยมสลักลวดลาย
ในเนื้อไม้มีทั้งลายเครือเถาและลายหน้ากาล

ด้ามกริชแบบสกุลช่างบาหลี   ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,82

(2)  กริชแบบสกุลช่างชวา
                       กริชกลุ่มชวา  ด้ามกริชแบบชวามองดูคล้ายกับศิวลึงค์หรืออวัยวะเพศชาย  ปลายด้ามโค้งมนคล้ายเมล็ดถั่ว  หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์  บริเวณโคนด้ามเป็นปุ่มมน  มีการแกะสลักเพียงเล็กน้อยตรงบริเวณใต้จุดที่หักงอของด้ามและบริเวณโคนด้ามส่วนที่เหลือจะเกลาจัดเรียบฝักกริชแบบชวา  มี  2  แบบ  คือ  แบบกายามัน  ปีกฝักจะมีรูปคล้ายผลมะม่วงและแบบลาดรังงัน   ของชวามีลักษณะคล้ายรูปเรือแต่ด้านหัวจะม้วนโค้ง  ด้านท้ายจะเชิดงอนและเรียวแหลมกว่าแบบลาดรังงันของบาหลี  ก้านฝักของชวานิยมสวมปลอกเงินหรือทองเหลืองทั้งแบบเรียบและดุนลาย  ปลายฝักมีลักษณะโค้งมนคล้ายปลายนิ้วมือ

กริชชวาฝักแบบกายามัน      ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,83

กริชชวา  ฝักแบบลาดรังงัน     ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,83

(3)  กริชคาบสมุทรตอนเหนือ
                     กริชกลุ่มคาบสมุทรตอนหนือ  ด้ามกริชรูปแบบคล้ายคนนั่งกอดอก  เอียงไหล่ตะแคงหน้า  บนศีรษะมีครีบแหลมคล้ายหงอนไก่  ในภาคใต้เรียกด้ามกริชแบบนี้ว่า  “ด้ามกริชหัวลูกไก่”  หรือ  “ด้ามกริชหัวลูกไก่ตายโคม”  ชาวมลายูในภาคใต้ตอนล่างเรียกว่า  “ด้ามกริชแบบอาเนาะอาแย”  แปลว่าด้ามกริชหัวลูกไก่เช่นกัน  ส่วนชาวมุสลิมในมาเลเซียเรียกว่า  “ฮูลูยาวาเดมัน”  แปลว่าด้ามกริชแบบชวาป่วย  เพราะดูคล้ายคนป่วยนั่งจับเจ่ากอดอกคอตกตะแคง  ส่วนฝักกริชแบบกลุ่มคาบสมุทรตอนเหนือ  มีรูปแบบเรียบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ปีกฝักมีเหลี่ยมมุมคมชัด  เชื่อกันว่าฝักกริชของกลุ่มนี้ดัดแปลงมาจากรูปแบบของฝักกริชบูกิส  และเป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในคาบสมุทรมลายู

                                          
                                                                                       กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ                     

                                                                                                                                            กริชหัวลูกไก่ตายโคม
                                                                                                                                   -ใบกริช  แบบตรง  แบบโสปติ สกุลช่างชวา
                                                                                                                                  - ด้าม  แบบหัวลูกไก่ตายโคม    (ยาวาเดมัน)
                                                                                                                                  - ฝัก  แบบบูกิส
                                                                                                                                       ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,84

                                                                 
                                                                                                       
                                                                                       

(4)  กริชแบบสกุลช่างบูกิส
                       กริชกลุ่มบูกิส  กริชกลุ่มนี้มีต้นกำเนิดมาจากชาวบูกิสในเกาะสุลาเวสี  หรือเกาะซีลีเบสหรือเกาะมักกะสัน  ด้ามกริชของกลุ่มบูกิสคล้ายแบบลูกไก่ตายโคม  แต่จะไม่มีมือกอดอกด้ามกริชแบบนี้ชาวไทยพุทธในภาคใต้เรียกว่า  “ด้ามกริชแบบหัวจังเหลน”  หรือ  “หัวจังเหลนคอยบ่อ”  เพราะมีลักษณะคล้ายกับตัวจังเหลน  (จิ้งเหลน)  ชาวมุสลิมในภาคใต้เรียกว่า  ฮูลูกะด๊ะ  (ด้ามกริชแบบฝักลูกเนียงนกซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านชนิดหนึ่ง)  ชาวมุสลิมบางกลุ่มเรียกว่า  “ฮูลูแลแบ็ง”  ปีกฝักของกริชกลุ่มบูกิสมีเหลี่ยมมนไม่มากและไม่ชัดเจนเหมือนอย่างแบบของกลุ่มคาบสมุทรตอนเหนือ

กริชแบบสุมาตรา  ด้าวหัวไม้เท้า  ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,85

(5)  กริชแบบสกุลช่างสุมาตราหรือกริชอาเนาะแล
                       กริชกลุ่มสุมาตรา  มีต้นกำเนิดในเกาะสุมาตรา  ด้ามกริชกลุ่มนี้ที่พบมามากมี  2  แบบ  คือ  แบบด้ามหักมุมคู้งอคล้ายหัวไม้เท้า  และแบบหัวลูกไก่  ฝักกริชแบบนี้ลักษณะเด่นอยู่ที่ส่วนปีกฝัก  ซึ่งมีรูปคล้ายหางปลา  หรือคล้ายพระจันทร์เสี้ยว  ชาวมุสลิมในภาคใต้เรียกกริชแบบสุมาตราที่มีฝักและด้ามดังกล่าวแล้วว่ากริชอาเนาะและหัวไม้เท้า   หรืออะเนาะแลหัวลูกไก่ แล้วแต่ลักษณะของด้าม
(6)  กริชแบบซุนดัง
                       เป็นกริชกลุ่มที่นิยมใช้กันในกลุ่มมุสลิมโมโรในเกาะมินดาเนาของประเทศฟิลิปปินส์  ส่วนแหล่งกำเนิดยังไม่แน่ชัด  เป็นกริชขนาดใหญ่  ชนิดใบกริชตรงมีลักษณะคล้ายกระบี่หรือดาบสองคมของจีน  บางเล่มกว้างถึง  3  นิ้ว  และยาวถึง  27  นิ้วก็มี  มีทั้งแบบใบกริชตรงและใบกริชคตด้ามกริชกลุ่มซุนดังมีลักษณะคล้ายหัวนกกระตั้ว  เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือ  กั่นกริชแบบนี้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมแบน  ต่างกับของกลุ่มอื่น ๆ  ทั้งหมดที่ล้วนมีกั่นเป็นลักษณะกลม  ฝักของกริชกลุ่มซุนดังไม่มีรูปแบบของตนเอง  ใช้ฝักแบบอาเนาะอะแล  ก็มี  ฝักแบบบูกิส  ก็มี



กริชแบบซุนดัง    ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,86

(7)  กริชแบบสกุลช่างปัตตานี

                              กริชกลุ่มปัตตานี  กริชกลุ่มนี้มีการพัฒนารูปแบบจนมีอัตลักษณ์ทั้งฝักและด้ามจึงเรียกกันว่า  กริชแบบปัตตานี  นิยมใช้กันในพื้นที่  ปัตตานี   ยะลา  นราธิวาส  และบางส่วนของสงขลาและสตูล  ด้ามกริชจะแกะสลักจากไม้เป็นรูปยักษ์หรือรากษสตามคติความเชื่อแบบฮินดู-ชวา  แต่จะมีจมูกยาวงอน  นัยน์ตาถลนดุดัน  ปากแสยะ  มองเห็นไรฟันและเขี้ยวอันแหลมและงอนโค้ง ส่วนที่เป็นเส้นผมและเคราตลอดจนเครื่องประดับช่างรังสรรค์ให้เป็นกระหนกเครือเถาที่มีความงามวิจิตรแฝงไว้ด้วยอำนาจและพลังลึกลับ  เนื่องจากด้ามกริชแบบปัตตานีมีรูปเป็นยักษ์แต่จมูกยาวงอน  คนทั่วไปในชั้นหลังจึงมองเห็นเป็นแบบ  “หัวนกพังกะ” หรือนกกระเต็น   จึงเรียกกันว่า  “กริชหัวนกพังกะ”  (Keris Pekaka)  ส่วนชาวมุสลิมในภาคใต้เรียกว่ากริชตะยง  (Keris Tajong)  เฉพาะกริชที่ด้ามไม่มีเคราใต้คางบางท้องถิ่นเรียกว่า  กริชจอแต็ง  ฝักกริชแบบปัตตานีมีรูปคล้ายเรือ  ก้านฝักมีลักษณะป้อม-มน  และยาวขนาน  ฝักมี  2  แบบใหญ่แบบรุ่นเก่าทำจากไม้ชิ้นเดียวนำมาเจาะคว้านและเกลาจนเป็นฝักกริช  แบบรุ่นหลังจะทำแบบนำเอาไม้มาต่อเข้าเดือยเป็นส่วน ๆ  มีชนิด  2  ชิ้นก็มี  3  ชิ้นก็มี ฝักกริชรุ่นเก่านิยมทำจากไม้ประดู่หอม  รุ่นหลังนิยมทำจากไม้แก้วดีปลี  นิยมเคลือบเงาฝักกริชด้วยยางจากต้นชนวน  ซึ่งเป็นไม้พื้นบ้าน  ฝักกริชแบบปัตตานี  ไม่นิยมสวมปลอกด้วยเงินหรือโลหะชนิดอื่น

 

กริชแบบแดแป๊ะ     และ    กริชแบบตะยงหรือปาแนซาฆะห์    ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,86
<<< PREVIOUS     NEXT >>>