วิถีและพลังกริชด้านคติชน

จากการศึกษาของ  Edward Frey  เรื่อง  The Kris mystic Weapon of the Malay World,  1986  (พ.ศ. 2529)  ระบุว่า  นับแต่ชาวดัชท์และชาวอังกฤษมาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  22  เป็นต้นมา  กริชไม่ได้เป็นอาวุธ
พกพาเพื่อป้องกันตนแล้ว  สิทธิที่จะพกพาอาวุธค่อยชะงักลงเพราะพวกล่าเมืองขึ้นชาวตะวันตก  ค่อย ๆ  บังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมของตนเองแก่สังคมพื้นเมือง  แต่เนื่องจากกริชมีวิถีและพลังตามคติชาวบ้าน
ของชวามายาวนาน  คติบางอย่างจึงยังสืบทอดต่อมาตราบจนปัจจุบัน  คติเหล่านั้นหลายอย่างสอดคล้องกับที่ปรากฏ
ในภาคใต้ตอนล่าง  มีบางส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะแก่บริบทของสังคมไทยพุทธและไทยมุสลิม  (ข้อความที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศและพิมพ์ตัวหนาต่อไปนี้เป็นผลจากการศึกษาของ  Edward Frey)  เช่น
                “กริชยังคงอยู่สำหรับพิธีการเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมอันกริชนั้นเป็นสื่อ  โลกมลายูใช้กริช
ในโอกาสสำคัญและยิ่งใหญ่  ซึ่งเมื่อใช้กริชก็หมายความว่างานนั้นสำคัญเป็นพิเศษ  ประวัติการใช้กริชในพิธีการและ
พิธีกรรมเก่าแก่พอกับตัวกริชเอง”

                ในประเทศมาเลเซีย  เมื่อมีพระราชพิธีราชาภิเษกหรือสถาปนาสุลต่านเป็นพระราชาธิบดี  ต้องมีกริชในพิธีกรรมนั้นเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ  พิธีกรรมเช่นนี้เคยมีในการสถาปนาเจ้าเมืองใน 
7  หัวเมืองมลายูของภาคใต้ด้วย  บางเมืองของมลายูในอดีต  เช่น  เมืองเปรัคจะมีกริชประจำบัลลังก์  ซึ่งมีความเชื่อด้วยว่าเป็นกริชที่ได้รับพระราชทานมาจากสวรรค์
                กริชประจำเมืองของเจ้าเมืองระหริ่ง  ทายาทยังคงเก็บรักษาสืบทอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ 
แต่เดิมเคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของเมืองนี้  ปัจจุบันยังใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญ  เช่น  พิธีโกนผมไฟ  ขึ้นเปล  เข้าสุหนัตของทายาทในสายตระกูลนี้  โดยจะนำกริชวางบนพานที่มีผ้าเหลืองปูรอง  ผ้าเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของวรรณะกษัตริย์ตามคติของฮินดูที่สืบทอดมาสู่ชวา-มลายู
                มีเรื่องมากมายที่กล่าวถึงการใช้กริชเป็นองค์ประกอบพิธีกรรมให้คำสาบาน  การให้คำสาบาน  (เบอร์ซุมปะ)  มักคู่กับวัตถุศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ที่ใช้สาบาน  (เกะระมัด)  เมื่อทั้งสามองค์ประกอบบริบูรณ์และสุดยอดก็จะไม่มีคนมลายูคนใดกล้าสวดคำสาบานนั้น  “สถานที่สาบานบางทีก็เป็นหลุมฝังศพ....กระบวนการให้คำสาบานที่ทำกันมากที่สุด  ประกอบด้วยการพรมน้ำมะนาว
ลงบนใบกริช  กรดน้ำส้มจะกัดใบกริชทำให้เกิดรอยสนิมเป็นคราบจับอยู่  เมื่อผสมกับน้ำก็ขม  คนที่จิบเข้าไปจะมี
รอยด่างที่ริมฝีปาก  รอยด่างนี้เป็นสัญญาณตราว่าถ้าผิดคำสาบานก็จะต้องรับเคราะห์”

                ที่ลัมปง  (สุมาตราใต้)  ใช้สาบานด้วยการจุ่มปลายกริชลงในน้ำแล้วคนที่สาบานใช้ลิ้นแตะน้ำที่หยดจาก
ปลายกริชพร้อมทั้งกล่าวคำสาบานว่า จะยอมรับโทษ  ถ้าไม่รักษาคำสาบานในสุมาตรา  โดยทั่วไปเมื่อมีการปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อผู้ครองท้องที่ก็จะนำกริชเก่าที่เป็นสนิทหรือกริชที่มีลักษณะ
พิเศษจุ่มลงในน้ำให้คนที่จะสาบานค่อย ๆ  ดื่มน้ำนั้นพลางประกาศคำสาบาน  อันเป็นสูตรศักดิ์สิทธิ์มีความหมายว่า  “ถ้าข้าพเจ้าทรยศก็ขอให้กริชนี้ผลาญข้าพเจ้าเสีย”

พิธีกรรมการให้คำสาบาน  โดยดื่มน้ำสาบานของชาวไทยภาคใต้ทั้งตอนล่างและตอนกลาง  นิยมกระทำกันในกรณีสาบานตนเป็น  “อ้ายเกลอ”  หรือ  “เป็นเกลอ”  (เป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานแบบตายแทนกันได้)  โดยใช้กริชหรืออาวุธประจำตัวของผู้ร่วมสาบานชนิดอื่นก็ได้  เช่นมีดบาแดะ  มีดหางไก่  หอก  ลูกขวาน  (ขวานขนาดเล็กใช้สำหรับพกพา)  เป็นต้น  ใช้แช่น้ำเพื่อดื่มร่วมกัน  บางครั้งมีการกรีดเลือดผู้ร่วมสาบานผสมลงไปด้วย  แล้วกล่าวคำสาบานว่าถ้าผิดคำสาบานให้ตายด้วยอาวุธชนิดนั้น ๆ การสาบานเช่นนี้มีในการสาบานตัวเป็นสมุนโจรของชุมโจรบางกลุ่มด้วย  เช่น  ชุมโจร  รุ่ง  ดอนทราย  ซึ่งใช้วัดกุฏ  (วัดสุวรรณวิชัย)  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  เป็นสถานที่ประกอบพิธี  บางครั้งใช้ในการสาบานเพื่อจับเท็จก็มี
                คำพังเพยชวาโบราณ  ซึ่งกลุ่มผู้รู้ซอลยัม  (1978)  ได้แปลเป็นภาษาชวาปัจจุบัน  ว่าสิ่งคำคัญ  5  อย่าง  ที่เป็นสมบัติล้ำค่าอันเป็นศักดิ์และศรีของชายชวา  ได้แก่  วิสมา  (wisma = บ้าน, คฤหาสน์)  วานีตา  (wanita = ภรรยา)  กุกิละ  (kukila = นก)  ตุรงกะ  (turongga  =  ม้า  จุริกะ  (curiga  =  อาวุธ  คือ  กริช)
                คติดังกล่าวนี้สอดคล้องกับที่ชายโบราณในภาคใต้ตอนล่าง  และบางส่วนของภาคใต้ตอนกลาง  เชื่อถือกันในลักษณะเป็นศรีสง่าเสริมบารมีและบางอย่างก็เป็นสิริมงคล  นำโชคลาภจะเห็นว่าทั้งถ้วยคำและวิถีความเชื่อบ่งเค้าอิทธิพลของวัฒนะรรมฮินดู-ชวา  เช่น
                วิสมา  หมายถึง  บ้านเรือนที่สงบสุข  ร่มเย็น  งามสง่า  และมีสภาพเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ  วานีตา  คือ  ภรรยาที่เป็นแม่ศรีเรือน  มีความเป็นกุลสตรี  มีรูปสมบัติอันพึงเสน่หา  คำว่าวานีตา  (wanita)  หรือ  “วนิดา”  ในบริบททางสังคมชวา  Noriah Mohamed  อธิบายว่า    wanita  เป็นคำสมาสระหว่างคำ  “wani”  แปลว่ากล้าหาญ  และคำ  “nata”  แปลว่า  ระเบียบ, แบบแผน  ดังนั้น  wanita  จึงหมายถึงผู้  (หญิง)  ที่กล้ายืนหยัดอยู่ในกรอบแบบแผนและกฎระเบียบ  คุณสมบัติของหญิงตามทัศนะของชาวชวานั้น  มี  4  ประการ  คือ  (1)  macak  (มาจะ)  ผู้รู้จักดูแลตนเองทั้งภายนอกและภายใน  (2)  manak  (มานัก)  ผู้สามารถให้กำเนิดและเลี้ยงบุตรของตน  (3)  masak  (มาสัก)  ผู้ปรุงอาหารเป็นและรู้จักจัดเตรียมอาหาร  (4)  mlumah  (มลูมัฮ)  ผู้รู้จักปรนนิบัติสามี  ตลอดจนดูแลบุตรธิดาและผู้อื่น  (noriah Mohamed,  1992 : xxxiii)  ส่วนคติการเลือกหญิงมาเป็นแม่ศรีเรือนของชาวภาคใต้โบราณจะต้องให้มีลักษณะเป็นกุลสตรีที่บริบูรณ์  ถ้ายิ่งมีลักษณะเป็นเบญจกัลยาณีและต้องด้วยตำรานรลักษณ์  ไม่อัปลักษณ์  ตลอดถึงลักษณะนมและน้ำนมที่เป็นคุณลักษณะก็ยิ่งวิเศษ  นก  ชายไทยมุสลิมระดับสามัญชนในภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวากันอย่างแหร่หลาย  เลือกสรรกันอย่างเคร่งครัดเฉพาะที่เป็นมงคลและต้องโฉลกกับผู้เป็นเจ้าของ  มีตำราดู

กริชมัชปาหิต  เป็นกริชยุคแรก ด้าม เป็นรูปเทพเจ้าใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ประกอบพิธีกรรม  ส่วนกลางของใบกริช มีรอยแตกทะลุ 
                                                              ที่มา : สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2543,103                                                                                                       
<<< PREVIOUS        NEXT >>>