กาหลอ
          การประโคมกาหลอเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งในหลาย ๆ อย่างที่มีความสำคัญยิ่งของชาวภาคใต้ยึดถือมาแต่โบราณกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ว่าเป็นการประโคมที่ขลังและ
ศักดิ์สิทธิ์กว่าการประโคมหรือการละเล่นชนิดอื่นโดยเฉพาะเสียงปี่ นอกจากจะมีความไพเราะแล้วยังเป็นที่หวาดหวั่นสะพรึงกลัวของชาวบ้านโดยทั่วไปอีกด้วย
                การประโคมกาหลอมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวภาคใต้มานาน โดยเฉพาะชาวเมืองนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุงรู้จักหนังตะลุงและโนรา  แม้ว่าการประโคมชนิดนี้จะจำกัดอยู่เพียงงานศพ  งานบวชนาค  และงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น (๑)

 

ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547,66
ประวัติความเป็นมา
                การประโคมกาหลอจะมีขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ  แต่การประโคมชนิดนี้คงจะเป็นวัฒนธรรมของอินเดียที่แพร่กระจายเข้ามายังแหลมมลายูแต่ครั้งโบราณกาล  คำว่ากาหลอน่าจะมากจากคำว่า  “กาหลอ”  ซึ่งหมายถึง  แตรงอน,  อึกทึก, วุ่นวาย (๒) ก็อาจจะเป็นได้  แต่บางท่านก็กล่าวว่า  กาหลอเป็นคำประสมระหว่างคำ  “กา” กับ “หลอ”  “กา”  หมายถึง อีกา ส่วนคำว่า  “หลอ”  ในภาษาถิ่นใต้หมายถึง  ลื่นหลุดจากที่เกาะ  “กาหลอ”  ก็คือ  กาลื่นหลุดจากที่เกาะ  ซึ่งเป็นการกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่าดนตรีกาหลอมีความไพเราะวังเวงใจเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง (๓)
                กาหลอมีขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ  แต่จากตำนานที่เล่าสืบต่อมากันมายังสับสนอยู่มากนั้นพอจะสรุปได้ว่า  กาหลอน่าจะกำเนิดขึ้นในสมัยพุทธกาล  (ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดแน่ชัด)  ผู้ดำริให้มีขึ้นคือพระพุทธเจ้า  ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องประโคมแห่นำเศียรของมหาพรหม  การที่ใช้กาหลอประโคมแห่นำเศียรมหาพรหมมีตำนานประกอบเล่าสืบต่อกันมาเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้เล่นกาหลอดังนี้
มีพี่น้องคู่หนึ่งคือมหาพราหมณ์และมหาพรหม  วันหนึ่งมหาพรหมผู้น้องได้ถามปัญหาแก่มหาพราหมณ์ผู้พี่เรื่อง  “มนุษย์  3  ราศี”  เมื่อมหาพราหมณ์ตอบไม่ได้ก็ได้ให้เวลา 7 วัน เพื่อหาคำตอบ  ถ้าตอบไม่ได้ก็จะกระทำพิธีตัดเศียรของมหาพราหมณ์  แต่ถ้าตอบได้ตัวเองก็ยินยอมให้ตัดเศียรเช่นเดียวกัน  มหาพราหมณ์คิดตอบปัญหาอยู่จนกระทั่งเวลาล่วงไป 5 วัน  ก็ไม่สามามารถตอบได้   จึงหนีเข้าป่า 
_________________________
(๑)  ขุนอาเทศคดี  (กลอน  มัลลิกะมาศ)  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชรแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ  บ้านเลขที่  253  ถนนท่าชี  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ  ๑๑ ธันวาคม  ๒๕๒๒.
(๒)  ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์  “กาหลอ”  วิชชาฉบับชีวิตไทยปักษ์ใต้๒ (๑) : ๑๗๓, มิถุนายน – กันยายน 2519.
(๓)  ดิเรก  พรตตะเสน  ผู้ให้สัมภาษณ์  ชวน  เพชนแก้ว  ผู้สัมภาษณ์  ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อ ๑๑  ตุลาคม  ๒๔๒๒.
 
PREVIOUS >> NEXT