ชนิดของกฐิน
ตามพระวินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิด ๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของการทอดกฐินได้เป็นสองคือ
   จุลกฐิน
จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่า
การทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลา
อันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า
"ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำจุลกฐิน" ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชน
ทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น" (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)
เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ
ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย[3]
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ (เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐิน
ให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปสำหรับขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

มหากฐิน
มหากฐิน เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อหมายความถึงการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)

พระกฐินหลวง

        ในวันขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 11  ของทุกปีเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา  และตามพุทธบัญญัติได้กำหนดกาลนับแต่วันแรม  1  ค่ำ  เดือน  11 ไปจนถึงวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  12  เป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนจะพึงบำเพ็ญกุศลถวายผ้ากฐินแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษามาถ้วนไตรมาส
          การถวายผ้ากฐิน  เป็นประเพณีใหญ่และเอิกเกริกมโหฬาร  เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ  ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ท่านได้จารึกไว้ว่า
          “คนเมืองสุโขทัย  มักทาน  มักทรงศีล  มักโอยทาน  พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย  ทั้งชาวแม่  ชาวเจ้าท่วยปัว  ท่วยนาง  ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย  ทั้งผู้ชายผู้หญิง  ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน  เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว  เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย  มีพนมหมาก  มีพนมดอกไม้  มีหมอนนั่งหมอนโนน  บริพารกฐิน  โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน  ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกโพ้น  เมื่อจักเข้าเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน  ดำบงคำกลอยด้วยเสียงพาทย์  เสียงพิณ  เสียงเลื้อน  เสียงขับ  ใครจักมักเล่น  เล่น  ใครจักมักหัว  หัว  ใครจักมักเลื้อน  เลื้อน  เมื่องสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลัง  เทียนญอมคนเสียดกันเข้ามาดู  ท่านเผาเทียน  ท่านเล่นไฟ  เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก”
                จึงเห็นได้ชัดว่าเทศกาลกฐินนั้นเอิกเกริกมโหฬารประชาชนแน่นขนัดเพียงใด
                ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเอิกเกริกทัดเทียมกันหรือหาไม่  ยังไม่พบหลักฐานที่จะเปรียบเทียบ  แต่กฐินหลวงซึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนิน  ดูจะเป็นพิธีการยิ่งกว่าก่อน  เช่นมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราเป็นต้น  ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า  สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงได้ทรงสร้างวัดชัยวัฒนารามขึ้นในที่ดินซึ่งเคยเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระบรมราชชนนี  พระพันปีหลวง  และสร้างวัดราชหุลารามขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  ที่ทรงมีอยู่ก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชย์  เพื่อทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลพระราชทานพระชายาเดิมสองพระองค์ซึ่งหาพระชนม์ไม่แล้ว  เมื่อสร้างเสร็จถึงเทศกาลกฐินก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่  โดยเหตุที่ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่า  พระมหากษัตรย์พระองค์ก่อน ๆ ได้เคยเสด็จฯ  โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่สถลมารคไปถวายผ้าพระกฐิน  ฉะนั้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงอาจเป็นครั้งแรกก็ได้
                ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้ถือการทอดกฐินเป็นการบำเพ็ญกุศลที่สำคัญ  ซึ่งทั้งสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า  พระอัครมเหสี  พระราชวงศ์  ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั้งปวง  ต่างก็ได้บำเพ็ญกุศลนี้พร้อมเพรียงกัน

 

PREVIOUS>>>NEXT