เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”
เพลงนี้สืบเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจให้แก่บรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน มิให้ท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ต่อชาติ บ้านเมือง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำกลอนเตือนใจแล้วพิมพ์แจกเหล่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ต่อมาทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทำนองเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่มีการเขียนคำร้องก่อน แล้วทรงใส่ทำนองภายหลังเพลงนี้พระราชทานให้
ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียง เป็นเพลงที่ ม.ล.อัศนี เรียกว่า Functional Music คือเนื้อเพลงมาก่อน แล้วเจาะจงเพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะที่กำหนดไว้ แตกต่างจากยุคเดิมซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยตรง |
ความฝันอันสูงสุด
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป |
|
เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” และคำร้องนี้ คือ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจซึ่งได้จัดแข่งขันฟุตบอลการกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมานายสมภพ จันทรประภา ได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสนี้ มาประพันธ์เป็นกลอนถวาย และได้พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่ แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน
ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียงและโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่ วง อ.ส.วันศุกร์ได้เล่นเพลงนี้แล้ว ได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆ นี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับ ปรุงแก้ไขทำนอง มีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า “การแต่งแบบสหกรณ์”
เกร็ดการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ นายแมนรัตน์เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลง หรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยขึ้นมา เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ทรงเขียนเส้นโน้ตห้าเส้น บนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยฉับพลัน”
|
|
|
|
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว |
|
ในดวงใจนิรันดร์
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ดร.ประเสริฐ ณ นคร
อยากลืมลืมรักลืมมิลง
กลับพะวงหลงเพ้อเงา
เปรียบปานเพลิงรักรุมสุมเศร้า
เปลี่ยวเปล่าร้าวรอน
แต่เพียงกาลเวลาอันหมุนเวียน
ฤาอาจผลัดเปลี่ยนเบียนรักคลอน
รสรักจากกรสอดสวมกร
ยังถาวรติดเตือน
เมื่อยามอาทิตย์สอดคล้อยต่ำ
ย่ำยามท้องฟ้าเลือน
ยังหวังเชยชิดกันฉันเพื่อน
ติดเตือนตรึงใจ
สุดประพันธ์บรรเลงให้ครบครัน
วันอาจจะผ่านเวียนผันไป
รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน
ดวงใจนิรันดร์
|
เพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์” “STILL ON MY MIND”เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ส่งพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เดิมทรงตั้งชื่อเพลงว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind” ส่วนคำร้องภาษาไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์โดยแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษในลักษณะวรรคต่อวรรค และรักษาความหมายเดิมของคำร้องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย |
|
|
|