บทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง
           พระราชนิพนธ์อีกประเภทหนึ่งเป็นงานแปล ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งเป็นบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นประวัติบุคคลสำคัญ
           รายชื่อพระราชนิพนธ์แปลบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคม มี ๑๑ เรื่อง คือ
           ๑. “เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา” บทที่ ๔ เล็กดีรสโต จาก Small is Beautiful โดย E.F. Schumacher หน้า ๕๖-๖๓.

           ๒. “ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก “Radio Peace and Progress” ในนิตยสาร Intelligence Digest ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)

           ๓. “การคืบหน้าของมาร์กซิสต์” จาก “The Maxist Advance” Special Brief

           ๔. “รายงานตามนโยบายคอมมูนิสต์” จาก “Following the Communist Line”

           ๕. “รายงานจากลอนดอน” จาก “London Report” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕

           ๖. “ประเทศจีนอยู่ยง” จาก “Eternal Chinese” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

           ๗. “ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด” จาก “Surprising View from a Post-Allende Chile” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

           ๘. “เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น” จาก “Sauce for the Gander….” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

           ๙. “จีนแดง : ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก” จาก “Red China : Drug Pushers to the World” จากนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

           ๑๐. “วีรบุรุษตามสมัยนิยม” จาก “Fashion in Heroes” โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๙

           ๑๑. “ฝันร้ายไม่จำจะต้องเป็นจริง” จาก “No Need for Apocalypse” ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๕

           พระราชนิพนธ์ดังกล่าว มิได้พระราชทานให้พิมพ์เผยแพร่ ยกเว้นเรื่อง “ฝันร้ายไม่จำจะต้องเป็นจริง” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อัญเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ “เพ็ญพระพิริยะเกินจะรำพัน” ซึ่งสมาคมฯ จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

           พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ฝันร้ายไม่จำต้องเป็นจริง” เป็นบทความเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในยุคของนายกรัฐมนตรีแฮโรลด์ วิลสัน ซึ่งเผชิญกับวิกฤตการณ์รุนแรง คือปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหางบประมาณขาดดุล และปัญหาความมั่นคงของระบอบการเมือง มาตรการทางเศรษฐกิจที่นำมาแก้ไขวิกฤตดังกล่าว คือ การตัดรายจ่ายของรัฐลงอย่างเด็ดขาด การตรึงค่าจ้างแรงงานและการลดค่าเงินปอนด์ นอกจากทรงแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยทำให้ผู้อ่านเข้าใจและโยงเรื่องราวเข้ากับเรื่องใกล้ตัวของตนได้มากขึ้น ในภาคผนวกของบทความนี้ยังทรงอธิบายให้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ปัญหาเงินปอนด์สเตอริง ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง การลดค่าของเงินการเสื่อมค่าของเงิน งบประมาณขาดดุล ฯลฯ ทำให้ผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการเศรษฐกิจอ่านเข้าใจได้ไม่ยากและสามารถเปรียบเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในเมืองไทยได้ด้วย
 (พระราชอัจฉริยภาพ ด้านวรรณศิลป์   http://www.culture.go.th/)