ความหมาย
คำว่า "อัครศิลปิน" แปลตามศัพท์ว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ" หรือ "ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดี พระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก ในพระปรีชาสามารถ อย่างหาที่เปรียบมิได้ นอกจากนี้ ทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด

     จาก การประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่ง เมื่อวันพุธที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้พิจารณาเห็นว่า ศิลปินไทยเป็นจำนวนมากได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ให้แก่ประเทศชาติในสาขาต่างๆ ซึ่งมีทั้งดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ ทัศนศิลป์ นฤมิตรศิลป์และวรรณศิลป์ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนานาประเทศว่า เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมสูงส่ง แต่ศิลปินที่ได้สร้างสรรค์งานอันล้ำค่าเหล่านั้น นับวันจะถูกลืมโดยที่มิได้มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณ ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประชุมลงมติเห็นควรให้มีการประกาศเกียรติคุณของศิลปินที่ได้รับการยกย่อง เป็นที่ยอมรับกันทั่วประเทศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และเห็นพ้องต้องกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา เป็นต้นว่า ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ถ่ายภาพ หัตถศิลป์ ดนตรี พระราชนิพนธ์ วรรณศิลป์ วาทศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม ทรงได้รับการยกย่องสดุดีในพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัด บรรดาศิลปินต่างตระหนักในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้
        คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงเห็นชอบพร้อมกันเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรเทิดพระเกียรติให้เป็นที่ปรากฏแก่พสกนิกรและชาวโลก โดยขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวง และทรงมีคุณูปการได้ทรงอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด
        สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ถึงราชเลขาธิการ เพื่อโปรดพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ราชเลขาธิการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงยินดีรับ จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ ราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาตินำศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ๔ สาขาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวคำกราบบังคมทูลสดุดีพระเกียติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" และน้อมเกล้าฯ ถวายโล่ "อัครศิลปิน" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        เมื่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการเบิกศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งขอบใจที่ยกย่องพระองค์เป็นอัครศิลปินและได้พระราชทานพระบรมราโชวาทความว่า "คนที่ทำงานศิลปะก็ต้องรู้เรื่องวิชาการ และรู้หลักทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นแบบแผนต่างๆ ต่อไป งานวิชาการก็ทำนองเดียวกัน จะต้องรู้หลักวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีใจทางศิลปะจึงจะสามารถพัฒนางานนั้นให้ดีไปได้ และในทางวิทยาศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน ต้องมีความรู้ด้านวิชาการและต้องมีใจรัก ตั้งใจทำอะไรให้ดีขึ้น สรุปว่า ทั้งสามส่วนเป็นความสำคัญ ซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องกัน งานศิลปะมีความสำคัญต่องานทั้งปวง ศิลปินเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ สมควรจะยกย่องเชิดชูเกียรติต่อไป"
(อัครศิลปิน http://www.culture.go.th/wwwsupreme/)
เอกสารอ้างอิง :
อำนวย จั่นเงิน. อัครศิลปิน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาพลาดพร้าว, ๒๕๓๐
พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์   http://mtloveking.igetweb.com/index.php?mo=3&art=89433