แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระเจริญวัยและทรงเข้ารับการศึกษาที่ เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ก็ตามและถึงแม้พระองค์จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาละติน แต่เมื่อ พระองค์ทรงเจริญวัยก็ได้ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจัง ทำให้พระองค์ทรงใช้ ภาษาไทยได้เป็นที่จับใจประชาชน มาตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระอนุชาธิราช ครั้งหนึ่ง หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘ " เพื่อให้ พระราชานุกิจกรุงรัตนโกสินทร์ครบแปดรัชกาล ซึ่งพระ พราชานุกิจนี้สมเด็จกรม พระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าหมายถึง กำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรง ประพฤติพระราชกิจเป็นประจำทุกวันเป็นการส่วนพระองค์ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่น ดิน พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงประพฤติมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนิพนธ์ พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘ ซึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานใน การพระราชกุศล ๑๐๐ วันพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีดังนี้ "ตามปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรรทมตื่นเวลาเช้าระหว่าง ๘.๓๐ น. ถึง ๙.๐๐ น. นอกจาก ทรงมีพระราชกิจบางอย่าง เช่น เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกรมกองทหาร หรือสถานที่อื่นๆ ก็ตื่นบรรทมเวลาย่ำรุ่ง หรือก่อนย่ำรุ่ง เมื่อสรงและแต่งองค์แล้ว เสด็จมายังห้องพระบรรทมสมเด็จพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีก่อน แล้วจึงเสด็จเสวยเครื่องเช้า พร้อมกันที่มุข พระที่นั่งด้านหน้าเวลาราว ๙.๐๐ น. ถึง ๙.๓๐ น. บางวันทรงพระอักษร (หนังสือพิมพ์) ก่อนเสวย เสวยเสร็จแล้วทรงพระ อักษรหรือตรัสเรื่องต่างๆ กับสมเด็จพระราชชนนี เวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๐.๓๐ น. ราชเลขานุการในพระองค์เฝ้าถวายหนังสือราชการทุกวันอังคารและวันศุกร์ ถ้ามีงานพระราชพิธี ก็เสด็จพระราชดำเนินตามกำหนด เวลา ๑๑.๐๐ น. ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระอิริยาบถบ้าง สับเปลี่ยนกันเป็นวันๆ ดังนี้คือ ๑. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา ๒. ข้าราชการในกระทรวงและกรมต่างๆ ผลัดกันเฝ้าฯ ถวายรายงานกิจการตามหน้าที่ บางวันมีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้ทรง คุ้นเคยเข้าเฝ้าฯ ๓. เสด็จงานพระราชพิธี ๔. ถ้าไม่มีการเฝ้าฯ หรือพระราชกิจอื่นๆ ใดก็มักจะทรงพระอักษร บางวันทรงรถยนต์ในบริเวณ พระบรมมหาราชวัง เวลา ๑๒.๐๐ น. เสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา เสวยเครื่องฝรั่งและ ไทย ส่วนเครื่องเสวยนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ลดจำนวนโดยเฉพาะเครื่องฝรั่ง ซึ่งเคย ตั้งโต๊ะเสวยมาก่อนนั้นลงบ้าง ด้วยทรง พระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้คุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยในบางโอกาส บางวันเสด็จ ลงเสวยกลางวันอย่างปิกนิกที่ริมสระในสวนศิวาลัย ตามธรรมดาเสวยเสร็จภายในเวลา ๔๕ นาทีแล้วเสด็จจากโต๊ะเสวยทรงปราศรัยเรื่องต่างๆ กับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยต่อไป ถ้าไม่มี ผู้ใดเฝ้าฯ ก็ทรงพักผ่อน เวลา ๑๕.๐๐ น. ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง ๑. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา ๒. ข้าราชการ ชาวต่างประเทศ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้าฯ ๓. หากไม่มีพระราชกิจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มักทรงสำราญพระราชหฤทัยกับสมเด็จพระอนุชา เวลา ๑๖.๐๐ น. เสวยเครื่องว่างบนพระที่นั่งเป็นปกติ นอกจากบางครั้งเสด็จลงเสวยที่ริมสระน้ำ ในสวนศิวาลัย เสวยเครื่องว่าง แล้วถ้าไม่มีงานพระราชพิธีหรือไม่ทรงมีพระราชกิจอื่นใด ก็มักจะเสด็จลงทรงสำราญพระราชอิริยาบถกับสมเด็จพระราชชนนีและ สมเด็จพระอนุชา หรือทรงกีฬาบางอย่างเพื่อเป็นการบำรุง พระราชอนามัย แล้วเสด็จขึ้นทรงพักผ่อนเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. เวลา ๑๙.๐๐ น. เสด็จลงประทับโต๊ะเสวย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา บางวันโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะ เสวยด้วย เสวยเสร็จแล้วทรงปราศรัยเรื่องต่างๆ กับผู้มาร่วม่โต๊ะเสวย ภายหลังเวลาเสวยแล้ว ทรงพระราชกิจเปลี่ยนแปลงเป็นวันๆ ดังนี้ คือ ๑. พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้าฯ ๒. ทรงพระสำราญในการดนตรีกับสมเด็จพระอนุชา พร้อมด้วยนักดนตรีหรือผู้สนใจใน การ ดนตรีที่เข้ามาเฝ้าฯ ร่วมด้วย ๓. บางวันเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละคร หรือทรงฟังดนตรีในโรงละครสวนศิวาลัย ๔. บางวันเสด็จทรงรถพระที่นั่งประพาสพระนครเป็นไปรเวต บางที่ทรงขับเอง ๕. บางวันทรงพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาและมหาดเล็กภายในบริเวณ เสด็จมาเฝ้าฯ สมเด็จพระราชชนนีก่อน บรรทมเสด็จเข้าที่พระบรรทมประมาณเวลา ๒๒.๓๐ น. เป็นปกติ จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในหลายภาษา ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในการที่จะพระราชนิพนธ์หรือแปลได้อย่างผู้ที่เข้า ถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต้นฉบับ สำหรับพระราชนิพนธ์แปล จะทรงแปลตามความมากกว่าแปลตามคำ ด้วยเหตุที่ทรงเลือกสรรถ้อยคำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ผู้อ่านจะสื่อเรื่อง ราวได้ ทำให้พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ มีอรรถรสแบบไทยแทรกพระอารมณ์ขันไว้ได้อย่างเหมาะสม |