กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับ ปัญหาการใช้คำ และการใช้ภาษาไทย |
“ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือมนุษย์ชนิดหนึง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี” กระแสพระราชดำรัสเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย |
“ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิตตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ” พระบรมราโชวาท |
“ภาษายังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด รวมทั้งคุณธรรมความดีทุกอย่าง ผู้ที่เป็นครูและเป็นผู้นำทางศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความรู้ทางภาษาอย่างแตกฉาน เพื่อนำไปใช้ในการสอนวิชา การอบรมศีลธรรมจรรยา ตลอดจนการอธิบายหลักธรรมในศาสนาให้ได้ผลสมบูรณ์ตามภาระรับผิดชอบของแต่ละคน ความสามารถจัดเจนในภาษานี้ยิ่งมีสูงเท่าใด ก็จะอำนวยประโยชน์ให้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น” พระบรมราโชวาท
|
“การรู้ภาษาและอ่านเขียนได้นี้เป็นประโยชน์มาก ประการหนึ่ง ทำให้มีความสะดวกในการติดต่อ เช่น ติดต่อการงานกับทางราชการ หรือติดต่อประสานกับผู้ที่มาปฏิบัติงานพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งถ้าติดต่อพูดจากันได้ไม่ติดชัด ก็จะมีความเข้าอกเข้าใจกัน และสามารถร่วมมือกันทำงานสร้างความสุขความเจริญสให้เกิดขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง การอ่านเขียนหนังสือได้จะช่วยให้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต่าง ๆ ได้มากมาย และความรู้ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ภาษายังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด รวมทั้งคุณธรรมความดีทุกอย่าง” พระบรมราโชวาท
|
“การย่อความเป็นวิชาที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าไปฟังใครพูดและยิ่งพูดนาน ๆ ก็ต้องไปจับว่าเขาพูดว่าอะไร แล้วก็มาเรียงเป็นหัวข้อ เสร็จแล้วจึงจะสอนคนอื่นได้ ถ้าเราไม่มีระเบียบอยู่ในหัว เราจะไปสอนหรือไปเล่าให้คนอื่นก็ไม่ได้” พระราชดำรัส |
ข้อมูลจาก รักในหลวง ห่วงภาษาไทย ๒๕๔๔. กรุงเทพฯ : การศาสนา |