ลักษณะของเรือกอและ
                เรือกอและลำแรกได้ออกแบบสร้างขึ้นด้วยฝีมือชาวประมงในเขตกำปงตะลุแบ  ซึ่งในปัจจุบันคือ  ตำบลละลุบัน  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  สมัยก่อนเรือกอและทุกลำเป็นเรือหัวยาวท้ายยาว  ไม่มีการเขียนลวดลายใด ๆ  ทั้งสิ้น  ต่อมามีการวาดลวดลายบนเรือกอและถูกดัดแปลงเป็นเรือหัวสั้น  สีสันพิสดาร  เรือกอและเดิมเป็นเรือบด  หรือเรือขุด  ซึ่งใช้ต้นไม้ใหญ่มาขูดเป็นลำเรือและมีฝีพาย  สามารถนำออกทำการประมงชายฝั่งได้  นานวันเข้าต้นไม้เริ่มหายาก  จึงเปลี่ยนจากขูดมาเป็นเรือต่อขึ้นด้วยไม้กระดาษแผ่นใหญ่ ๆ เพียง  5  แผ่นเท่านั้น  และอาศัยชักใบเรือแทนฝีพายสามารถนำออกทะเลในเวลาเช้า  และกลับเข้าฝั่งในเวลาบ่ายเรือกอและที่แล่นด้วยใบเรือ  จึงเป็นรูปลักษณ์ของเรือกอและที่สวยสง่าและสมบูรณ์ที่สุดเพราะส่วนประกอบต่าง ๆ  ที่ช่างต่อเรือ  และศิลปินพื้นบ้านร่วมกันประดิษฐ์ประกอบขึ้น  ล้วนแสดงถึงเอกลักษณ์ของเรือกอและที่เหมาะเจาะแก่การใช้สอย  และแสดงถึงศิลปะของคนในแถบนี้จริง ๆ  (สมศักด์  ลีภาสุรพิสุทธิ์  2524 :  19-20)

                                 

ลักษณะของเรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมาลายู  ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายแบบตามรูปร่างของการวางกระดูกงู  และลักษณะของเรือและท้ายเรือ  แต่โดยทั่วไปลำเรือจะต้องแข็งแรงและค่อนข้างกว้าง  พอที่จะผจญกับลมพายุได้บ่อย ๆ  และทนต่อคลื่นที่ซัดสาดชายฝั่งอย่างรุนแรงระหว่างเรือในในทะเลหรืออยู่บนฝั่ง  ขนาดของเรือเล็กหรือใหญ่แตกต่างกันไปยาวตั้งแต่  3.50 – 13.50  เมตร  มีรูปร่างแตกต่างกันบ้าง  แต่ลักษณะเดิมยังอยู่  เช่นหัวท้ายขึ้นอย่างเดียวกัน  เพื่อให้กินน้ำตื้น  และลากเข็นง่าย  ลำของเรือจึงต่ำ  กระดูกงูไม่ลึกนัก  ส่วนใบมักเป็นรูปเหลี่ยมผืนผ้า  มีคันสอดทั้งสองข้างบนและล่าง  ซึ่งสามารถลดและม้วนใบจากคันล่างขึ้นได้  หัวเรือและท้ายเรือทำแตกต่างกันเล็กน้อย  หรือเหมือนกันเป็นรูปงอนขึ้น  ดูประหนึ่งสองหัว  ปกติใช้พายถือท้ายทางข้างเรือ  จังกูดหรือหางเสือเกือบจะไม่มีเลย  หรือถ้ามีก็ใช้น้อยลำเต็มที  การทาสีเรือเป็นที่สังเกตอย่างหนึ่ง  ซึ่งบอกที่มาของเรือประมง  ซึ่งจะเห็นว่าเรือตามชายฝั่งตะวันตกของแหลมมาลายู  มักทาสีดำหรือสีน้ำตาลแก่  อันตรงข้ามกับเรือทางฝั่งตะวันออก  ซึ่งส่วนมากทาสีขาวเหนือระดับน้ำ  แต่ทาสีแดงหรือเขียวตอนใต้ท้องเรือ  ในท้องที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส  มักจะทาสีฉูดฉาด  เช่น  แดงหรือเขียวตามใจชอบ  และมีการเขียนลวดลายอย่างสวยงาม  (สุมนัส  จิตพิทักษ์  2522 : 40-41)
                พบว่าเรือกอและในจังหวัดปัตตานี  ซึ่งมีลวดลายสวยงามนั้น  ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงแบบไป  จากซึ่งเคยมีหัวเรือและท้ายเรือเชิดสูงกลายเป็นหัวเรือสั้น  ท้ายตัดไว้สำหรับตั้งเครื่องยนต์เพื่อความคล่องตัวในด้านประโยชน์ใช้สอย  ซึ่งมีชื่อเรียกเรือที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ว่า  “ปาตะกรืฮะ”  แต่ส่วนอื่น ๆ  ของรูปแบบของเรือยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นยังคงมีกาบเรือสูง  สามารถเขียนลวดลายสีสันได้เหมือนเดิม  เรือกอและจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเรือประเภทอื่น ๆ มาก  เรือกอและที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 4 ขนาดดังนี้คือ
                1.  ขนาดใหญ่  ยาว  25  ศอก
                2.  ขนาดกลาง  ยาว  22  ศอก
                3.  ขนาดเล็ก  ยาว  20  ศอก
                4.  ขนาดเล็กมาก  ยาว  6  ศอก
                เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในเรือกอและ  ก็คือคุณค่าในตัวของมันเอง  ซึ่งแสดงออกมาทางรูปแบบและลวดลายที่วิจิตรพิสดารบนเรือกอและแต่ละลำ  จากผีมือของชาวบ้านที่นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย  ในการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตแต่เพียงอย่างเดียวแต่เกิดความคิดจิตนาการ  และเกิดแรงบันดาลใจ  ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดอย่างชาวบ้าน  ได้สร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดต่อไปยังชนรุ่นหลัง  ศิลปกรรมชิ้นนี้แตกต่างจากศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้น  เพื่อรับใช้ชนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นศักดินา

     ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/

เรือกอและจัดเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดปัตตานี  และในปัจจุบันนี้รูปร่างลักษณะได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  โดยเฉพาะรูปแบบของหัวเรือและท้ายเรือ  เรือกอและแบบดั้งเดิมนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจดังนี้
                1.  ด้านรูปแบบของลำเรือ  มีลักษณะหัวเรือและท้ายเรือเชิดสูงมากคล้ายเรือไวกิ้งต่างกันที่หัวเรือไวกิ้งมีการแกะสลักเป็นรูปหัวสัตว์ประดับไว้  แต่หัวเรือกอและมีเพียงแต่การฉลุลายให้เข้ากับลวดลายส่วนอื่นเท่านั้น  กราบเรือกอและสูงมากเพราะต้องใช้แล่นในท้องทะเล  จึงทำให้บริเวณกราบเรือมีพื้นที่ว่างเหมาะสำหรับการวาดลวดลายจิตรกรรม
                2.  ด้านการตกแต่งลวดลายจิตรกรรม  มีการประดับตกแต่งด้วยการฉลุและวาดลวดลายรวมทั้งการระบายสีเพื่อความงามวิจิตรด้วยเทคนิคสีน้ำมัน  (Oil Painting)
                ส่วนประกอบที่สำคัญของเรือกอและ  ที่นิยมฉลุลายและวาดลวดลายจิตรกรรม  ได้แก่ส่วนหัวเรือ
                ใบหัวเรือ  คือส่วนที่อยู่บนสุดปลายของเรือ
                หัวเรือใหญ่  (กรือเปาะใหญ่)  คือส่วนประกอบหนึ่งของใบหัวเรือ
                ส่วนของหัวเรือ  (กรือเปาะเล็ก)  คือส่วนประกอบหนึ่งของหัวเรือใหญ่
                จาปิง  คือส่วนที่ปิดช่วงหัวเรือและท้ายเรือ
                บางา  คือส่วนที่ใช้มัดเชือกและแขวนตะเกียง  อยู่ใกล้กับจาปิง
                กราบเรือส่วนล่าง
                กราบเรือส่วนบน
                ส่วนของท้ายเรือ
                ใบท้ายเรือ  คือส่วนบนสุดตอนท้าย  คู่กับใบหัวเรือ
                ซางอ  หรือ  มูฆะ  คือส่วนประกอบของเรือมี  2  ชิ้น  อยู่ตรงกลางลำ  และตรงท้ายเรือ  มีประโยชน์คือเป็นที่วางเสาใบเรือ  แต่ในปัจจุบันใช้วางหางเสือเรือแทน
                เกาะแย  คือส่วนประกอบที่อยู่ตรงตอนท้ายของเรือ  ใช้สำหรับวางหางเสือเรือ
                กือมูดี  คือหางเสือ  ใช้คู่กับเกาะแย
                ส่วนตรงกลางลำเรือ
                กราบเรือ  คือบริเวณตอนกลางของลำเรือ
                ส่วนภายในเรือ  คือบริเวณทั้งหมดภายในลำเรือ

 
     ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/
<<< PREVIOUS    NEXT >>>