ทิ้งกระจาดคืออะไร ?
คำว่า "กระจาด" ในที่นี้แปลว่าอะไร? ถ้าจะหาความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน ก็เห็นจะไม่ได้ เพราะพจนานุกรมได้ให้ไว้แต่เพียง "ภาชนะสานรูปเตี้ยๆ ปากกว้าง ก้นกระสอบ" อย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้นก็ต้องหาเอาจากที่อื่น
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สมัยรัชกาลที่ 2 ตอน "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวช สามเณร" กล่าวว่า
"ครั้นถึงเดือนสิบสอง ขึ้นแปดค่ำ (สามเณรสมเด็จเจ้าฟ้ามหามงกุฏ) ได้ถวายเทศน์ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระราชศรัทธาโดยลำพังพระองค์ ตั้งโรงใหญ่ในวังนอกเป็นการบูชา การทำ กระจาดใหญ่ ครั้งนั้นเป็นการเอิกเกริก คนมาดูเป็นอันมาก"
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอน "การเทศนากระจาดใหญ่" กล่าวว่า
"... แล้วทรงพระราชดำริว่า จะทำกระจาดใหญ่สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชเจ้า กระจาดหนึ่ง, พระบาทสมเด็จฯ พระชนกาธิราช กระจาดหนึ่ง, พระบาทสมเด็จฯ พระเชษฐาธิราชเจ้า กระจาดหนึ่ง, ทั้งสามพระองค์จึงขอแรงสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ทำกระจาดหนึ่ง, สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยทำกระจาดหนึ่ง, เจ้าพระยานิกรบดินทร์ทำกระจาดหนึ่ง ให้ตั้งที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นอกกำแพงแก้วฝ่ายอุตตรทิศ กระจาดสูง 6 วาตลอดยอด กว้าง 4 วา จัดเรียงกันไปทั้ง 3 แห่ง มีเครื่องไทยธรรมถวายพระเทศนากระจาดละ 10 ส่วน... มีพุ่มกัลปพฤกษ์กระจาดหนึ่ง 10 พุ่ม พุ่มละ 10 ตำลึงเรือ สำปั้นเก๋งพังกระจาดละ 10 ลำ ผ้าไตรและเครื่องบริขารกระจาดละ 10 สำรับ... ครั้นเสร็จแล้ว วันเดือน 1 แรม 4 ค่ำ มีพระธรรมเทศนาในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท... พระพิมลธรรม วัดประยุรวงศ์ ถวายเทศนาพงศาวดารบริเฉท 1, พระธรรมวโรดม (ถึก) วัดพระเชตุพน ถวายเทศนาพงศาวดาร บริเฉท 2, วันเดือน 1 แรม 5 ค่ำ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ถวายเทศนาทศพร... พระเทศนาได้รับในส่วนกระจาดแบ่งถวายเป็นส่วนๆ ไป 30 ส่วน องค์หนึ่งได้ของไทยทานประมาณ 2 ชั่งเศษบ้าง 3 ชั่งเศษบ้าง "
ตอน "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงผนวชสามเณร" ว่า "... ครั้นส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วเสด็จกลับมาพระบรมมหาราชวัง รับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ทำกระจาดใหญ่ เหมือนอย่างแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทำกระจาดใหญ่ ถวายกัณฑ์เทศน์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชสามเณรนั้น..."
นอกจากกระจาดถวายพระเทศน์แล้ว กระจาดถวายพระฉันก็มี การนิมนต์พระไปฉันแล้วมีถวายของพระกลับมา ก็เรียกว่าฉันกระจาด ถ้าฉันแล้วกลับมาเฉยๆ ไม่มีสิ่งของที่เรียกว่าเครื่องไทยทานถวายติดมือกลับมา ไม่เรียกว่าฉันกระจาด ดังจะเห็นได้ใน เรื่องรามเกียรติ์ สมัยรัชกาลที่ 2 ตอนที่สังฆการี ไปนิมนต์พระฤๅษีมาฉันที่ในวัง...
" บัดนั้น
สังฆการีแจ้งความจามรับสั่ง
นิมนต์สวดพิธีที่ในวัง
สิ้นทั้งคณะพระสิทธา
อันสำรับกับข้าวของฉัน
มัสหมั่นข้าวบุหรี่มีนักหนา
ไก่พะแนงแกงต้มยำน้ำยา
สังขยาฝอยทางของชอบใจ
" เมื่อนั้น
พระดาบสฟังเล่าน้ำลายไหล
ของฉันขยันยิ่งทุกสิ่งไป
แต่กระจาด มีหรือไม่จะใคร่รู้ "
สรุปแล้ว กระจาดก็คือ สิ่งของที่ถวายพระ
แต่สำหรับคนสามัญแล้วก็คือ ของให้ทานนั่นเอง และเนื่องจากสิ่งของที่จะให้ทานนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่รับทาน จะแบ่งกันมันก็ไม่ลงตัว ครั้นจะเอาของนั้นมาให้แย่งกันหรือ ของนั้นก็จะฉีกขาด แตกทำลายเสียสภาพหมด จึงได้เอาของนั้นตั้งไว้เฉยๆ ทำเบอร์ติดเข้าให้ตรงกันกับติ้ว แล้วก็เอาติ้วมาทิ้ง ใครแย่งได้ติ้วเบอร์อะไรก็ไปขึ้นเอาของตามเบอร์ นี่คือการทิ้งกระจาด
การทิ้งกระจาดนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งมีแต่ที่วัดกัลยาณ์นี้เท่านั้น ดังปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า
"... ในปีวอก ฉศกนั้น เมื่อ ณ วันพุธ เดือน 9 แรม 8 ค่ำ (17 สิงหาคม 2367) มีงานทิ้งกระจาด และมีงิ้วที่บ้านหนองปรือ..." (แต่พจนานุกรมของเราไม่ยักมี) ( ทิ้งกระจาด http://www.lib.ru.ac.th/journal/krajard.html ) |
ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เคยพูดไว้ว่า เนื้อแท้ของการทำบุญในเทศกาลทิ้งกระจาดมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ “…ทิ้งกระจาดมีความหมายสำคัญ 2 อย่างที่เราเรียกว่า “ อิ๋มซี และ เอี่ยงซี “ อิ๋ม ( 音 ) คือวิญญาณ เอี๋ยง ( 陽) คือชีวิต ซี ( 施 ) คือการแจก พิธีทิ้งกระจาด คือ การทำบุญอุทิศให้ดวงวิญญาณ ร่วมไปกับการแจกทานให้ผู้มีชีวิตที่ยากไร้ งานทิ้งกระจาดจึงต้องทำทั้ง 2 ส่วน ทำบุญกันในศาลเจ้าก่อน แล้วจึงมาแจกของ…..” จึงสอดคล้องกับจริยวัตรขององค์หลวงปู่ไต้ฮงโจวซือ ผู้ซึ่งช่วยทั้งผู้ที่เสียชีวิตโดยไร้ญาติขาดมิตร และช่วยสงเคราะห์ผู้ยากไร้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เทศกาลทิ้งกระจาด จึงเป็นเทศกาลที่ครบถ้วนทั้ง “ ทำบุญและให้ทาน ”
ประเพณีทิ้งกระจาด เป็นความเชื่อของพุทธบริษัทจีนฝ่ายมหายาน ประเพณีที่ถือปฏิบัติมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยพุทธกาลสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว ในสมัยนั้นเล่ากันว่าพระอานนท์ เป็นเถระผู้เริ่มทำเป็นองค์แรก โดยพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์ทำการสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้รอดพ้นจากบ่วงกรรม ให้พระอานนท์ทำพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต และ ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ แล้วแจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นไทยทานแก่สัตว์โลกผู้ยากไร้ทั้งหลาย และ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่กำลังทนทุกข์อยู่ในนรกภูมิ หรือ ที่ล่องลอยเที่ยวขอส่วนบุญ ด้วยไร้ญาติ หาที่จุติมิได้
ความมีอยู่ว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาถึงตำบลนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อตั้งกรดปักธุดงค์นอกเมืองแล้ว พระอานนท์ได้ปลีกวิเวกออกไปบำเพ็ญเพียรห่างไกลจากสาวกทั้งหลาย ปรากฏว่ามีเจ้าแม่กวนอิมได้แปลงกาย เป็นผีเปรตอสูรกายมาปรากฏตัว และ แจ้งให้ทราบว่า พระอานนท์จะถึงแก่ความตายในอีก 3 วันข้างหน้า หากไม่อยากตายแล้วไปอยู่กับพวกตน พระอานนท์ต้องทำบุญทำทานให้บรรดาผู้ยากไร้ และ ผีเปรตอสูรกายทั้งหลาย พระอานนท์เป็นพหูสูต ได้ฟังดังนั้นก็รู้แจ้งเห็นจริงตามที่ผีเปรตมาบอก พระอานนท์มีความกังวลจึงเข้าเฝ้าสัมมาสัมพุทธเจ้า และ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระพุทธองค์จึงได้สอนให้พระอานนท์ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่เนื่องจากการจะโปรดอสูรกาย วิญญาณที่ล่องลอยอยู่นั้น ไม่อาจทำได้ด้วยวิธีการให้ทานธรรมดา ต้องอาศัยส่งส่วนบุญด้วยพุทธนุภาพ ดังนั้นจึงต้องประกอบพิธีสันนิบาตพุทธจักร นั่นก็คือต้องถึงพร้อมด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีทิ้งกระจาด ที่พุทธบริษัททั้งหลายอนุโมทนา เลื่อมใส ถือปฏิบัติต่อกันมานับพันปี เพราะภายหลังจากประกอบพิธีให้ทานในคราวนั้น ทำให้พระอานนท์มีชีวิตยืนยาวต่อมาอีกหลายปี ทั้งนี้เนื่องมาจากกุศลผลบุญที่ได้กระทำในครั้งนั้น กาลเวลาได้ปรับเปลี่ยนให้การดำเนินพิธีกรรมแตกต่างออกไปจากดั้งเดิม ตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น
( เทศกาลทิ้งกระจาด มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง http://pohtecktung.org/index.php?option=com ) |