|
โกวเอี๊ย - หรือพญายม กับข้าวของเตรียมไว้ในงานเทกระจาด ที่มา : ศรีมหาโพธิ์. 2543,(16) |
ตำนานการทิ้งกระจาด
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อว่าวัดพนัญเชิง วัดนี้มีอายุ 600 กว่าปีมาแล้ว เป็นวัดที่มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิองค์ใหญ่ คนโดยมากมักเรียกกันว่าหลวงพ่อโต ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง ชาวจีนนับถือมากถึงปีก็มีงิ้วมีลิเกให้หลวงพ่อดู และถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งว่าจะต้องมีการทิ้งกระจาดและเผารูปยมราช (งานมีในเดือน 9 เป็นประจำ)
การทิ้งกระจาดนั้น เขาก็ยกร้านให้สูงเลยหัวคน บนร้านก็มีพวก กล้วย ส้ม ขนม นม เนย มะพร้าว เครื่องใช้ เสื้อผ้าต่าง ๆ มากมายถึงเวลาเขาก็เผารูปยมราช และทิ้งกระจาดพร้อมกัน ที่เรียกว่าทิ้งกระจาดไม่ใช่โยนลงมาทั้งกระจาด เขาหยิบโยนลงมาทีละสิ่ง แต่แรกเริ่มเดิมทีหัวหน้าเขาก็เอกกระจาดเล็ก ๆ ไปแจกไว้ตามบ้านพวกที่จะทำบุญ ถึงวันจวนจะทิ้งกระจาดเขาก็ออกเก็บ ใครรับกระจาดไว้ก็หาของใส่กระจาดมาตามแต่จะศรัทธา เวลาทิ้งเขาก็เลยทิ้งทั้งกระจาดด้วย แต่ต่อมาเห็นว่าทำอย่างนั้นข้าวของเสียหายมาก เพราะคนเข้าไปแย่งกันไม่ได้ของดีเลย สมัยต่อมาจึงใช้วิธีโยนให้ทีละสิ่ง ใครรับได้ก็เอาไป แต่คนก็ยังนิยมเรียกว่าทิ้งกระจาดอย่างแบบเดิมติดปากมาจนทุกวันนี้
ประเพณีทิ้งกระจาดนี้ เป็นเรื่องข้างฝ่ายจีนเขาปฏิบัติมานานนักหนาแล้ว กล่าวกันว่าได้มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าถัง คือมีชายคนหนึ่งชื่อ เหล่าจิ้ง ฝันไปว่ามารดาของเขาซึ่งตายไปได้มาหาเขาในลักษณะที่มอซอเต็มทีไม่มีผ้านุ่ง และได้ต่อว่าเขาว่าเหล่าจิ้งทำไม่ดีไม่นึกถึงแม่ แม่จึงเป็นเช่นนี้ในฝันนั้นว่าเหล่าจิ้งถามแม่ไปว่า แล้วลื้อจะให้อั๊วทำอย่างไรล่ะ แม่ก็บอกว่าทิ้งกระจาดซี วิธีทิ้งกระจาดก็ไม่ยากเย็นอะไร ให้ลื้อไปซื้อข้าวของ มีผ้านุ่งผ้าห่มของใช้ของกินมา ดูให้จำนวนพอกับติ้วที่ศาลเจ้าแล้วก็โยนติ้วที่จดเลขไว้นั้นให้คนแย่ง ใครได้ติ้วเลขอะไรก็ให้เอาติ้วมาเบิกของไปตามนั้นเมื่อเหล่าจิ้งได้มาลองทำดูแล้วมารดาก็มาเข้าฝันใหม่ แต่คราวนี้มาในลักษณะที่สมบูรณ์กว่าคราวก่อน มีเสื้อผ้าใส่มาดูอ้วนท้วนขึ้น บอกว่าที่ลื้อทิ้งกระจาดนั้นแหละจึงทำให้อั๊วดีขึ้นอย่างนี้
อีกเรื่องหนึ่งเป็นประวัติข้างฝ่ายอาณัมนิกาย คือพระญวนหรือพระจีนที่ถือลัทธิมหายาน มีกล่าวถึงเรื่องการทิ้งกระจาดไว้ในคัมภีร์ของลัทธิอาณัมนิกายว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธารามเมืองกบิลพัสดุ์ พระอานนท์นั่งกระทำสมาธิอยู่ผู้เดียว ตกดึกพระอานนท์ได้เห็นอสุรกายตนหนึ่งมีชื่อว่าเหญี่ยมโข้ว มีร่างกายซูบผอมที่ปากมีไฟพลุ่งออกมา ผมยาวรุงรัง มีเขี้ยวงอกออกมาจากปาก รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวเมื่ออสุรกายนั้นปรากฏตัวให้เห็นแล้วก็บอกว่า นับแต่นี้ไปอีก 3 ราตรีพระอานนท์จะต้องตาย พระอานนท์ถามว่า จะไม่มีทางแก้ให้อายุยืดอีกหรือ อสุรกายบอกว่า มีอยู่ทางเดียวคือให้ทำพุทธบูชา สังฆบูชา และให้ทาน เมื่อบอกแล้วอสุรกายนั้นก็หายไป พระอานนท์จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและเล่าเรื่องให้ฟัง พระพุทธองค์จึงแนะให้ตั้งพิธีประชุมพระอริยเจ้า สวดพระคาถาชื่อถึกยือลาย อำนาจพระคาถานี้จะช่วยนำส่งส่วนกุศลไปให้ เมื่ออานนท์ทำตามเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าจึงบอกแก่พระอานนท์ว่า อสุรกายที่เห็นนั้นน่ะไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ที่แท้ก็พระโพธิสัตว์กวางตือต่ายโป๊ต๊ากแปลงพระองค์ลงมาบอกให้พระอานนท์บริจาคทานนั่นเอง เป็นการอุดหนุนให้พระอานนท์มีวิธีประกอบบุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น
ก็ในการทิ้งกระจาดนั้นเขาย่อมทำหุ่นด้วยกระดาษเป็นรูปงิ้วหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ชาวบ้านเรียกกันว่า ยมราช การที่ต้องเผารูปยมราช (จีนเรียกได้ซือเอี๊ย) ก็โดยสมมติว่าเป็นรูปพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาเป็นประธานในงาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็ต้องเชิญเสด็จกลับโดยวิธีเผา (ส.พลายน้อย. 2542, 47-49)
|
|
|
ทิ้งกระจาด ทานต่ออายุ
ประเพณีทิ้งกระจาดของจีน เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะคล้ายกันกับ ประเพณีกินก๋วยสลาก ของทางภาคเหนือ เหมือน ทานข้าวสาก ของภาคอีสาน และเหมือนการทำบุญถวายสลากภัต ของชาวไทยภาคกลาง กับทั้งเหมือน พิธีส่งตายายของชาวไทยปักษ์ใต้
ทั้งนี้เทศกาลการจัดทำพิธีนี้ก็เป็นช่วงเดือนใกล้เคียงกัน และยังมีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน คือทำบุญอุทิศให้ผีบรรพบุรุษ
การถวายก๋วยสลาก ถวายข้าวสาก และสลากภัต ของชาวไทยภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาล แต่เดิมทีในสมัยเก่าโบราณนั้น ภาชนะที่ใช้บรรจุเครื่องไทยทานจะเป็น ชะลอม ซึ่งใบเล็ก กลาง หรือโนได้ทุกขนาด สูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร
ลักษณะรูปร่างชะลอม (ก๋วย) จะมีตาโปร่งโดยรอบ ด้านบนชะลอมจะรวบเส้นตอกที่เหลือ จังเป็น 2 กลุ่ม รวบเข้าด้วยกันแล้วมัดด้วยตอกอีกให้แน่น สามารถใช้มือถือ และหิ้วไปไหนมาไหนได้สะดวก
แต่ประเพณีของจีนเป็น พิธีการทิ้งกระจาด โดยใช้ ติ้ว แทนสลาก ตามประเพณีไทย เมื่อทิ้งติ้วไป ใครจับได้ก็ให้นำมาขึ้นแลกของทานจากคณะกรรมการไป
ประเพณีสลากภัตของไทย จะเป็นการจัดทำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ตามวัด ให้พระสงฆ์เป็นผู้จับสลาก ตรงกับเจ้าภาพผู้ใดก็ให้ผู้นั้นนำเครื่องไทยทานไปถวาย มีการรับศิลรับพรจากพระแล้วกรวดน้ำเป็นเสร็จพิธี
ส่วนการทิ้งกระจาดของจีนนั้นจุดประสงค์ทำให้แก่คนยากจนและอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณหรือภูติผีไร้ญาติ |
|
|
เครื่องปัจจัยไทยทาน
เนื่องจากประเพณีทิ้งกระจาดของจีน มีวัตถุประสงค์จะให้ของเป็นทานแก่คนอดอยาก ยากจน หาเช้ากินค่ำเป็นสำคัญ ดังนั้นสิ่งของที่เป็นไทยทานจึงได้แก่
- ข้าวสาร บรรจุถุงพลาสติก ขนาดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม
- พริกแห้ง จัดไว้เป็นถุง ๆ
- น้ำปลา จัดไว้ในลังเป็นขวด ๆ
- เกลือ เป็นถุง ๆ
- เสื้อผ้า สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ชาย-หญิง เป็นชุด ๆ
- รองเท้า ทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ หลายขนาดหลายเบอร์
- อาหารแห้งอื่น ๆ เช่น เนื้อ ปลาและอาหารกระป๋อง ฯลฯ
บรรดาอาหารที่จัดไว้เป็นไทยทานดังกล่าวนั้น แต่เดิมมาเล่ากันว่า เคยโยนลงมาจากที่สูง โดยเฉพาะของที่ไม่แตก เพื่อให้ผู้คนยากจนข้างล่างแย่งกันชิงกัน ของนั้นมักขาด แตก และถูกทำลายเสียสภาพไปจนใช้ไม่ได้ และบางโรงทาน บางศาลเจ้า ผู้คนที่มาแย่งทานเกิดทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน หรือถึงกับเหยียบกันบาดเจ็บ และถึงตายก็เคยมี
จึงเปลี่ยนวิธี เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยคุ้มกันและป้องกันมิให้เกิดการวิวาทกันอีก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้เพราะบางแห่งมีผู้คนยากจนมาก มาแย่งทานเป็นจำนวนหมื่น ๆ คน
ในที่สุด เปลี่ยนมาเป็นการนำเอาสิ่งของไทยทานนั้น ตั้งไว้บนโต๊ะในกระโจมผ้าไบ หรือตรงประตูโรงทาน โดยกั้นเชือกเป็นทางให้เข้ามาได้ทีละคน เพื่อรับของทาน แล้วเดินออกไปอีกทางหนึ่งของทานทุกอย่างติดเบอร์เลขไว้ทั้งหมด
วิธีนี้ก็คือการโยนติ้ว ติ้วที่จะโยนนั้น จะติดระบุเบอร์เลขไว้ให้ตรงกับของทาน เท่าที่มีจะแจกจ่ายแก่คนยากยนผู้มาในวันนั้น
เมื่อคณะกรรมการมูลนิธิหรือสมาคมฯ มาพร้อมกันแล้วฝ่ายที่เตรียมเฝ้าของตนก็ฌเตรียมตัวไว้ คือกองของทานจะระบุเลขหมายตั้งแต่ - หมายเลข 001 ถึง 1000 = อยู่มุมหนึ่ง
- หมายเลข 1001 ถึง 2000 = อยู่อีกมุมหนึ่ง
(หรือตามความสะดวก)
จนหมดของทานเท่าที่มี ซึ่งอาจจะเป็นหมื่น ๆ ชิ้น โดยเฉพาะข้าวสาร แต่เดิมชาวบ้านจะหาภาชนะมารับรองเอา แต่ปัจจุบันนี้ทางร้านค้าได้จัดบรรจุเป็นถุง ๆ จึงเป็นการสะดวก โครจับติ้วได้ข้าวก็เอาติ้วมารับ-และเอาไป
การโยนติ้ว จะหว่านไปทุกทิศทางโดยรวบ เพื่อต้องการให้คนยากจนที่มาได้กันอย่างทั่วถึง
เมื่อโยนไปแล้ว ใครแย่งติ้วได้เป็นเลขเบอร์อะไร จะได้ของอะไรก็ให้เอาติ้วนั้นไปขึ้นเอาของตามเบอร์ จากคณะกรรมการ ที่ทางมูลนิธิหรือสมาคมฯ จัดเจ้าหน้าที่เตรียมไว้
ประเพณีการทิ้งกระจาดของจีน ได้มีมาช้านานแล้ว แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด คือการมีจัดที่วัดกัลป์ยาณ์นั้น จัดเอิกเกริกมโหฬารที่สุด เพราะในพระวิหารของวัดนี้มี หลวงพ่อโต ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารวัดกัลป์ยาณ์ (ฝั่งธนบุรี) ชาวจีนโบราณเคยมาไหว้มาเซ่นวิญญาณ “ซำปอกง” ซึ่งพวกคนจีนเชื่อว่า หลวงพ่อโตเป็น ซำปอกง เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ติดป้ายภาษาจีนไว้ว่า
“ซำปอฮุดกง” แปลความหมายว่า ; พระรัตนตรัย มี
1. พระพุทธ
2. พระธรรม
3. พระสงฆ์
เมื่อชาวจีนแซ่อื่น ๆ มาพบเห็นเข้า ก็เลยศรัทธาเลื่อมใสต่อ ๆ กันมา |
|
|
|