กราบทูลพระศาสดา
                เมื่อพระอานนท์ออกจากสมาธิจิตแล้ว  ยังจำสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นได้อยู่  จึงนำความนี้ขึ้นกราบทูลสมเด็จพระพุทธโลกนาถ
                พระทุทธทศพลทรงเห็นด้วย  แต่ตรัสเสริมไปว่า
                “ดูกร  พระอานนท์  อาการที่เธอจะบริจาคทาน  เพื่อให้ถึงพวกอสุรกายนั้นเป็นการยาก  เพราะเหล่าอสุรกายต่างสร้างอกุศลกรรม  คือกรรมชั่วไว้มาก  เธอจักต้องนิมนต์พระอริยสงฆ์  (คือพระอเสขะผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว)  ทั้งหลายมาประชุมกันเจริญพระคาถา  “เจี้ยะยู่ไล้”  ด้วย  ทานทั้งหลายจึงจะเกิดผลแก่เหล่าอสุรกายดังกล่าวนั้น”
                พระอานนท์ได้กราบนมัสการสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ปฏิบัติพุทธดำรัสทุกประการ  และปรากฏว่าพระอานนท์มีอายุยืนยาวนานถึง  120  ปี

                ประวัติพระอานนท์เถระ
                พระอานนท์  เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง  ตามลัทธิพุทธศาสนานิกายมหายาน  ยกย่องนับถือรองลงมาจากพระมหากัสสปะเถระ  ผู้เป็นพระมหาพุทธสาวกผู้เลิศฝ่ายทรงจีวรเศร้าหมอง
                พระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะในสายศากยวงศ์ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชาย
สิทธัตถะ  คือ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
                ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับ  พระอนุรุทธะและพระอุบาลี  เป็นต้น  ต่อมาได้รับเลือกเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก  ได้รับยกย่องเป็นเอกทัตตะ  (ผู้เลิศ)  หลายด้าน  คือเป็นพหูสูต  เป็นผู้มีธิติมีคติ  และเป็นอุปัฏฐากยาวนานกว่าพระสงฆ์องค์อื่น ๆ
                ท่านบรรลุพระอรหันต์  ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  3  เดือน  เป็นกำลังสำคัญในการทำสังคายนาโดยได้รับเป็นพระผู้วิสัชนาพระธรรม  และพระอภิธรรม  ในการทำสังคายนาครั้งที่  1  โดยมีพระมหากัสสปะเถระ  เป็นประธานฯ
                พระอานนท์เถระดำรงชีวิตอยู่มายืนยาวนานถึง  120 จึงปรินิพพาน  ในอากาศ  เหนือแม่น้ำโรหิณี  ซึ่งเป็นเส้นสายธารน้ำกั้นระหว่างแดนแคว้นพระยูรญาติ  2  ฝ่าย  คือศากยวงศ์กับโลกิยวงศ์

คติของมหายาน
                วัดจีนในไทยส่วนมากจะเป็น  วัดพระพุทธศาสนา  ฝ่ายมหายาน  แม้จะใช้เป็นผ้าสีเหลือง  แต่ก็ไม่มีจีวร  สบง  จะเป็นเสื้อและกางเกงเป็นพื้น
                ดังนั้น  คติของฝ่ายมหายาน  จะมีการถือดาวพระเคราระห์ซึ่งตาม  หลักโหราศาสตร์  เรียกว่า  “นพเคราะห์”  มี  9  ดวง  โดยเทียบคำจีนไว้ด้วยดังนี้ :-
                1.  พระอาทิตย์  (ไท้เอี๊องแซ)                          6.  พระศุกร์  (กิมแซ)
                2.  พระจันทร์  (ไท้อิมแซ)                                7.  พระเสาร์  (โท้วแซ)
                3.  พระอังคาร  (ฮวยแซ)                                  8.  พระราหู  (ล่อเกาแซ)
                4.  พระพุธ  (จุ๊ยแซ)                                           9.  พระเกตุ  (โกวโต้วแซ)
                5.  พระพฤหัสบดี  (บั๊กแซ)

                ว่ากันตามหลักโหราศาสตร์
                บรรดาดาวนพเคราะห์เหล่านี้  ตามหลักโหราศาสตร์  ถือว่าแต่ละดวงดาว  ต่างก็เป็นเทพเจ้า  และมีอิทธิพลต่อโลกมนุษย์  รวมความว่า  ดิน  ฟ้า  ลม  น้ำ  ตามคติชาวภารตะ  (อินเดีย)  ว่าเป็นธาตุทั้ง  4  ไ ด้แก่  ดิน  ไฟ  ลม  น้ำ  มีเทพปกครองทั้งหมด
                เหตุการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง  และเกิดฟ้าผ่า  แผ่นดินถล่ม  ว่ามาจากอิทธิพลของเทพผู้ครองดวงดาวเหล่านี้ทั้งสิ้น
                ดังนั้น  ตามหลักโหราศาสตร์ภารตะ  (อินเดีย)  จึงจัดธาตุประจำดวงดาวไว้ดังนี้ :-
                ก.  ดาวพฤหัสบดี  กับ  ดาวจันทร์  เป็น  คู่ธาตุดิน
                ข.  ดาวพุธ  กับ  ดาวศุกร์  เป็น  คู่ธาตุน้ำ
                ค  ดาวอังคาร  กับ  ดาวราหู  เป็น  คู่ธาตุลม
                ง.  ดาวอาทิตย์  กับ  ดาวเสาร์  เป็น  คู่ธาตุไฟ
                การที่ว่าดวงดาวต่างมีอิทธิพลนั้น  อยู่ที่ว่า  ตามหลักโหราศาสตร์  จะแบ่งดาวเป็น  2  ประเภท  ได้แก่ :-
                1.  ศุภเคราะห์  คือดวงตา  ให้คุณมีผลดีต่อสัตว์โลก
                2.  บาปเคราะห์  คือดาวร้าย  ให้โทษมากกว่าให้คุณ
                กรณีดังกล่าวนั้น  ดาวอาทิตย์  กับ  ดาวเสาร์  จัดเป็นดาวบาปเคราะห์  เพราะเป็น  ธาตุไฟ  มีแต่เผาไหม้ทำลายสัตว์โลกอย่างเดียว
                แต่ถ้าผู้ชายเกิดวันอาทิตย์ไปแต่งงานกับเจ้าสาวเกิดวันเสาร์ท่านว่ามักจะมีปากเสียง  ทะเลาะวิวาท  ไม่มีความเกรงใจกัน  หากดาวทั้งสองนี้ไปผสมกับ  ดาวที่เป็นศุภเคราะห์  เช่น  ดาวคู่ธาตุดิน  และ  ดาวคู่ธาตุน้ำ  จะดีมาก  เพราะไฟไหม้น้ำ  น้ำก็ดับไฟได้  หรือไฟจะไหม้ดิน  ดินก็ไม่รู้สึกร้อนหนาวด้วย  จึงนับว่าดี
                ส่วน  ธาตุไฟ  ไปผสมกับ  ดาวคู่ลม  (อังคาร-ราหู)  ท่านว่าไม่ดีนัก  เพราะลมจะเป็นพายุพัดไฟให้โหมไหม้แรงยิ่งขึ้น  แบบขิงก็รา  ข่าก็แรง  ชีวิตคู่ก็มีแต่ทางแตกแยกกันอย่างเดียว

                                ธาตุทั้ง  5  ของคติจีน
                ตามคติของมหายานของจีน  นอกจากจะนับถือ  ดาวนพเคราะห์ดังกล่าวมาแล้ว  ยังบัญญัติธาตุประจำดาวเหล่านั้นไว้ด้วย  แต่ไม่ใช่  ธาตุ  4  หากเป็นธาตุ  โดยเพิ่มทองเข้ามาด้วย  กล่าวคือ
                1.  ธาตุดิน                            4.  ธาตุไฟ
                2.  ธาตุน้ำ                             5.  ธาตุทอง
                3.  ธาตุลม
                เพราะนักปราชญ์ทางคติมหายานถือว่า  ดาวนพเคราะห์เหล่านั้นเป็นผู้ควบคุมบริหารธาตุทั้ง  5  ให้โลกเราเป็นไปอย่างปกติสุข  อย่างเช่น :-
                1)  บรรดา  พฤกษชาติ  อันมีพืชพรรณธัญญาหารใหญ่น้อยทั้งมวล  ถ้าขาดธาตุดินเสียแล้ว  ก็จะอยู่ไม่ได้  ไม่มีฐานที่เกิดที่งอกขึ้น
                2)  มัจฉาชาติ   อันได้แก่สัตว์น้ำ  มีกุ้ง  ปู  ปลาใหญ่น้อยทั้งหลาย  ถ้าขาดธาตุน้ำ  ก็ไม่อาจจะไม่
มีแหล่งน้ำ  ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
                3)  บรรดา  มนุษยชาติ  อันได้แก่ผู้คนชายหญิง  หากขาดธาตุลม  เสียแล้ว  จะไม่มีอากาศหายใจ  ไม่อาจจะมีชีวิตยืนยงอยู่ในโลกนี้ได้
                4)  บรรดา  สัตว์โลก  ทั้งปวงทั้งหลาย  หากขาด  ธาตุไฟเสียแล้ว  เมื่อกินอาหารไม่มีไฟธาตุช่วยย่อยอาหาร  ก็จะตายเพราะโรคพยาธิต่าง ๆ  ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
                5)  สำหรับมนุษย์เรา  ที่นับเป็นสัตว์ประเสริฐ  มีมันสมอง  มีสติปัญญา  ต้องทำมาค้าขาย 
ประกอบธุรกิจการค้า  ย่อมจะมีซื้อขายแลกเปลี่ยน  และสิ่งที่เป็นสื่อหรือปัจจัยในการค้าขายแลกเปลี่ยนนั้นก็คือ  ทอง  ซึ่งคนเรามักเรียกว่า  เงินทอง  และ  ธนบัตร  ก็คือ  เงินตรา  ชาวจีนจัดเป็น  ธาตุทอง
                ดังนั้น  ถ้าขาด  ธาตุทอง  เสียแล้ว  ธุรกิจติดต่อระหว่างกันหากขาดวัตถุดังกล่าว  จะเอาอะไรมาเป็นมาตรฐานในการซื้อ-ขายและแลกเปลี่ยน
                ธาตุทั้ง  5  ตามคติมหายาน  จึงมีความสำคัญดังกล่าวมาแล้วนี้

อดีตพุทธอวตารทั้ง  9
                ตามคติมหายานท่านยังกล่าวว่า  ดาวนพเคราะห์  คือดาวเคราะห์ทั้ง  9  นั้นเป็นอวตารของอดีตพุทธะ  7  องค์  กับมีพระโพธสัตว์อีก  2  องค์  รวมเป็น  9  องค์
                ดังมีเรื่องราวเล่ากันว่า ;-
                สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่  ณ  ศิวาลัยรัตนสถาน  (บนเขาไกรลาศ)  พรั่งพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์  พระอินทร์  พระพรหม  นาค  ยักษ์  กินนร  ตลอดคนธรรพ์
                มีพระมัญชูศรีได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า
                “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อันพระเคราะห์ทั้ง  7  นั้น  ได้บำเพ็ญกุศลสร้างสมบุญบารมีมาอย่างไร  จึงรุ่งเรืองมหานุภาพและรัศมีเห็นปานนี้”
                พระพุทธสัมมาสัมพุทธโลกนาถ  ได้ทรงตรัสตอบว่า
                “ดูกร  มัญชูศรี  อันพระเคราะห์ทั้ง  7  นั้น  แท้จริงก็คืออดีตพุทธะทั้ง  7  ทรงแบ่งภาคมาอุบัติต่างหาก  และพระราหูกับพระเกตุนั่นเล่า  ก็เป(นพระโพธิสัตว์  2  พระองค์  แบ่งภาคมาเช่นกัน..”
                ตามพระสูตรฝ่ายมหายานชื่อ  “ปั๊กโก๋วฮุดเซียงไจเอี้ยซิ่วเมียงเก็ง”  กล่าวถึงนามพระพุทธเจ้า  7  องค์  กับพระโพธิสัตว์  2  องค์  ที่แบ่งภาคลงมาเป็นดาวนพเคราะห์  เพื่อลงมาโปรดสัตว์โลกไว้อย่างนี้ :-
                1.  พระวิษยโลกมนจรพุทธะ  เป็น  พระอาทิตย์
                2.  พระศรีรัตนโลกประภาโฆษธิศวรพุทธะ  เป็น  พระจันทร์
                3.  พระเวปูลลรัตนโลกสุวรรณสิทธิพุทธะ  เป็น  พระอังคาร
                4.  พระอโศโลกวิชยมังคลพุทธะ  เป็น  พระพุทธ
                5.  พระวิสุทธอาศรมเวปุลลปริชญาวิภาคพุทธะ  เป็น  พระพฤหัสบดี
                6.  พระธรรมมติธรรณสาครจรโลกมโนพุทธะ  เป็น  พระศุกร์
                7.  พระเวปุลลจันทรโลกเภสัชชไวฑูรยพุทธะ  เป็น  พระเสาร์
                8.  พระโพธิสัตว์ศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการ  เป็น  พระราหู
                9.  พระโพธิสัตว์ศรีเวปูลลสังสารโลกสุขเอศวร  เป็น  พระเกตุ
                ตามที่กล่าวมานี้  น่าจะเป็นการนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์มากกว่า  เพราะนักปราชญ์ทางดินเดียก็ดี  พม่า  จีน  และไทยก็ตามทีเถิดจะดูได้จาก  “ตำราพรหมชาติ”  วัน-เดือน-ปี  จะมีเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น  *  
               

 
<<< PREVIOUS     NEXT >>>