พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องในการทิ้งกระจาด
พิธีเปรตพลีโยคกรรม
พิธีเปรตพลีโยคกรรม (หยู่แคเอี่ยมเข้า) หรือปั้งเอี่ยมเข้า นี้ เป็นพิธีทางพระพุทธศาสนานิกายมนตรยาน ซึ่งเรียกพิธีกรรมในนิกายว่าโยคกรรม ในการประกอบพิธีจะต้องจัดมณฑลพิธีและที่บูชาเป็นสามส่วนคือ
ที่บูชาแรกเป็นที่ประดิษฐานเครื่องบูชาพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานพร้อมด้วย เหล่าพระโพธิสัตว์และพระธรรมบาล
 
ที่บูชาที่สองเป็นที่บูชามหาโพธิสัตว์ (ไต่สือเอี้ย) นิยมทำรูปพระมหาโพธิสัตว์ด้วยกระดาษมีขนาดใหญ่มากบางแห่งสูงเท่าตึกสามชั้น พระมหาโพธิสัตว์หรือไต่สือเอี้ย คือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือพระกวนอิมโพธิสัตว์ที่แบ่งภาคลงมาปรากฏกาย ต่อพระอานนท์ ณ นิโครธารามวิหาร เมืองกบิลพัสดุ์ ตามเรื่องในพระสูตรจากพระไตรปิฎกจีน
 
ที่บูชาวิญญาณผู้ล่วงลับ เป็นที่เซ่นไหว้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ ทั้งที่มีญาติและไร้ญาติซึ่งบุตรหลาน ญาติมิตรหรือประชาชนทั่วไปมาวางเครื่องเซ่นไหว้อุทิศให้
 
พิธีเริ่มจากพระสงฆ์อัญเชิญพระรัตนตรัยเป็นประธาน มีพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระอานนท์เถรเจ้า เป็นอาทิ จากนั้นพระสงฆ์จะเดินไปสวดพระพุทธมนต์ยังที่บูชาพระมหาโพธิสัตว์ และที่บูชาวิญญาณผู้ล่วงลับตามลำดับ จากนั้นพระภิกษุผู้เป็นประธานสงฆ์ เป็นผู้ประกอบพิธีเรียกว่า พระวัชรธราจารย์ หรือกิมกังเสี่ยงซือ จะ ขึ้นสู่อาสน์ประธานมณฑลพิธีเพื่อเริ่มประกอบพิธี โดยพระวัชรธราจารย์จะเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ประกอบพิธีโปรดสรรพสัตว์ พระวัชรธราจารย์จะสวมไวโรจนมาลาและมีพุทธชญานมงกุฏที่ด้านหน้า หมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้ประกอบด้วยพระพุทธบารมี แห่งองค์พระชินเจ้าทั้งห้า คือพระไวโรจนพุทธเจ้า, พระอักโษภยพุทธเจ้า, พระรัตนสัมภวพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธเจ้า, พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า, ทั้งห้าพระองค์
การประกอบพิธีจะแบ่งเป็นสองภาคคือ ส่วนแรกประกอบพิธีถวายพุทธบูชา และส่วนที่สองเป็นพิธีโปรดสัตว์ เริ่มด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ ชำระมณฑลพิธีให้บริสุทธิ์ด้วยพลังแห่งพระสัทธรรม ระหว่างประกอบพิธีพระวัชรธราจารย์จะใช้วัชรฆัณฏา คือ กระดิ่งวัชระ วัชรศาสตราและวัชรคธา คือเครื่องหมายรูปวัชระหรือสายฟ้าเป็นตัวแทนพระธรรม ซึ่งประดุจธรรมาวุธของพระโพธิสัตว์ ที่ใช้ในการปราบมาร คือกิเลสทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไปจากเหล่าสัตว์โลก และประกอบพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาทั้ง ๖ อันได้แก่ ปุษปะคือดอกไม้ ธูปะคือเครื่องหอม อาโลกะคือประทีปโคมไฟ สุคนธะคือน้ำหอม ไนเวทยะคือเครื่องบูชาพลีกรรม และศัพทะคือเสียงดนตรีประโคม เป็นเครื่องบูชาแด่พระรัตนตรัย และอัญเชิญพระมหากรุณาบารมีแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ มาเป็นธรรมพละเพื่อใช้ในการโปรดสัตว์ ส่วนที่สองพิธีโปรดสัตว์นั้นจะเริ่มอัญเชิญพระกษิติครรภโพธิสัตว์ผู้ทรงมหา ปณิธานในการโปรดสัตว์นรก พระยายมราชทั้ง ๑๐ ขุม และดวงวิญญาณ ทั้งหลายในภูมิทั้งหก คือเทพ, อสูร, มนุษย์, สัตว์เดรฉาน, เปรต, สัตว์นรก และรวมทั้งเหล่าพาหิรลัทธิ ให้มาชุมนุมเพื่อรับฟังพระสัทธรรม จากนั้นจึงอัญเชิญพระบารมีแห่งอดีตพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ คือ ๑. พระรัตนชัยตถาคต ๒. พระอภยังกรตถาคต ๓. พระวิปุลกายตถาคต ๔. พระสุรูปกายตถาคต ๕. พระประภูตรัตนตถาคต ๖. พระอมิตาภตถาคต ๗. พระโลกวีสตีรนเตชอีศวรประภาตถาคต ทั้งเจ็ดพระองค์ และประกอบมุทราคือการทำมือเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ และการเพ่งจิตยังสัตว์โลกทั้ง ๖ ในไตรภูมิ ที่ทนทุกข์ทรมานให้ยึดพระสัทธรรมเป็นดุจมหาธรรมนาวา ช่วยขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกขเวทนา ระหว่างพิธีพระสงฆ์จะโปรยข้าวสาร ทิพยวารี และขนม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม และกุศลบุญ อันเป็นอาหารที่จะเหล่าวิญญาณหิวโหยต้องการ สุดท้ายพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ส่งวิญญาณของเหล่าสรรพสัตว์ไปยังสุขาวดี และอุทิศผลานิสงส์ในการประกอบพิธีให้แก่ผู้บำเพ็ญทาน และผู้ร่วมพิธีโดยทั่วกัน ระหว่างการประกอบพิธี หรือหลังการประกอบพิธี ทางเจ้าภาพมักจัดอาหารหรือเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อแจกเป็นทานแก่ประชาชน ที่ยากไร้ ในการแจกอาหารเครื่องใช้เหล่านี้ มักนิยมแจกจำนวนมากตามกำลังของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่มักจะทำกันจำนวนมากๆ ทุกปี

 

ที่มา : เทศกาลทิ้งกระจาดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง    http://pohtecktung.org/index.php?option

พิธีลอยกระทง
พิธีลอยกระทงเป็นพิธีที่จัดขึ้นก่อนการประกอบพิธีเปรตพลีโยคกรรม โปรดวิญญาณผู้ที่ล่วงลับ พิธีลอยกระทงจัดขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศผลกุศลทานให้แก่ดวงวิญญาณในทางน้ำ ในสมัยโบราณชาวจีนเราเชื่อกันว่าสายน้ำจะเป็นทางเชื่อมต่อกับโลกวิญญาณได้ ดังนี้ก่อนการจะพิธีโยคะเพื่อโปรดวิญญาณ จึงมีการอธิษฐานจิตบอกกล่าวแก่สรรพสัตว์ทั้งปวงให้มีรับส่วนกุศลในพิธีโยคะ ในวันถัดมา
ในประเทศจีนมักมีการลอยกระทงในช่วงเดือนเจ็ด เพราะเชื่อกันว่าเป็นเดือนแห่งวิญญาณจึงมีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ เพื่อเป็นไฟนำทางแก่วิญญาณเร่ร่อน ในกระทงจะจุดโคมและมีอาหารบรรจุเพื่อเป็นทานแก่ดวงวิญญาณ พิธีลอยกระทงที่จัดในเทศกาลสารทจีน และเทศกาลกินเจจึงเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อประกอบการบำเพ็ญกุศลเป็นทานแก่ วิญญาณที่สิงสถิตย์อยู่ในแหล่งน้ำ
 
พิธีปล่อยชีวิตสัตว์
พิธีปล่อยชีวิตสัตว์เป็นพิธีที่ชาวพุทธฝ่ายมหายาน นิยมกระทำประกอบงานกุศลอยู่เสมอด้วยพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน ถือกันว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าเสมอกัน ชีวิตของสรรพสัตว์ทุกชีวิตไม่ว่าจะเกิดในภูมิมนุษย์หรือสัตว์เดรฉาน ย่อมต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารทั้งสิ้น การเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ตามย่อมเป็นไปตามกรรมที่เราก่อไว้ แม้เราไม่อาจฝืน แต่เราก็สามารถสร้างกรรมใหม่ได้ด้วยตัวเราเอง การดำรงชีวิตโดยไม่เบียดเบียนจึงเป็นทางที่ประเสริฐที่สุด พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเน้นหนักให้ ผู้บำเพ็ญงดจากการนำเนื้อผู้อื่นมาบริโภค เพราะการฆ่าเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต สัตว์ต่างๆ ครั้งหนึ่งก็คือมนุษย์ที่รับกรรมไปเกิดเป็นสัตว์การบริโภคเนื้อผู้อื่นจึง เป็นการก่อเวรไม่สิ้นสุด พิธีปล่อยชีวิตสัตว์จึงเป็นการสั่งสมกรุณาจิตให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
 
ความหมายวันอุลลัมพันหรือวันสาร์ทจีน
อุลลัมพัน หรือ อวลัมพัน เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ห้อยหัวลง หรือแขวนกลับ หมายถึง กลับทุกข์ให้เป็นสุข จึงเรียกว่าวันอุลลัมพัน การทำบุญในวันอุลลัมพัน คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ เป็นวันมหาปวารณา คือออกพรรษาตามแบบจีน มีที่มาจากมารดาของพระมหาโมคคัลลานะอรหันต์ เถระเจ้า อัครสาวกเบื้องซ้าย โปรดมารดา เมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ชอบติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ไม่เชื่อกรรม ชอบกินพวกเนื้อสัตว์ ประกอบปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่เป็นนิจโดยไม่เกรงต่อบาปบุญคุณโทษ เมื่อถึงแก่กรรมลงวิญญาณก็ได้ไปสู่ทุคติภูมิ เกิดเป็นเปรตในนรกอเวจี ทนทุกข์ทรมานอดอยากมีแต่หนังหุ้มกระดูก พระโมคคัลลานะอรหันต์เถรเจ้าผู้บรรลุอภิญญาหก ได้เล็งทิพยจักษุเห็นวิญญาณมารดาไปเกิดเป็นเปรตในนรกภูมิ ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ก็มีความสงสารมารดาเป็นอย่างยิ่ง ก็สำแดงอภินิหารเข้าญาณสมาบัติ นำอาหารในบาตรลงไปยังเมืองนรก เพื่อโปรดให้มารดาบริโภค เมื่อมารดาพบบุตรก็บังเกิดความโสมนัส รับบาตรอาหารจะเอาไปกิน แต่แล้วอาหารนั้นกลับกลายเป็นไฟลุกโชติช่วง ทำให้ต้องร้องด้วยความทุกข์เวทนาหนัก
พระโมคคัลลานะเห็นดังนั้น มีความสงสารมารดาเป็นอย่างยิ่ง ได้กลับมาทูลถามพระพุทธองค์ว่า ตนนั้นก็เป็นพระมหาเถระอัครสาวกของพระพุทธองค์ และบรรลุอรหันต์ภูมิแล้ว เหตุใดจึงไม่สามารถช่วยมารดาให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ตรัสดำรัสกับพระโมคคัลลานะว่า มารดาของเธอเป็นผู้ทำคุรุกรรมหนัก ลำพังเธอผู้เดียวไม่สามารถที่จะโปรดมารดาได้ ต้องอาศัยบารมีแห่งสงฆ์ทั้งหลายในวันปวารณา ถวายสังฆทานโดยบรรจุลงในภาชนะอุลลัมพัน แด่พระสงฆ์ทั้งปวง และอาศัยผลานิสงส์ บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดไตรมาส อุทิศให้มารดาเธอ ก็จะพ้นจากทุคติภูมิ พระโมคคัลลานะ ได้ฟังดังนั้น ก็กระทำตามพุทธดำรัสทุกประการ มารดาของท่านก็ได้ไปสู่สุคติพ้นจากทุคติวิบากกรรม
 
ต่อมาจึงเกิดประเพณีนิยมกันในประเทศจีน การถวายสังฆทาน ในวันออกพรรษาหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ จีนของทุกปี เรียกกันว่าวันอุลลัมพัน จะมีการถวายข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภค บรรจุลงในภาชนะเรียกว่า ขันอุลลัมพัน ถวายแก่พระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศล แก่ดวงวิญญาณของบิดามารดาในอดีตชาติ และบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นการตอบแทนพระคุณ และอุทิศเป็นกุศลบารมีแก่ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ( เศรษฐ์พงษ์ จงสงวน   ทิ้งกระจาด...ทานให้คนหรือให้ผี linlaoshi@buddhayan.com )
 

                      
 
 
<<< PREVIOUS      NEXT >>>