หากใช้สายตากราดเก็บข้อมูล (ภาษาอังกฤษคำว่า  SCAN  ซึ่งคนไทยเข้าใจมากกว่า?)
 ในท้องถนนทุกวันนี้พร้อมกับถามตัวเองว่าคนไหนคนไทยเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ถ้าจะตัดสินจากบุคลิกลักษณะ  การแต่งกาย  สิ่งของเครื่องใช้วิถีชีวิตการกินดื่ม 
อาจแยกไม่ออก  สิ่งเดียวที่พอจะเห็นเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยก็คือภาษาที่ใช้สื่อสารกัน 
ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด
                การที่คนไทยมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองและใช้มาอย่างยาวนาน 
แม้ในผืนแผ่นดินไทยจะมีภาษาและสำเนียงท้องถิ่นผสมผสานอยู่ไม่น้อย  แต่ส่วนใหญ่
แล้วก็ฟังเข้าใจกันได้โดยไม่ยาก  จึงเป็นเหตุให้คนไทยไม่ค่อยได้ตระหนักถึงคุณค่า
และความสำคัญของการมีเอกลักษณ์ทางภาษาและตัวหนังสือ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน
คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับโลกแห่งเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  ซึ่งมีเอกสาร  หนังสือ
ลายลักษณ์อักษรตลอดจนสื่อประเภทต่าง ๆ  ให้อ่านให้ดูอย่างหลากหลายจนลืมนึกไป
ว่าในอดีตอันยาวไกล  ภาษาเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษต้องสร้างสรรค์  กลั่นกรองและ
ถ่ายทอดมาด้วยภูมิปัญญาอย่างไร  กว่าจะกลายเป็นวัฒนธรรมในวิถีชีวิตและสังคม
ของเผ่าพันธุ์ไทย  มั่นคงดำรงมาได้จนปัจจุบัน

 
           
 

นอกจากภาษาพูดแล้ว  ภาษาเขียนหรือการที่เรามีอักษรไทยนับเป็นวัฒนธรรมและ
ภูมิปัญญาขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง  เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วจึงควรที่จะมาทบทวนกันในวาระ
วันภาษาไทยแห่งชาติปีนี้ว่า  ตัวหนังสือไทยที่เราใช้กันในปัจจุบันเกิดขึ้นและมีการจดจาร
จารึกกันไว้ที่ไหนอย่างไรบ้าง
                ชาติไทยเป็นชาติหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่มีรูปอักษรและ
อักขรวิธีเป็นเอกลักษณ์ของตนเองลายลักษณ์อักษรและอักขรวิธีมิใช่เป็นเพียงเครื่องมือ
ที่ใช้สื่อภาษาในสังคม  หากยังแสดงถึงความเจริญยิ่งทางอารยธรรมและวัฒนธรรมด้วย
 เพราะบางชนชาติในโลกมีเฉพาะภาษาพูดแต่ไม่มีรูปอักษรที่ใช้สื่อภาษาของตนเป็น
ภาษาเขียน  จึงไม่สามารถบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์หรือวิชาความรู้สืบทอดต่อมา
ยังอนุชาได้สมบูรณ์ครบถ้วน  เพราะการถ่ายทอดด้วยการบอกเล่า  ย่อมทำให้สาระสำคัญ
หดหายผิดเพี้ยน  เกิดการตีความแล้วเข้าใจแตกต่างกันตามกาลเวลา

 
           
 
Main             Home
 
Next