ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏ กล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวาย เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล
พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ กระทงรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกว่า "ลอยกระทงประทีป" ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงตัดพิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าสิ้นเปลืองออก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก ปัจจุบันนี้ การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็นประจำตลอดมา
การลอยกระทงนั้น จะมีการจุดธูป จุดเทียน ปักบนสิ่งที่ไม่จมน้ำ และจะประดิษฐ์ เป็นรูปต่างๆ เช่น กระทงเรือ แพ ดอกบัว แล้วนำไปปล่อยให้ลอย ไปตามน้ำ สมัยก่อนกระทงทำด้วยใบตอง ใบพลับพลึง กาบมะพร้าว ปัจจุบันนิยมใช้โฟมและพลาสติก ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน ทำให้น้ำท่วมขังและสิ่งที่ควบคู่ไปกับการลอยกระทง ก็คือ การจุดดอกไม้ไฟชนิดต่างๆซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนอกจากเกิดเสียงรบกวนแล้ว ยังอาจเกิดอันตราย เมื่อระเบิดถูกร่างกายหรือเกิดเพลิงไหม้ได้ และยังเป็นการ สิ้นเปลืองเงิน โดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย ในการเล่นดอกไม้ไฟเราจึงควรระวัง อย่าให้ประเพณีที่มีแต่ความดีงามต้องกลายเป็นความน่ากลัวไป
การลอยกระทง เป็นประเพณีที่อยู่ควบคู่กับคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เราในฐานะลูกหลานคนไทยจึงควรช่วยกันรักษาไว้อย่าให้ประเพณีนี้ ต้องเสื่อมและหมดคุณค่าลงเพราะเรา เพื่อทำให้ การลอยกระทง เป็นประเพณี ที่คงไว้ซึ่งความเป็นไทยและงดงามคงอยู่สืบไปนานเท่านาน..
|