เรื่องสำหรับการแสดง
เรื่องที่หนังใหญ่ใช้แสดง นิยมเรื่องรามเกียรติ์กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีคำพากย์รามเกียรติ์ของเก่าปรากฏอยู่ และหนังก็เป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่ปรากฏเป็นตำนานในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้พระมหาราชครูแต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ขึ้นสำหรับเล่นหนังอีกเรื่องหนึ่ง และดูเหมือนว่าศรีปราชญ์จะได้แต่งอนิรุทธิ์คำฉันท์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเล่นหนังอีกเรื่องหนึ่งด้วย แต่ทั้งสองเรื่องนี้จะไม่ทันได้นำออกเล่นหรืออาจจะไม่ได้รับความนิยมจึงไม่ปรากฏว่าได้ใช้เป็นเรื่องเล่นหนังกันสืบมา
เหมือนอย่างเรื่องรามเกียรติ์
นอกจากนี้ เชื่อกันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยายเรื่องอิเหนา (ปันหยี) ของชวาได้เข้ามาแพร่หลาย
ในราชสำนักไทย และคงมีผู้แต่งเป็นคำพากย์หรือบทละครไว้สักเรื่อง ๒ เรื่อง หรือเป็นตอนใดตอนหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าต้นฉบับได้สูญหายไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ คำพากย์เรื่องอิเหนาได้ถูกรวบรวมหรือถูกแต่งขึ้นใหม่อีกในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดเป็นข้อมูลสร้างความบันดาลใจให้คิดแต่งเป็นบทละครเรื่องอิเหนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ เรื่องอิเหนาและเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ไม่ปรากฏมีตัวหนังใหญ่หลงเหลือให้เห็น แต่ก็ปรากฏมีรูปภาพเขียนบนกระดาษแข็งและผืนผ้าให้เห็นเค้าว่าน่าจะเคยสลักลงในผืนหนัง
หนังใหญ่ของชวาที่มีชื่อว่า “วายังปูรวา” (wayang purava) ซึ่งเป็นวายังเก่าหรือดั้งเดิม แม้เรื่องที่นิยมใช้เล่น
จะไม่เหมือนกับของไทย คือนิยมเล่นเรื่องมหาภารตะมากกว่าเรื่องรามายณะ และตอนที่นิยมเล่นกันมากคือตอน
“อรชุนวิวาห์” ส่วนเรื่องรามายณะก็เคยเล่นกันมาแต่ก่อนเรื่องมหาภารตะอีกด้วย เรื่องปันหยีหรืออิเหนาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นิยมเล่นกันมากในชวา ไทยเราอาจได้แบบอย่างมาจากชวาบ้างก็ได้ หนังใหญ่ที่แสดงตอนกลางวันจะมีการแต่งชุดระบำสวย ๆ ถ้าเป็นหนังใหญ่ที่แสดงตอนกลางคืนต้องมีการแสดงเบิกหน้าพระหรือบทไหว้ครูก่อนแสดง จากนั้นจะแสดงเรื่องสั้น ๆ เป็นการเบิกโรงเสียตอนหนึ่งก่อน แล้วจึงจับเรื่องใหญ่แสดงต่อไปตามเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องที่ใช้แสดงตอนเบิกโรงแต่โบราณมามีหลายเรื่อง เช่น บ้องตันแทงเสือ หัวล้านชนกัน แทงหอก และจับลิงหัวค่ำ
เป็นต้น แต่ในระยะหลังนี้แสดงกันแต่ชุดจับลิงหัวค่ำ |
|
ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ. 2520, ไม่ปรากฎเลขหน้า |
วิธีการแสดง
ถ้าเป็นการแสดงตอนกลางวัน จะแสดงจับระบำชุดเมขลา-รามสูร ประกอบร้องเพลง พระทอง เบ้าหลุด บะหลิ่ม และสระบุหรง เพลงทั้งสี่คือระบำ ๔ บท ซึ่งเป็นการเลียนแบบการเล่นละครมาแสดงประกอบกับตัวหนังใหญ่นั่นเอง
ถ้าเป็นการแสดงตอนกลางคืน จะเริ่มต้นด้วยพิธีเบิกหน้าพระหรือการไหว้ครู ซึ่งขั้นตอนมีดังนี้ คือ ผู้เป็นเจ้าของคณะหนังใหญ่จะนำหนังเจ้าหรือหนังครูทั้งสาม คือ ฤาษี ๑ พระอิศวรหรือพระนารายณ์ ๑ ทศกัณฐ์ ๑ ออกมาปักไว้หน้าจอเสียบไว้กับผืนจอหนังหรือกับเสาจอหนังก็ได้ รูปฤาษีเอาไว้ตอนกลาง รูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์จะเอาไว้ทางขวามือ รูปทศกัณฐ์ไว้ทางซ้ายมือของคนไหว้ครู ดังคำพากย์ไหว้ครูตอนท้ายของทวยที่ ๑ ว่า “เบื้องซ้ายข้าไหว้ทศกัณฐ์ เบื้องขวาอภิวันท์ สมเด็จพระรามจักรี” และเงินกำนลจากเจ้าภาพ ๒ สลึงเฟื้อง ปัจจุบัน ๑๒ บาท เทียนขี้ผึ้ง ๓ เล่ม บางคณะมีหัวหมู ๒ หัว ไก่ ๒ ตัว บายศรีปากชาม กล้วยสุก ๒ หวี มะพร้าวอ่อน ๒ ผล เหล้า ๒ ขวด ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ไข่ต้ม ๒ ฟอง เมื่อได้เครื่องสังเวยครบแล้วบูชาครูอัญเชิญครูสังเวยเครื่องสังเวย ผู้เป็นหัวหน้าประกอบพิธีทำน้ำเทพมนต์ศักดิ์สิทธิ์พรมทุกคนในคณะจอหนัง ตัวหนัง ดนตรีปีพาทย์ คนดู เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญและกำลังใจในการแสดงเสร็จแล้วจุดเทียนเล่มหนึ่งไปให้วงปี่พาทย์ติดไว้ที่ตะโพน เริ่มอ่านโองการเบิกหน้าพระ ปี่พาทย์เริ่มโหมโรงเหมือนโหมโรงเย็น และหยุดบรรเลงที่เพลงเสมอ ครูผู้ทำพิธีก็กล่าวนมัสการตามพิธีแล้วจุดเทียนอีกเล่ม ติดตรงปลายไม้คาบหนังอันหน้าของรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และรูปทศกัณฐ์ซึ่งอยู่ตรงปลายศรพอดี พวกนักแสดงโห่ขึ้นสามลา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด ผู้เป็นครูเอาหนังรูปฤาษีเก็บเข้าโรง คนเชิดหนัง ๒ คนจับหนังพระอิศวรพระนารายณ์และหนังทศกัณฐ์ขึ้นเชิดออกมาพ้นจากจอ ทำท่าทางสัก ๒-๓ ท่าไม่มากนัก จะเป็นแบบท่าของตัวพระ ไม่มีการเต้น ไม่มีการเก็บเท้าแบบยักษ์และลิง แล้วนำหนังเจ้าเข้าทาบจอดังเดิม ปี่พาทย์หยุดบรรเลงเพลง คนพากย์เริ่มพากย์ไหว้ครู ๓ ตระซึ่งมี ๓ ทวยด้วยกัน |
|
ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ. 2520, ไม่ปรากฎเลขหน้า |
|