หนังใหญ่วัดขนอน

ศาลาท่าน้ำ ริมแม่น้ำแม่กลอง  ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

วัดขนอน
                วัดขนอนตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง  ด้านหน้าจดแม่น้ำ  ด้านหลังจดถนนลูกรัง  มีเนื้อที่ประมาณ  ๒๐  ไร่  อยู่ที่ตำบลสร้อยฟ้า  อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี  อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ  ๒  ก.ม.  ตามถนนคันคลองของชลประทาน  แล้วเลี้ยวเข้าถนนลูกรังอีกประมาณ  ๔  ก.ม.  วัดขนอนอยู่ทางขวามือของถนน  ผู้ให้ความสนับสนุนการแสดงหนังใหญ่ตลอดมาคือพระอิการจวน  กนฺตจิตโต  ภายหลังเปลี่ยนเจ้าอาวาสหลายครั้ง  ทำให้การสนับสนุนหนังใหญ่ขาดความต่อเนื่อง  ที่บริเวณวัดมีโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย  และมีที่พักสำหรับผู้ที่ต้องการไปพัก

ประวัติของหนังใหญ่วัดขนอน
                ท่านพระครูศรัทธาสุนทร  ซึ่งชาวบ้านเรียกหลวงปู่กล่อม  เจ้าอาวาสวัดขนอน  เกิดเมื่อปี  ๒๓๙๑  มรณภาพเมื่อ  ๒๔๘๕  เป็นผู้เริ่มคิดสร้างหนังใหญ่ขึ้น  เมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว  เพราะมีความสนใจด้านการช่าง  ที่วัดมีหนังเป็นตัวอยู่บ้างแล้ว  คือหนังเดี่ยวตัวไม่ใหญ่  เรียกว่าหนังกลาง  ประกอบกับมีนายอั๋งผู้เคยเป็นโขนคณะของพระแสนทองฟ้าเจ้าเมืองราชบุรีมาชวนให้ทำหนังใหญ่เป็นสมบัติของวัด  ท่านพระครูจึงได้ชวนช่างจาด  ช่างจ๊ะ  ชาวราชบุรี  และช่างพ่วงชาวบ้านโป่งมาร่วมกันทำตัวหนัง  โดยครูอั๋งเป็นช่างสลัก  และอีก  ๓  คนเป็นช่างเขียน  ท่านพระครูจะเป็นผู้บอกว่าใครควรจะเป็นผู้เขียนรูปตัวใด  หนังชุดแรกที่สร้างคือชุดหนุมานถวายแหวน  ต่อมามีการสร้างหนังใหญ่เพิ่มเติมชุดที่สองช่างจ๊ะเป็นผู้เขียนและสลักแต่ผู้เดียว  ไม่มีผู้จำได้ว่าเป็นชุดอะไรและมีกี่ตัว  หลังจากนั้นก็มีการสร้างต่อมาอีกหลายชุด  ชุดสุดท้าย  คือชุดทศกัณฑ์สั่งเมือง  ช่างจ๊ะเป็นผู้เขียนและสลัก  ส่วนชุดอื่นๆ  นอกจากนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นช่าง  รวมตัวหนังทั้งหมดประมาณ  ๓๓๐  ตัว  มีชุดต่าง ๆ  ดังนี้
                                ๑.  ชุดหนุมานถวายแหวน
                                ๒.  ชุดสหัสสกุมารและเผาลงกา
                                ๓.  ชุดศึกอินทรชิตครั้งที่  ๑
                                ๔.  ชุดศึกมังกรกัณฐ์
                                ๕.  ชุดศึกวิรุญมุข
                                ๖.  ชุดนาคบวช
                                ๗.  ชุดพรหมาสตร์
                                ๘.  ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งที่  ๕
                                ๙.  ชุดหนุมานอาสา
                                ๑๐.  ชุดทศกัณฐ์สั่งเมือง
                                ๑๑.  ชุดศึกบรรลัยกัลป์

นายละออ ทองมีสิทธิ์ อายุ 88 ปี   ผู้พากย์ และผู้ให้บทพากย์โบราณ    ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

การที่วัดขนอนสร้างหนังใหญ่ได้มาก  เป็นเพราะชาวบ้านมีศรัทธา  นำหนังวัวมาถวายวัดชาวบ้านใช้วัวทำนา  เมื่อวัวตายจะแล่หนังมาให้วัดทำหนัง  เมื่อมมีหนังวัวมาก  วัดจึงเสร้างหนังใหญ่ได้มากและมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ  บางตัวสูง  ๒  เมตร  กว้าง  ๑  เมตรครึ่ง  ปัจจุบันตัวหนังได้หายไปบ้าง  ชำรุดบ้าง  บางตัวก็ฆ่าไม่ลง  (ย่น)  บางตัวยังไม่เคยออกแสดง
                หนังใหญ่ทั้งหมดถือเป็นสมบัติของวัดวัดขนอน  คณะหนังใหญ่จะเป็นชาวบ้านในละแวกนั้นซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัด  ถ้ามีผู้ต้องการหาไปเล่นต้องไปติดต่อกับวัดทางวัดจะจัดและรับผิดชอบทุกอย่าง  รายได้จะเป็นของวัด  ใช้ทุนบำรุงวัดและคณะหนัง  นายลออ  ทองมีสิทธิ์  เป็นทั้งครูหนังและนายหนังตลอดมา  และเพิ่มเสียชีวิตไปเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ผู้ร่วมคณะมีประมาณ  ๒๕  คน  นายลออเป็นผู้พากย์หนังที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถเท่า  โดยเฉพาะเป็นผู้จดจำบทได้แม่นยำ  และมีบทพากย์ไว้เกือบครบทุกชุด  ปัจจุบันได้มอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  ข้อมูลต่าง ๆ  เกี่ยวกับหนังใหญ่วัดขนอน  นายละออเป็นผู้จดจำและเล่าไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ทราบ
                เดิมผู้พากย์หนังคนแรกคือครูอั๋ง  คืออาของนายละออ  ชื่อเพิ่มเดิมเป็นหมื่นพินิจอักษร  เสมียนของพระแสนทองฟ้า  นายเพิ่มได้หัดให้นายลออพากย์หนังต่อมาผู้เชิดสมัยก่อนคือครูบก  (ซึ่งพากย์ด้วย)  เป็นครูของผู้เชิดรุ่นต่อ ๆ  มาจนทุกวันนี้
                เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒  การแสดงหนังใหญ่ได้หยุดไป  เพราะสภาวะบ้านเมือง  ไม่มีใครดูแลรักษาตัวหนัง  เนื่องจากท่านพระครูศรัทธาสุนทรมรณภาพ  ตัวหนังถูกทิ้งอยู่กับดินใต้ถุนกุฏิเมื่อสงครามเลิกมีชาวต่างประเทศมาพบเข้า  จึงได้จัดการเอากลับมาเก็บบนกุฏิอีกครั้ง
                ปัจจุบันผู้แสดงหนังใหญ่วัดขนอนเป็นชุดใหม่ซึ่งศึกษาต่อมาจากครูเก่า  นายจาง  กลั่นแก้วซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูบก  เป็นผู้ฝึกซ้อมเด็กรุ่นใหม่  คนพากย์คือนายประสบ  วงศ์จีน  และนายวุ้น  ขังเกศ  ซึ่งเรียนพากย์จากนายลออ  ผู้เชิดส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ทางวัดเลี้ยงไว้
                วัดขนอนเป็นแห่งเดียวที่มีหนังจำนวนมากที่สุด  และมีตัวหนังครบเป็นเรื่อง  และมีการเล่นกันอยู่จนทุกวันนี้  แต่นับวันก็จะได้เล่นน้อยลงไม่ค่อยได้เล่นตอนยาวๆต่างจังหวัดทางภาคใต้นิยมจ้างมากกว่าที่อื่น นอกจากนี้ก็มีการแสดงบทสั้น ๆ  สาธิตให้ผู้ที่ต้องการดู  หรือเพื่อการศึกษา

<<< PREVIOUS     NEXT >>>