สมัยกรุงธนบุรี
                มีหลักฐานเกี่ยวกับหนังใหญ่ปรากฏแต่เพียงว่า  มีหนังของจีนเข้ามาเล่นในเมืองไทยครั้งหนึ่งดังความที่บันทึกในจดหมายเหตุครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อคราวฉลองพระแก้วมรกต  พ.ศ.  ๒๓๒๒

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
                ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่  ดังนี้
                สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่  ๑  มีหลักฐานว่าการแสดงหนังใหญ่ใช้บทละครเรื่องอิเหนา  ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  ๑  แต่ไม่นิยมเล่าเรื่องอิเหนาตลอดมา
                สมยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชการที่  ๒  ได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์  มีประชุมบทพากย์รามเกียรติ์  หนังใหญ่ที่มีการสร้างในสมัยนี้ได้แก่หนังใหญ่ที่เรียกว่า  หนังกลางคืน  ปรากฏชัดเจน  ๒  แห่ง  คือ  หนังใหญ่ชุดพระนครไหวของวัดพลับพลาไชย  จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งถูกไฟไหม้เกือบหมดเมื่อนำมาเก็บไว้  ณ  ฝาผนังโรงละครแห่งชาติหลังเก่า  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๐๓  และหนังใหญ่วัดบ้านดอน  จังหวัดระยอง  หนังทั้งสองแห่งนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน
                สมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน  แต่เท่าที่มีนักศึกษาชาวต่างประเทศและผู้สนใจพบหนังใหญ่บริเวณจังหวัดอยุธยาสมุทรสงคราม  ราชบุรี  (อำเภอดำเนินสะดวก)  มีหนังที่มีลักษณะเป็นหนังใหญ่ของไทย  จากการสัมภาษณ์อาจารย์เสรี  คุปตะคีตพันธ์  ซึ่งได้เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมันพบหนังชุดนี้รวมอยู่ประมาณ  ๓๕๔  ตัว  สันนิษฐานว่าคงจะมีการทำหลังจากสมัยรัชกาลที่  ๒  แล้ว  แต่ไม่ถึงรัชกาลที่  ๕
                สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  มีการทำหนังใหญ่  ที่พบจะเป็นหนังกลางวัน  มีการแกะสลัก  ตัวหนังลวดลายคล้ายคลึงกัน  เรื่องราวที่ใช้แสดง  สีสันความคงทนถาวรของตัวหนังต่อธรรมชาติ  ไม่มีการยืดหด  หงิกงอ  หนังชุดนี้การสร้างมีระยะเวลาใกล้เคียงกัน  คือประมาณร้อยปีเศษ  พบ  ๒  แห่ง  คือ  หนังใหญ่ของวัดสว่างอารมณ์  จังหวัดสิงห์บุรีและหนังใหญ่วัดขนอน  จังหวัดราชบุรี
                ปัจจุบันไม่พบว่ามีหนังใหญ่ที่ทำขึ้นแสดงหลังจากที่ทำในสมัยรัชกาลที่ ๕  ที่ใช้แสดงได้ก็เก่าเก็บเต็มที  นับได้ว่าหนังใหญ่เป็นของคู่บ้านคู่เมืองของไทยอย่างแท้จริง  หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงที่เจริญคู่กับคนไทยทุกสมัย  และยุคนั้นมหรสพมีไม่มาก  จึงไม่มีมหรสพใดมาเทียบกับหนังใหญ่ได้เพราะจอหนังสูงใหญ่  ตัวหนังมองเห็นได้ไกล  มีดนตรีประกอบอึกทึกเสียงดัง  พอจะเรียกคนดูได้ทั้งหน้าโรงและหลังโรง

ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ. 2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

ความเป็นมาของคำว่า  “หนัง”
                คำว่า  “หนัง”  เกิดมาจากการละเล่นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวไทยสมัยโบราณชนิดหนึ่ง  ที่เรียกว่า  “หนัง”  เพราะเหตุว่ารูปภาพแทนบุคคลหรือตัวละครที่ใช้เล่นนั้นประดิษฐ์ขึ้นด้วยหนังสัตว์เช่น  หนังโค  หนังกระบือ  หนังแพะ  จึงเรียกการละเล่นชนิดนั้นว่า  “หนัง”  และคำว่าหนังเฉย ๆ  คำเดียวโดด ๆ  นี้  เป็นคำที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมทั่วไปทั้งในภาคกลางและภาคใต้  คำและความหมายในทำนองเดียวกันนี้  ตามภาษาที่พวกชวา-มลายูใช้เรียกชื่อหนังของตนว่า  “วายังปูรวา”  หรือ  “วายังกุลิต”  (WAYANG PURAVA  or WAYANG KULIT)  ซึ่งแปลว่ารูปที่ทำด้วยหนังสัตว์  (วายัง =  หนังสัตว์  ส่วน  วายังปูรวา  แปลว่า  วายังเก่าหรือวายังดั้งเดิมมีขึ้นก่อนวายังชนิดอื่น ๆ)
                หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแต่ก่อนเราเรียกหนังเพียงคำเดียว  คือ  ในบทละครเรื่องอิเหนา  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑  ฉบับพิมพ์  พ.ศ.  ๒๔๖๐  มีว่า
                “ดาหลังวายังแล้วชูเชิด                                     ฉลุฉลักลายเลิศเลขา”

ประวัติความเป็นมาของหนัง
          หนังเป็นมหรสพที่เกิดขึ้นในยุคโบราณเมื่อประมาณ  ๒,๐๐๐  ปีมาแล้ว  และเป็นการละเล่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ  เช่น  อินเดีย  จีน  อียิปต์  เป็นต้น  ซึ่งแต่ละประเทศไม่จำเป็นจะต้องลอกเลียนแบบไปจากกันก็ได้  เพราะประเทศที่เคยมีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อนและมีพลเมืองมากย่อมสามารถที่จะคิดประดิษฐ์ขึ้นเองได้ตามสภาพ  ยกเว้นประเทศเล็กและด้วยความเจริญส่วนใหญ่มักรับอิทธิพล  ได้รับการถ่ายทอดแบบอย่างจากเมืองแม่บททางอารยธรรม  ต้นกำเนิดหนังในประเทศไทยเกิดจากอินเดีย  ต่อมาอินเดียได้ถ่ายทอดแบบอย่างให้แก่อาณาจักรศรีวิชัย  โดยเฉพาะบนเกาะชวา  หนังเจริญแพร่หลายมาก  ไทยเราก็ได้แบบอย่างการเล่นหนังสือต่อมาจากอาณาจักรทะเลใต้  ในสมัยศรีวิชัยอีกทอดหนึ่ง  โดยได้รับผ่านมาทางแหลมมลายู
                หลักฐานเกี่ยวกับหนังที่เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาบาลีชื่อ  “เถรีกถา”  (SONG OF THE NUNS)  นอกจากนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาภารตะหลายตอน  ยิ่งในชั้นหลัง ๆ  ได้ปรากฏอยู่ในหลักฐานเรื่องต่าง ๆ  มากมาย  โดยเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า  “ฉายานาฏกะ”  มีเล่นกันแพร่หลายจนกลายเป็นธรรมดาไปในอินเดียโบราณ  ในสมัยที่พ่อค้าพาณิช  นักบวช  นักเผชิญโชคชาวอินเดียเดินทางแล่นเรือมาติดต่อค้าขายยังดินแดนเอเชียอาคเนย์  ประมาณพุทธศตวรรษที่  ๖-๗  เป็นต้นมาจนถึงสมัยศรีวิชัย  (พุทธศตวรรษที่  ๑๓-๑๘)  ชาวอินเดียนอกจากนำศาสนาพราหมณ์  ศาสนาพุทธ  และศิลปะวิทยาการมาเผยแพร่ให้กับคนพื้นเมืองแล้ว  คงนำเอาการละเล่นต่าง ๆ  และดนตรีหลายชนิดมาเผยแพร่ด้วยป็นแน่  ชาวอินเดียที่เดินทางมายังอาณาจักรทะเลใต้ก็ลงเรือจากฝั่งตะวันออกของอินเดียใต้ข้ามทะเลมุ่งมายังสุมาตรา  ชวา  และแหลมมายู  นำเรื่องรามายณะและมหาภารตะ  มาเผยแพร่สิ่งสอนจนเป็นที่นิยมฝังใจชาวพื้นเมืองมาจนทุกวันนี้  โดยเฉพาะเรื่องรามายณะได้รับความนิยมยกย่องมากที่สุด
                หนังที่คนไทยรับเข้ามามิได้รับเข้ามาทุกรูปแบบ   แต่ได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะถูกกับความนิยมและลักษณะแบบแผนของคนไทย  หนังคงจะเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว  มีหลักฐานปรากฏในกฎมณเฑียรบาล  พ.ศ.  ๒๐๐๑  ส่วนในชวา  มีหลักฐานทำให้มือในรูปของหนังเคลื่อนไหวแสดงกิริยาท่าทางได้  เริ่มเกิดขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่  ๒๓  จึงเข้าใจว่าหนังตะลุงภาคใต้ของไทยก็คงจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้
               

<<< PREVIOUS   NEXT >>>