ชนิด  ลักษณะตัวหนัง  องค์ประกอบ  และกรรมวิธี
ในการสร้างตัวหนังใหญ่ของไทย

          หนังใหญ่เป็นการแสดงที่เกิดจากการเอาศิลปะแขนงต่าง ๆ  คือ  หัตถศิลป์  นาฏศิลป์  คีตศิลป์  และดุริยางคศิลป์  และวรรณศิลป์  มาผสมผสานกันให้สอดคล้อง  เหมาะสม  เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม  อันแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางด้านการแสดงของบรรพบุรุษของศิลปินไทย
                เอกลักษณ์ที่เชิดหน้าชูตาของหนังใหญ่ในขณะนี้คือ  ความเก่าแก่  สวยงามของตัวหนัง  ใคร่ขอแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงกรรมวิธีในการทำรูปหนังในเชิงวิทยาศาสตร์  หัตถกรรม  และจิตรกรรม  ตัวหนังใหญ่เกิดจากการนำหนังสัตว์ที่ตายแล้วฉลุเป็นภาพและลวดลาย  ใช้สีระบายเพื่อให้เกิดความสวยงาม  หนังใหญ่แต่ละตัวแกะฉลุลายตามเนื้อเรื่องที่แสดง  เป็นตัวละครที่มีอยู่ในเรื่องเป็นภาพฉากต้นไม้  ภูเขา  ป่า  สระน้ำ  ปราสาท  ยานพาหนะ  ตัวละคร  ภาพการต่อสู้  ซึ่งแต่ละตอนของเรื่องที่แสดงจะมีตัวหนังใหญ่เป็นภาพตัวหนังบรรยายกิริยาอาการคล้าย ๆ  กับภาพสไลด์ที่ใช้บรรยายประกอบการอภิปรายเรื่องราวต่าง ๆ

ชนิดของตัวหนังใหญ่ของไทย
                หนังใหญ่ของไทยแยกเป็นตัวหนังที่ใช้เวลาแสดงได้  ๒  ชนิด  คือ  หนังที่ใช้แสดงในเวลากลางคืนได้อย่างเดียวชนิดหนึ่ง  กับอีกชนิดหนึ่งคือหนังที่ใช้แสดงได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  ดังจะได้แนะนำรายละเอียดดังนี้

ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ. 2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

- หนังที่ใช้แสดงกลางคืนได้อย่างเดียว  เรียกว่า  หนังกลางคืน  มีพื้นเป็นสีดำกับสีขาว  ๒  สี  หนังใหญ่ที่พบว่าเล่นกลางคืนปัจจุบันมี  ๒  แห่ง  คือ  หนังใหญ่วัดพลับพลาไชย  จัวหวัดเพชรบุรี  และหนังใหญ่วัดบ้านดอน  จังหวัดระยอง
                - หนังใหญ่ที่ใช้แสดงได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  เรียกว่า  หนังกลางวัน  มีหลายสี  คือ  สีขาว  สีดำ  สีเขียว  สีเหลือง  สีแดง  สีจะช่วยขับให้ตัวหนังมีความสวยงามเด่นชัดขึ้น  หนังกลางวันที่พบในปัจจุบันมี  ๒  แห่ง  คือ  ที่วัดขนอน  จังหวัดราชบุรี  และวัดสว่างอารมณ์  จังหวัดสิงห์บุรี

ลักษณะตัวหนังใหญ่ของไทย
                หนังใหญ่เป็นแผ่นหนังโคและหนังกระบือที่ฉลุสลักเป็นภาพที่เป็นไปตามเนื้อเรื่องที่ใช้แสดงซึ่งแบ่งตามลักษณะท่าทาง  กิริยาอาการ  อิรยาบถ  ที่อยู่อาศัย  ธรรมชาติ  ฯลฯ  ได้  ๗  ชนิด  คือ

๑.  นังเจ้าหรือหนังครู  เป็นตัวหนังที่ใช้สำหรับพิธีไหว้ครู  ไม่ใช้แสดง  มี  ๓  ตัว  คือ  พระฤาษี  พระอิศวรหรือพระนารายณ์  และทศกัณฐ์  หนังพระอิศวรหรือพระนารายณ์  และทศกัณฐ์  เรียกว่า  “พระแผลง”  เพราะหนังครูทั้งสองภาพเป็นท่าแผลงศร
๒.  หนังเฝ้าหรือหนังไหว้  เป็นภาพหนังเดี่ยว  หน้าเสี้ยว  พนมมือ  ถ้าเป็นตัวหนังที่ถืออาวุธ  ปลายอาวุธจะสอดใต้รักแร้  และชี้ไปทางเบื้องหลัง  หรือเหน็บไว้กับเอว  หนังไหว้ได้  หนุมาน  องคต  สุครีพ  พิเภก  เป็นต้น  หนังชนิดนี้ใช้แสดงตอนเข้าเฝ้า  สูงประมาณ  ๑  เมตร

หนังครูฤาษ
 
หนุมานเข้าเฝ้า

๓.  หนังคเนจรหรือหนังเดิน  ในบางครั้งเรียกหนังชนิดนี้ว่า
  “ตัวเดิน”  เป็นภาพหนังเดี่ยว  หน้าเสี้ยว  ถ้าเป็นตัวหนัง
ที่เป็นตัวพระ  ตัวนาง  ตัวยักษ์  จะอยู่ในท่าเดิน  หนังชนิดนี้ใช้ตอนยกทัพตรวจพลกองทัพของตัวนาย  ถ้าเป็นลิงมักสลักเป็นท่าหย่อง  (คือการเอาเท้าทั้งสองวางกับพื้นส้นเท้าข้างหนึ่งวางบนพื้น  ส้นเท้าอีกข้างหนึ่งต้องพ้นจากพื้นเล็กน้อยแล้ว
หลบเท้าข้างนั้นลงนิดหน่อย)  หนังชนิดนี้จะสูง
ประมาณ  ๑.๕๐  เมตร  หนังตัวเดิน  ได้แก่ 
พระรามตัวเดิน  ทศกัณฐ์ตัวเดิน  นางสีดาตัวเดิน  เป็นต้น

พระรามตัวเดิน
ที่มา : เสถียร ชังเกตุ. 2538,10-11
นางสีดาตัวเดิน
<<< PREVIOUS    NEXT>>>