กรรมวิธีในการสร้างตัวหนังใหญ่ของไทย

การเตรียมหนัง
                มีหนังสัตว์หลายชนิดที่สามารถนำมาฟอกแล้วแกะฉลุลายเป็นรูปตัวหนังได้  เช่น  หนังโคหนังกระบือ  หนังเสือ  หนังหมี  หนังแพะ  แต่คนไทยนิยมใช้หนังวัวมากกว่าหนังชนิดอื่น ๆ  หนังควายหนา  ขูดและฉลุลายลำบาก  หนังวัวมีความบางกว่า  มีความโปร่งใส  เช่น  หนังแก้ว  ถ้าเป็นหนังลูกวัวจะบางใสกว่า  ในสมัยโบราณ  เมื่อได้หนังวัวมาสด ๆ  ก็นำมาหมักไว้กับน้ำปูนขาว  แล้ว
เอาขึ้นมาตำในครกตำข้าวให้นิ่ม  แล้วแช่ในน้ำแช่ด้วยลูกลำโพงที่มีดอกสีแดงและสีขาว  ลูกลำโพงจะฟอกเอาความขื่นขม  พิษที่มีอยู่ในแผ่นหนังออก  หมักไว้จนเห็นว่าหนังได้ถูกฟอกออกหมดแล้ว  คือประมาณ  ๓-๕  วัน  ก็อาจจะเอาขึ้นมาตำในครกอีก  พอเห็นว่าหนังอ่อนนิ่มได้ที่ดีแล้วก็เอาหนังมาขึงให้ตึง  ผึ่งแดดให้แห้ง  พอหนังเริ่มแห้งสนิท  ใช้กะลามะพร้าว  มีด  สิ่ว  เปลือกหอย  ขูดพังผืดและขนออกจนกระทั่งหนังทั่วแผ่นบางเท่า ๆ  กัน  มีความเรียบสะอาด  ต่อจากนั้นก็เอาแผ่นหนังมาขึงให้ตึง  ตากแดดให้แห่งสนิท  แล้วจึงเริ่มกรรมวิธีการให้สีพื้นหนัง  กรรมวิธีการฟอกหนังที่กล่าวมาแล้วเป็นกรรมวิธีที่เรียกว่า  ฆ่าหนังให้ตาย  คือ  หนังจะเรียบ  ไม่หงิกงอ  เหี่ยวย่น  หนังจะคงอยู่ในสภาพเรียบแบนเป็นระยะเวลานับร้อย ๆ  ปี
                ในบางแห่งไม่มีการหมักหนังก่อน  เมื่อได้หนังสด ๆ  มาก็คลุกกับขี้เถ้าแล้วนำมาขึงในกรอบไม้โดยใช้ตะปูตอกยึดให้ตึงตลอดทั้งผืน  ใช้มีดชำแหละพังผืดที่ติดมากับหนังออกให้หมด  แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง  จึงถอดจากกรอบ  ใช้มีดขูดตกแต่งหนังทั้งสองด้านโดยขูดเอาขน  พังผืด  และไขมันออก  แล้วนำไปฟอก
                การฟอกหนังในปัจจุบัน
                ในบางท้องถิ่นใช้ลูกมะเฟือง  ข่า  ใบสมอ  อาจนำหนังสด ๆ  มาตำกับใบสมอและข่าผสมกับน้ำ  หมักกับหนังจนขนหนังหลุด  จากนั้นนำหนังไปล้างให้สะอาด  แล้วนำไปขึงกับกรอบไม้ตากลมจนแห้ง  บางช่างอาจยังไม่นำไปตากแดดเลย  แต่จะแช่น้ำข่ากับใบสมอไว้ประมาณ  ๑  วัน  นำหนังไปล้างจนสะอาดแล้วขึงตากลม  การทำในลักษณะนี้นาน ๆ  ไปหนังจะย่น  เป็นฝ้าขาวที่ผืนหนัง  ช่างบางคนฟอกหนังด้วนสับปะรด  ใช้สับปะรด  ๓  กิโลกรัมต่อน้ำหนักหนัง  ๑  กิโลกรัม  เติมน้ำพอประมาณ  นำหนังมาหมักไว้ประมาณ  ๒-๕  วัน  หนังบางจะใช้เวลาหมักน้อยกว่าหนังหนา  เมื่อหมักได้ที่แล้วจะเกิดลักษณะเป็นวุ้นไขมันที่ผืนหนัง  นำหนังมาวางบนแผ่นไม้  ใช้ช้อนหรือมีดที่ไม่คมขูดเอาวุ้นไขมันและขนออกทั้งสองด้าน  ล้างน้ำให้สะอาด  แล้วนำไปขึงตากลมไว้
                ปัจจุบัน  การฟอกหนังนิยมใช้น้ำสายชู  เพราะสะดวก  ใช้เวลาน้อย  โดยใช้น้ำส้มสายชู  ๑  ลิตร  ผสมน้ำ  ๒๐  ลิตร  นำผืนหนังที่ขูดตกแต่งเอาขนกับไขมันออกแล้วมาแช่น้ำแล้วนำไปหมักในอ่างหรือโอ่งที่ผสมน้ำส้มสายชู  แช่ทิ้งไว้ประมาณ  ๓  ชั่วโมง  นำหนังไปล้าง  แล้วตากลมไว้จนแห้ง

               

ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ. 2520, ไม่ปรากฎเลขหน้า

การเขียนลายบนตัวหนัง
                การเขียนลายลงบนผืนหนัง  สมัยโบราณเอาเขม่าก้นหม้อ  หรือกาบมะพร้าวเผา  ละลายกับน้ำข้าว  เช็ดทาผืนหนังให้ทั่วทั้งสองด้าน  ใช้ใบฟักข้าวเช็ดขัดจนหนังลื่นเป็นมัน  แล้ใช้ดินสอพองเขียนลวดลายตามต้องการ  ในปัจจุบัน  การเขียนลายไม่ต้องทาหนังสีดำ  ใช้ดินสอหรือปากกาเขียนลายได้เลย  ถ้าช่างเขียนลายฝีมือไม่เที่ยงพอ  มีการเขียนลายผิด  ลบออกยาก  จะใช้เหล็กแหลม  “เหล็กจาร”  เขียนลาย  เพราะรอยเหล็กแหลมที่เขียนลงบนผืนหนังสามารถลบออกได้ง่าย  เพียงแต่ใช้น้ำเช็ดรอยที่เขียนก็ลบออกทันที
                การลอกลาย  ใช้วิธีการลอกลายเส้นจากหนังสือเก่าหรือลวดลายจากฝาผนัง  โดยใช้กระดาษไขวางทับลวดลายและเส้น  แล้วนำมาถ่ายเป็นพิมพ์เขียวติดบนผืนหนัง  แล้วจึงแกะฉลุลายตามเส้นนั้น ๆ 
                การลอกลายแบบใช้สีสเปรย์  โดยไม่ต้องเขียนลาย  โดยการนำหนังเก่าที่แกะแล้วมาเป็นแม่แบบ  นำมาวางทาบทับบนผืนหนังใหม่  แล้วใช้สีสเปรย์พ่น  เมื่อเอาแบบออกลวดลายจะติดอยู่บนผืนหนัง  การลอกลายวิธีนี้จะใช้กับช่างที่ไม่มีความชำนาญในการเขียนลาย  และสะดวกสำหรับการฝึกสอนเด็กรุ่นใหม่ในการแกะฉลุลาย
          ตัวหนังจะมีรูปร่างสวยงาม  มีความวิจิตรมากน้อยเพียงใด  ก็ขึ้นอยู่กับการเขียนลายนี้เองช่างบางคนชำนาญทั้งการเขียนและการแกะสลัก

ที่มา : พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน     www.oknation.net/blog/phaen/2009/07/16/entry-1

การแกะสลักลวดลาย
                เมื่อเขียนลวดลายลงบนผืนหนังดังกล่าวแล้วข้างต้น  ส่วนที่เป็นลวดลายและเส้นต่าง ๆ ช่างแกะฉลุจะใช้มุกหรือปัจจะบันเรียกว่า  ตาไก่  ตอก  และใช้มีดแกะสลักในส่วนที่ต้องการให้ลอยตัว  ถ้าลวดลายกลม ๆ  ช่างจะใช้มุกตอกตามลวดลาย  ส่วนลายในส่วนที่ใหญ่  ลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ  จะใช้มีดแกะ  มุกมีหลายขนาดเรียกว่า  มุกใหญ่  มุกกลาง  มุกยอด  ดังในบทไหว้ครูกล่าวไว้ว่า  “มุกกัดและเคียงเรียงราย”  การแกะในบางมุม  ช่องไฟของลวดลายใช้สิ่วขนาดต่าง ๆ  การแกะสลักเป็นรูปโปร่งตาที่ต้องการพอที่แสงไฟจะส่องเห็นเป็นรูปทรงงดงาม  ในส่วนที่เป็นลายโปร่งจะเป็นสีขาว
                การลงสีบนตัวหนัง
                เมื่อแกะสลักหนังตัวนาง  (คือเพศหญิง)  ถ้าจะให้เป็นสีขาวที่ใบหน้า  ลำตัว  ก็สลักเอาพื้นตัวออก  เอาพื้นหน้าออก  เรียกว่า  “นางหน้าแขวะ”  ถ้าจะให้มีสีขาวในบางส่วน  คือขาวจาง ๆ  เมื่อส่องกับแสงไฟ  ช่างจะขูดสีดำออกและทำให้หนงส่วนนั้นบางลงไปอีก  หรือต้องการให้บริเวณไหนมีสีขาวโดยทั่วไป  แต่ไม่ถึงกับสลักส่วนนั้นออกไปเลย  ช่างจะใช้มุกสลักให้ละเอียดมากเรียกว่า  “เอามุกเดิน”  ที่กล่าวมาแล้วจะเป็นลักษณะของหนังกลางคืน
                ถ้าเป็นหนังที่เล่นได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน  สีที่ปรากฏมีหลายสี  เช่น  สีขาว  สีดำ  สีเขียว  สีเหลือง  สีแดง  ซึ่งแต่ละสีเริ่มจากการลงสีดำไว้ก่อน  ขูดให้บางทั้งสองหน้าจนเป็นสีขาว  แล้วค่อยลงสีตามต้องการ
                สีเขียว  ใช้จุนสีผสมกับน้ำมะนาวทา
                สีแดง  ใช้น้ำฝางผสมกับสารส้มทา
                สีเหลือง  ใช้น้ำฝางทาแล้วเอาน้ำมะนาวถู
                หนังใหญ่บางตัวมีแผ่นทองเปลวติดอยู่  แสดงว่าผ่านการบูชาครูหรือการเข้าพิธีมาแล้ว  หรือผ่านการแสดงมาแล้วหลายครั้ง  ซึ่งเท่ากับเพิ่มความขลังความศรัทธาให้กับผู้ที่ได้ชม  แต่ตัวหนังพระลักษมณ์จะต้องปิดทองที่หน้า  ต้องลงด้วยสีเหลืองซึ่งจะทำให้ตัวหนังดูเด่นและสง่างามสมภาคภูมิ

<<< PREVIOUS    NEXT >>>