เทคนิคในการทำตัวหนังเจ้าหรือหนังครู
                “หนังเจ้า”  เป็นหนังครู  เมื่อเป็นหนังครูก็ต้องมีกรรมวิธีพิเศษในการจัดหาหนังมาทำ  หนังครูมีอยู่ด้วยกัน  ๓  ตัว  คือ  ฤาษี  ๑  พระอิศวร  พระนารายณ์  ๑  ทศกัณฐ์  ๑  ดังบทไหว้ครู  ทวยที่  ๑  บรรทัดสุดท้ายว่า  “เบื้องซ้ายข้าไหว้ทศกัณฐ์  เบื้องขวาอภิวันท์  สมเด็จพระรามจักรี”  ภาพพระฤาษี  สลักเป็นภาพฤาษีถือไม้เท้าท่าทางเป็นคนแก่  ภาพพระอิศวร  พระนารายณ์  เป็นภาพท่าแผลงศร  เช่นเดียวกับภาพทศกัณฐ์จะเป็นภาพท่าแผลงศร  ซึ่งเรียกกันว่า  “หนังแผลง”  หนังทั้งสามตัวใช้บูชาครูก่อนการแสดง  เรียกขั้นตอนก่อนการแสดงนี้ว่า  “เบิกหน้าพระ”
          หนังพระอิศวรและพระนารายณ์ต้องทำจากหนังวัวที่ถูกเสือกัดตาย  ถูกฟ้าผ่าตาย  หรือออกลูกตาย  ตายลักษณะนี้เรียกว่า  โคตายพราย  ส่วนตัวฤาษีจะต้องหาหนังที่มีอำนาจ  เช่น  หนังสือหนังหมี  ซึ่งเชื่อถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์  มีตบะ  มีพลังที่จะใช้ในการลงอักขระเลขยันต์  ให้มีเมตตามหานิยม
                พิธีสลัก  ผู้เขียนและผู้สลักต้องนุ่งขาวห่มขาว  พร้อมทั้งมีสิ่งของบูชาครูด้วยเครื่องบัดพลี  คือบายศรีปากชาม  ๑  เครื่องกระยาบวด  ๑  หัวหมู  ๑  เงินค่ากำนลสองสลึงเฟื้อง  ธูปเทียนบูชากรรมวิธีทำหนังเจ้า  ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จในวันเดียว  เมื่อเสร็จแล้วใช้ไม้ที่พาดบนโลงศพมาถากเหลาขนาดที่เหลาไม้ไผ่ที่ใช้ทำตับหนัง  เอามาประกบหน้าหลัง  แล้วใช้หวานผูกติดกัน  คงเหลือไม้ส่วนล่างไว้จับเชิดประมาณ  ๕๐  เซนติเมตร  การทำอย่างนี้เพื่อให้มีความขลังมากยิ่งขึ้น
                ทางด้านดนตรี  มี  “ตะโพนครู”  ใช้ในการบูชา  ขึงหนังเสือหน้าหนึ่ง  หนังหมีหน้าหนึ่ง  หนังเสืออยู่ทางหน้าใหญ่  หนังหมีไว้หน้าเล็ก  และพิธีประกอบครอบครูหนังใหญ่  โขน  ละคร  ตามประเพณีโบราณ  ผู้ประกอบพิธีต้องนั่งบนขันสาคร  ใช้หนังเสือปูรองขันสาครที่คว่ำลง  แล้วจึงเอาหนังหมีมาปูบนขันสาคร  สำหรับให้ผู้ครอบนั่งครอบบรรดาศิษย์ที่เข้ามารับการครอบ  การครอบดังกล่าวเชื่อว่าจะเกิดความขลัง  มีอานุภาพ  มีความสำเร็จในการทำกิจการนั้น ๆ  เป็นอย่างดี

หนังครูฤาษี...ที่มา : เสถียร ชังเกตุ. 2538,10

การเคลือบตัวหนังให้เป็นเงางาม  คงทนถาวรต่อสภาพอุณหภูมิและความชื้นที่เปลี่ยนแปลง
          สมัยโบราณ  ถ้าต้องการให้หนังเป็นมัน  ใช้ใบฟักข้าวถูทา  บางท้องถิ่นใช้น้ำมันยางใสทา  แต่ที่พบว่าเป็นมันคงทนถาวร  ใช้ยางมะขวิดดิบ  ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายแลคเกอร์หรือยูริเทน  เคลือบตัวหนัง  สามารถกันความขึ้นได้  สามารถรักษาสภาพของหนังและสีให้คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
                ไม้ตับหนัง
                ขั้นตอนสุดท้ายของการทำรูปหนังใหญ่  คือ การผูกไม้สำหรับเชิด  เรียกว่า  “ไม้ตับหนัง”  หรือ  “ไม้คีบหนัง”  ลักษณะคล้ายตับปิ้งปลา  ถ้าเป็นหนังตัวเล็กใช้ไม้ประกบเป็นไม้ตับคู่เดียว  ถ้าเป็นตัวหนังใหญ่ ๆ  ใช้ไม้ประกบเป็นไม้ตับ  ๒  คู่และให้ห่างกันพอสมควร  ไม้ตับหนังนิยมใช้ไม้ไผ่ที่แก่จัดเหลาให้เล็ก ๆ  ด้านในแบนเรียบติดกับผืนหนัง  ด้านผิวเหลาให้มนไม่ให้หนาหรือบางจนเกินไป  ขนาดของไม้ตับหนัง  หนาประมาณครึ่งนิ้วถึง  ๑  นิ้ว  ส่วนปลายเล็กกว่าส่วนโคนเล็กน้อย  เพื่อกันมอดหรือแมลงกินไม้  ต้องนำไม้ตับหนังมารมควันไฟเสียก่อน  การผูกไม้ตับหนังต้องใช้หวายที่เหลาเป็นเส้นเล็ก ๆ  ผูกให้แน่นเหมือนกับการผูกขอบกระด้งหรือขอบตะแกรง  เหลือโคนให้ยาวลงมาสำหรับจับเชิดประมาณ  ๕๐  เซนติเมตร  ถ้าเป็นหนังใหญ่  เช่น  หนังจับ  หนังพลับพลา  หนังเมือง  หนังราชรถ  หนังปราสาท  ต้องเหลือไม้ตับไว้ประมาณ  ๗๕  เซนติเมตร  ที่ต้องทำที่จับให้ยาว  เพราะเวลายกหนังมาเต้นที่หน้าจอจะต้องใช้ลำแขนตรงข้อศอกทาบติดกับไม้ช่วยในการยก  คนเชิดจะยกหนังให้ตั้งตรงด้วยข้อมือไม่ไหว  ทำให้หนังเอนโย้ไปมา  ดูแล้วไม่เกิดความสวยงาม

<<< PREVIOUS   NEXT >>>