เครื่องประกอบในการแสดงหนังใหญ่

                การแสดงหนังใหญ่ประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ  ดังนี้
                                - สถานที่  (โรงหนัง  จอหนัง  แสง)
                                - ตัวหนัง
                                - เครื่องดนตรีประกอบ
                                - คนพากย์และเจรจา  (ตัวตลก)
                                - คนเชิดหนังและวิธีการเชิด
                                - เรื่องที่ใช้ในการแสดง
                                - วิธีการแสดง

การชักรอกขึ้นจอ
การเลือกตัวหนังเรียงไว้ก่อนเล่น
นายหนังหรือผู้พากย์พรมน้ำมนต์พิณพาทย์

สถานที่ 
                โรงหนัง
                การแสดงหนังใหญ่ควรหาสถานที่กลางแจ้งที่มีความกว้างยาวเพียงพอ  อย่างน้อยประมาณ  ๒๐๐  ตารางวา  โรงหนังใหญ่ไม่ต้องปลูกร้านยกพื้นเหมือนการแสดงอย่างอื่น ๆ  สามารถแสดงกับพื้นดิน  พื้นปูน  หอประชุม  เวที  ห้องโถง  แล้วแต่โอกาส  เพราะเวลาเล่นใช้คนยืนเชิดหน้าจอและหลังจอ  ตัวหนังจะอยู่สูงกว่าระดับพื้นของสถานที่ที่ใช้แสดงประมาณ  ๒.๕๐  เมตร  ผู้ชมจึงแลเห็นตัวหนังอย่างทั่วถึงกัน
                จอหนัง
          โดยปกติมีขนาดยาวประมาณ  ๑๖  เมตร  สูงประมาณ  ๖  เมตร  ใช้ผ้าสีขาวมาทำจอ  ผ้าที่ทำจอแบ่งออกเป็น  ๓  ส่วนตามความยาวของจอ  คือ  ส่วนกลางใช้ผ้าสีขาวบางยาวประมาณ  ๘  เมตร  ที่เหลือด้านซ้ายขวาใช้ผ้าขาวธรรมดายาวข้างละ  ๔  เมตร  ใช้ผ้าสีแดงเย็บทาบริมขอบจอทั้งสี่ด้าน  บางทีใช้ผ้าสีน้ำเงินทาบต่อเพิ่มจากขอบสีแดงออกไปอีกชั้นหนึ่งทั้งสี่ด้าน  มองดูจากระยะไกล ๆ  จะเห็นว่า  ตรงกลางมีผ้าสีขาวโปร่ง  รอบ ๆ  มีสีแดง  หรือบางทีมีสีน้ำเงินรอบนอกอีกชั้นหนึ่งการตั้งจอหรือยกจอ  ในสมัยโบราณ  หนังใหญ่ต้องปักเสาสูง  ๔ ต้นด้วยการใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ ๆ  มาปักเรียงให้ห่างกัน  เสาต้นหัวกับต้นท้ายต้องให้พอดีกับจอหนังใหญ่  เสาต้นที่  ๑  และเสาต้นที่  ๒  ควรห่างกันประมาณ  ๓  เมตร  เสาต้นที่  ๓  จะห่างจากเสาต้นที่  ๒  ประมาณ  ๑๐  เมตร  เสาต้นที่  ๓  จะห่างจากเสาต้นที่ ๔  ประมาณ  ๓  เมตร  พอดีสุดจอหนังใหญ่  ก่อนยกเสาขึ้น  ที่หัวเสาทุกต้นต้องผูกรอกติดไว้  แล้วร้อยเชือกลงมาให้ปลายเชือกทั้งสองข้างจรดพื้นดิน  เอาลำไม้ไผ่เล็ก ๆ  มาผูกติดกันให้ยาวเท่ากับจอหนัง  แล้วผูกติดกับริมจอด้านบนที่ยาว  ๑๖  เมตร  ที่ริมจอทุกด้านมีเชือกยาวประมาณ  ๑  คืบ  ผูกริมจอกับไม้ไผ่เป็นระยะ ๆ  เรียกเชือกผูกนี้ว่า  “หนวดพราหมณ์”  ผูกจนตลอดความยาว  แล้วเอาปลายของเชือกเส้นที่ร้อยลูกรอกไว้มาผูกกับไม้ไผ่ที่เรียกว่า  “คร่าวบน”  ให้ได้ระยะเสาชัก  ผูกเชือกอย่างนี้กับรอกทุกตัวที่อยู่กับเสา  ชักจอให้ตั้งขึ้น  ให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ  ๑  เมตร  เอาปลายเชือกมาผูกไว้ที่โคนเสา  การขึงจอดังที่ได้กล่าวมาแล้วคล้องจองกับบทพากย์ที่ว่า
                                “ตัดไม้มาสี่ลำ                                                      ปักขึ้นทำเป็นจอ
                สีแดงทำมุมยอ                                                                      กลางก็ดาดด้วยผ้าขาว”
                ส่วนล่างของจอที่อยู่ติดกับพื้นดินเอาผ้าผูกติดกับคร่าวอันล่าง  ใช้ผ้าที่ทำเป็นหนวดหราหมณ์ผูก  ใช้ผ้าลายหรือผ้าดอกสี่ต่าง ๆ  แขวนใต้จอ  ห้อยสูงมาจนจรดพื้นดินเพื่อความสวยงาม  และเพื่อมิให้คนดูแลเห็นสิ่งที่ไม่น่าดูในโรง  ด้านบนของจอมีระบายเป็นลาย  ปิดด้วยกระดาษทองบ้าง  ปักไหมทองอย่างจีนบ้าง  มีดิ้นทองดิ้นเงินยาวหรือลูกลุ่ยห้อยยาวตลอดจอส่วนบน  ปลายของเสาทั้งสี่มีของประดับตกแต่ง  เช่น  ธงแดงบ้าง  ปัจจุบันใช้ธงชาติและขนนกยูงเพื่อความสวยงามบางคณะก็อาจจะมีธงที่ประกอบด้วยพระพุทธคณะ  แต่วัตถุประสงค์ก็คือให้เกิดความสวยงาม  มีสง่าน่าดูน่าชม  และเรียกคนดู  ด้านข้างและด้านหลังของจอใช้เสื่อใบสาคู  คำแพน  เสื่อรวกอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ที่มีความสูงใกล้เคียงกัน  กั้นเป็นวง  หรือทำเป็นคอกล้อมครึ่งวงกลมใหญ่  ปลายลำแพนทั้งสองข้างยื่นมาเกือบถึงเสาต้นหัวและต้นท้ายของจอ  เว้นช่องให้คนเชิดหนังเดินเข้าและเดินออกพร้อมทั้งตัวหนังที่ถืออยู่  เพราะต้องมีการเชิดทั้งด้านนอกและด้านใน  ภายในวงลำแพนใช้เป็นที่พักของผู้แสดง  เก็บตัวหนัง  และร้านเพลิง  (คือแสง)
                ในปัจจุบัน  ไม่นิยมใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นจอหนัง  นิยมใช้เหล็กแป๊บน้ำแทน  เพราะสะดวกในการขนย้าย  ในการแสดงในห้องประชุม  พื้นสนาม  หรือลานกว้างที่เป็นปูนซิเมนต์  จำเป็นต้องทำขาตั้งแบบกระดานดำ  หรือชักรอกแต่คร่าวแบแขวนไว้กับเหล็กขอผ้าม่านของหอประชุม  บางครั้งทำเป็นท่ออะลูมิเนียมที่สามารถถอดต่อกันได้  สะดวกในการขนย้ายและเบาแรงในการตั้งจอ
                แสงสว่างที่ใช้แสดงให้แสงเงา
          ในสมัยโบราณ  การให้แสงเงาจะให้ทางด้านหลังตอนกลางของจอ  ห่างจากจอพอสมควรปักเสาโน้มเอนรั้งกับเสาจอ  ๒  ต้นส่วนบน  ขึงผ้าหรือลำแพนให้สูงพอสมควรเพื่อช่วยกันแสงไฟไม่ให้กระจายออกไป  คงให้แสงไฟจับอยู่ที่หลังจอหนัง  ที่กั้นนนี้เรียกว่า  “บังเพลิง”  ตรงกลางระหว่างบังเพลิงกับจอหนังปลูกร้านเล็ก ๆ  ๒  ร้าน  สูงจากพื้นดินประมาณ  ๑  เมตร  ห่างกันพอสมควร  บนพื้นร้านปูด้วยดิน  ทราย  สังกะสีสำหรับวางกอกไต้หรือกะลามะพร้าวจุดให้ลุกเป็นแสงสว่าง  เรียกว่า  “ร้านเพลิง”  พอใกล้เวลาแสดง  นายไต้จะเร่งไฟให้สว่างขึ้น  ร้านเพลิงนี้สมัยหลัง ๆ  ใช้ตะเกียงเจ้าพายุ  ไฟฟ้าจากหลอดไฟ  หลอดนีออน  สปอตไลท์  เพื่อความสะดวกสบายเป็นหลัก  การใช้ไต้หรือกะลามะพร้าวจุดให้แสงไฟลุกเป็นธรรมชาติและให้บรรยากาศมากกว่าดวงไฟ  เพราะเปลวไฟธรรมชาติลุกเคลื่อนไหว  ทำให้ภาพตัวหนังสวยงาม  ดูมีชีวิตจิตใจ  เกี่ยวกับการให้แสงสว่างแสดงหนังใหญ่ในสมัยโบราณ  มีกล่าวไว้ในบทพากย์ไหว้ครูว่า
                                “เร่งเร็วเถิดนายไต้                                              เอาเพลิงใส่แต่หนหลัง
                ส่องแสงอย่าให้บัง                                                              จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู”
                ที่พักของคนเชิดหนังอยู่ด้านหลังของจอและบริเวณใกล้เคียงกัน  ต้องมีที่จัดตัวหนังใหญ่เรียงลำดับไว้เพื่อใช้ในการแสดงคืนนั้น ๆ

<<< PREVIOUS    NEXT >>>