ผู้ทอดหนัง
                นอกจากจะมีตัวหนังใหญ่ตามลักษณะทั้งเจ็ดประเภทที่กล่าวมาแล้ว  ต้องมีตัวหนังที่จะแสดงในชุดนั้น ๆ 
ให้ครบตามเนื้อเรื่อง  จึงต้องมีตัวหนังแต่ละชนิดไว้เป็นจำนวนมาก  ในการแสดงหนังใหญ่
หนังใหญ่  ผู้จัดหนังเป็นผู้ที่มีความสำคัญคนหนึ่ง  เราเรียกกันว่า  “ผู้ทอดหนัง”  ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องที่จะแสดง
นั้นเป็นอย่างดี  และต้องรู้ว่าตัวไหนจะออกก่อนและหลัง  ตัวไหนหมดหน้าที่แล้วตัวไหนจะต้องเอาออกแสดงอีก  ผู้ทอดหนังจะทำหน้าที่ทอดหนังไว้ให้ผู้เชิดหนังด้วยการเอาตัวหนังนั้นพิงซ้อนทับกันไว้บนเสื่อหรือผืนลำแพน
ที่ปูเป็นบริเวณกว้างด้านหลังของจอหนัง  ต้องจัดให้เป็นหมวดหมู่เรียงเป้นลำดับกัน  เช่น  ตัวพระ  ตัวนาง  ตัวยักษ์
  ลิง  หนังเขนยักษ์และเขนลิง  หนังเมือง  หนังปราสาท  หนังจับชุดต่าง ๆ  หนังเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ  เพื่อสะดวกกับคนเชิดจะได้หยิบไปเชิดได้โดยเร็วและไม่มีการผิดพลาด  เมื่อตัวหนังได้เชิดเสร็จแล้วก็รับมาเก็บไว้  ถ้าผู้เชิดมีความชำนาญหรือเชิดมาหลายครั้งแล้ว  ก็จะช่วยนำไปเก็บไว้ยังที่จัดเตรียมไว้เมื่อเชิดเสร็จแล้ว

เครื่องดนตรีประกอบการแสดง
                ดนตรีที่ใช้บรรเลงในการแสดงหนังใหญ่  ส่วนใหญ่ใช้วงดนตรีปี่พาทย์ที่เรียกว่า  “เครื่องห้า”  “เครื่องคู่” 
เครื่องใหญ่”  แล้วแต่ฐานะของงาน  แต่จะมีเครื่องดนตรีชนิดพิเศษอยู่  ๓  ชนิดที่เรียกว่าปี่กลาง  กลองติ๋ง  และโกร่ง
                ปกติในวงปี่พาทย์จะต้องมีปี่ในการบรรเลงประกอบการแสดงหนังใหญ่  มีประเพณีมาแต่สมัยโบราณว่า
ปี่ที่ใช้ต้องเป็นปี่ที่เรียกว่า  “ปี่กลาง”  ปี่กลางเป็นปี่ที่เล็กกว่าปี่ในนิดหน่อย  มีเสียงสูงกว่าปี่ใน  ๑  เสียง  การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนังใหญ่ต้องบรรเลงด้วยเสียงที่เรียกว่า  ”เสียงกลาง”  ตลอดทุกเพลง 
ตั้งแต่โหมโรงจนสิ้นสุดการแสดง
                กลองที่ใช้ในการแสดงหนังใหญ่มี  ๔-๕  ใบ  มีกลองติ๋ง  ๒  ใบ  กลองติ๋งมีขนาดเล็กกว่ากลองทัดนิดหน่อย
  มีเสียงสูงกว่ากลองทัด  ซึ่งเจ้าของหนังจะต้องมีกลองติ๋งไว้ประจำ  และจะต้องมีกลองทัดอีก  ๒-๓  ใบ  กลองทัด
อยู่ทางซ้ายมือของคนตี  กลองติ๋งอยู่ทางขวามือของคนตี
                โกร่งเป็นเครื่องเคาะจังหวะคล้าย ๆ  เกราะ  เป็นไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ  ๒-๓  เมตร  วางทอดทางนอน
บนที่วางเตี้ย ๆ  ข้างล่างจะเจาะรูยาว ๆ  ตามปล้องไม้ไผ่ขนาดนิ้วมือสอดได้เป็นตอน ๆ  ไป  ใช้ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ  ขนาดเท่าไม้ตีกลองหรือใช้ไม้ไผ่ซีกสำหรับตีก็ได้  ผู้ที่ตีนั่งเรียงกัน  ตีได้หลาย ๆ  คน  สำหรับตีประกอบจังหวะเวลาเชิด
  จะตีอยู่ด้านหลังของจอ  คนตีส่วนใหญ่ก็คือคนแสดงหนังใหญ่นั่นเอง  โกร่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
                วงปี่พาทย์จะตั้งอยู่ด้านหน้าของจอหนังใหญ่  อยู่ระหว่างกึ่งกลางของจอ  หันหน้าเข้าหาจอเพราะต้องดูการเชิดของคนเชิดด้วยจึงจะบรรเลงและเชิดเข้ากันได้เป็นอย่างดีและมีรสชาติ  และวงดนตรีปี่พาทย์จะอยู่ห่างจากจอประมาณ  ๔  เมตร

นายหนังหรือผู้พากย์บูชาครู ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า
เครื่องบูชาครูก่อนยกออก ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า

คนพากย์คนเจรจา
                คนพากย์คนเจรจาที่ใช้ในการแสดงหนังใหญ่ต้องมีอย่างน้อย  ๒-๓  คน  ไม่ควรเกิด  ๔  คน  ทั่ว ๆ  ไปนิยมใช้เพียง  ๒  คน  คนพากย์คนเจรจาต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องที่จะเล่น  รวมทั้งจะต้องสามารถจดจำคำพากย์ที่เป็นบทบังคับได้อย่างแม่นยำ  เช่น  บทพากย์ไหว้ครู  นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ทั้งในเรื่องและนอกเรื่องที่จะแสดงในชุดนั้น ๆ  เป็นอย่างดี  หรือคิดแต่งคำกาพย์  ร่าย  ฉันท์  ด้วยการใช้ปฏิภาณของตนเองได้  หรืออาจจะพูดได้ว่ามีความเป็นกวีอยู่ในตัวเองบ้าง  บางตอนคำประพันธ์ต้องใช้เป็นร่ายยาวซึ่งต้องสัมผัสคล้องจองกัน  ในบางโอกาสก็อาจจะมีการว่ากระทู้แก้กัน  กระทู้ก็คือการเจรจาแบบร่ายยาวและมักจะท่องจำแบบที่ครูสอนมา  แต่เรื่องของกระทู้นี้ส่วนมากนับเป็นความรู้พิเศษของคนเจรจา  ถ้าจะเป็นคนพากย์คนเจรจาที่ดีต้องได้กระทู้  ถ้าไม่กระทู้ก็เปรียบเสมือนไม่มีครู  กระทู้ถือได้ว่าเป็นเครื่องวัดความรู้ความสามารถของคนพากย์และคนเจรจา  คือกระทู้ของใครก็ของคนนั้น  ไม่นิยมนำมาว่าอวดกัน  ครูในสมัยโบราณจะแต่งกระทู้ไว้เป็นตอน ๆ  เช่น  หนุมานกับนางบุษมาลี  พระรามกับทศกัณฐ์  พระลักษมณ์กับอินทรชิต  ทศกัณฐ์กับพิเภก  เป็นต้น  กระทู้พิเศษนี้ครูจะมอบให้ศิษย์ด้วยความรักหรือมอบให้ลูกหลานที่สืบเชื้อสายไว้เป็นสมบัติเฉพาะตัวก็ได้  กระทู้ที่มีความไพเราะส่วนใหญ่จะเป็นกระทู้ตอนจัดทัพ  คนพากย์ที่ว่ากระทู้ต้องมีเสียงดี  กังวาน  แหลมเล็กหรือปานกลาง  น้ำเสียงมีเสน่ห์  แฝงความมีสง่าอยู่ในกระแสเสียงนั้น
                คนพากย์และคนเจรจายังต้องมีความสามารถในการบอกหน้าพาทย์ให้นักดนตรีทำเพลงประกอบการแสดงได้อย่างถูกต้อง  ในสมัยโบราณ  คนพากย์มักจะบอกเพลงให้ปี่พาทย์ทำด้วยคำแผลง  ซึ่งเป็นการลองเชิงดูสติปัญญาของผู้บรรเลงว่าจะมีปฏิภาณไหวพริบหรือไม่  เช่น  “เพลงกลม”คนพากย์จะบอกว่า  “ลูกกระสุน”  ถ้า  “เพลงวา”  ก็จะกางมือออกพร้อมกางแขนจนสุด  ปี่พาทย์ก็จะบรรเลง  “เพลงวา”  ในบางโอกาสต้องใช้เพลงนั้นเพลงนี้แทนกัน  สัมพันธ์กับความสามารถของนักดนตรี
                เวลาติดตลก  ก็จะเล่นตลกระหว่างคนพากย์กับตัวตลก  คนพากย์ต้องพูดตลกให้ทันจึงจะประสานกับตัวตลกได้  คนพากย์จะต้องคอยซักถามปูพื้นหาช่องทางให้กับตัวตลก  ตัวตลกจะได้มีโอกาสแทรกคำตลกและมักจะเป็นคำพูดสองแง่สองมุมซึ่งให้คิดไปต่าง ๆ  นานา  สร้างความขบขันให้แก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี  บางครั้งตัวตลกจะเล่นทะลึ่งกับคนเจรจา  แต่ในที่สุดตัวตลกก็ต้องยอมแพ้ให้กับคนเจรจา  เพราะถือว่าคนเจรจานี้ศักดิ์ศรีเหนือกว่า  ตัวตลกหนังใหญ่นี้บ้างครั้งจะถือหนังรูปตัวตลกออกมาด้วย  เช่น  ตัวเจ๊กจีน  ตอนหนุมานบุกกรุงลงกา และพวกหนังจำอวดต่าง ๆ 
                สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  คนพากย์ต้องมีน้ำเสียงดี  กังวาน  ดังฟังชัดเจน  ยิ่งตอนดึก ๆน้ำค้างตกเสียงจะดังและใสมีกังวาน  นอกจากนั้นจะต้องเป็นคนที่มีกระแสเสียงทน  ไม่ใช่แหบแห้งไปเฉย ๆ  จึงจำเป็นต้องเป็นผู้มีพรสวรรค์ทางน้ำเสียง  ซึ่งธรรมชาติสร้างมาให้โดยเฉพาะ  คนพากย์จะว่าครั้งหนึ่งนานเป็นเวลาหลาย ๆ  ชั่วโมงหรือตลอดทั้งคืน

 

ผู้เชิดไหว้ตัวหนังก่อนเชิญตัวฤาษีเข้าในจอ ที่มา : ผะอบ โปษะกฤษณะ.2520,ไม่ปรากฎเลขหน้า
 
<<< PREVIOUS    NEXT >>>