ประวัติการเล่นนกเขาชวาในภาคใต้
     

สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชทานถ้วยรางวัลพร้อมผ้าคลุมกรงแก่เจ้าของนกเขาชวาที่ชนะการแข่งขัน ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 22 กันยายน 2530
ที่มา : มัลลิกา คณานุรักษ์. 2531,ไม่ปรากฎเลขหน้า

การเล่นนกเขาชวาในสมัยก่อนทางภาคใต้นิยมกันก่อนในภาคอื่น แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเล่นนกเขาชวาแพร่หลายมากขึ้น ทำให้พ่อค้านกเขาในภาคกลาง พยายามหานกเขาพันธุ์ดีๆ มาขายทางภาคใต้ เล่ากันว่ามีชาวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เคยนำนกเขาชวามาขายที่ภาคใต้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2ครั้นถึงช่วงสงคราม ทำให้การซื้อขายหยุดชะงักชั่วคราว นกที่นำมาขายในภาคใต้สมัยนั้นเป็นนกเขาจากจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี นกเขาจากสองจังหวัดนี้ ได้รับการยกย่องจากนักเลงนกเขารุ่นก่อนว่าเป็นนกพันธุ์ดี

   มีนักเลงนกเขาเล่าให้ฟังว่า ความจริงการเลี้ยงนกเขาชวาในภาคใต้
้นิยมกันมาก่อนหน้านั้นมาก เพราะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนกเขาชวาเลี้ยงไว้ก่อน พ.ศ. 2430 แล้วจึงนำไปขายที่สี่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ คือ สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
  ต่อมาการเลี้ยงนกเขาชวาได้ขยายวงกว้างมายังภาคต่างๆของไทย มายังที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม ชลบุรี 
จนถึงประมาณ 2489 ชาวอำเภอมีนบุรี และอำเภอหนองจอก ก็เริ่มนิยมเลี้ยงนกเขาชวา และนิยมต่อนกเขาชวา

คนเลี้ยงนกเขาชวาในอำเภอมีนบุรี และอำเภอหนองจอก เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม จึงคุ้นเคยกับชาวไทยมุสลิม
ในภาคใต้เป็นอย่างดี เพราะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน ทำให้การซื้อขายเป็นไปด้วยดี
    ส่วนทางจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี เริ่มนิยมเมื่อ พ.ศ. 2500 และในพ.ศ. 2503-2504 เริ่มนิยมที่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้นถึง
พ.ศ. 2505 ขยายวงกว้างไปถึงจังหวัดตาก พิจิตร สระบุรี นครนายก
    การหานกเขาชวามาเลี้ยงเพื่อฟังเสียง หรือประกวดประชันกัน ในสมัยโบราณเป็นไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง เพราะต้องหานกเขาพันธุ์ดีจากป่าลึกของแหล่งนกเขาตามจังหวัด ที่ได้ชื่อว่าเป็นนกเขาพันธุ์ดี ด้วยการหานกมาต่อเพื่อให้ได้นกป่า
พันธุ์ดีมาเลี้ยง นอกจากนนี้ยังต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับนกป่าที่"ต่อ”มาได้ บางครั้งแม้จะใช้เวลาฝึกอยู่นาน แต่ก็ยังได้เสียงขัน
ไม่ดีสมใจ ก็ต้องปล่อยให้บินกลับไปป่าเหมือนเดิม
และตั้งหน้าตั้งตาต่อนกใหม่ต่อไป
  

ในสมัยโบราณถือว่าการเลี้ยงนกเขาชวาไว้ประจำบ้านเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา เลี้ยงไว้ดูเล่นแก้รำคาญ และเลี้ยงไว้ฟังเสียงเพื่อความสุขใจ รวมทั้งคนในจังหวัดภาคใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธหรืออิสลามนิยมเลี้ยงนกเขาชวากันมาก โดยเฉพาะบ้านของผู้มีอันจะกิน มักจะต้องหานกเขาชวาเสียงดีๆมาเลี้ยงไว้ประดับบ้าน และส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงด้วยใจรักมากกว่าการค้า

  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นกเขาชวาในภาคใต้มีราคาสูง ซึ่งเป็นราคาที่คนซื้อพยายามเสนอให้เจ้าของนกขาย มิใช่ราคาสูงด้วยเจ้าของนกตั้งราคาเอง เหมือนทางภาคกลาง แต่ปัจจุบันลักษณะการเลี้ยงนกเขาชวาบางแห่งในภาคใต้เริ่มมุ่งเพื่อการค้าแบบภาคกลางแล้ว
   คนที่มีนกเขาชวาดีอยู่ในครอบครองมักมีชื่อเสียง เป็นที่อยากรู้จักของนักเลงนกเขาทั่วไป มีหน้ามีตา  ดังนั้นผู้ที่มีนกเขาชวาดีในสมัยก่อน มักไม่ใคร่ยอมขายนกของตนให้ใครง่ายๆ เพราะเกิดความรักและหลงใหลเสียงนก อีกทั้งเกรงว่าจะเป็นการขายความมีชื่อของตนไปด้วย
  จังหวัดทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาโดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส ฯลฯ ทุกบ้านที่มีนกเขาชวาจะมีเสารอกนก และมีกรงนกเขาชวาแขวนไว้หน้าบ้านระเกะระกะไปหมด อย่างน้อยมากกว่าหนึ่งกรงเสมอ จนถึงกับมีเรื่องขำขันเกิดขึ้นในสมัยก่อนคือสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วพบว่าเกือบทุกบ้านตลอดระยะทางจากปัตตานีจนถึงนราธิวาส จะมีเสารอกนกเขาอยู่ตามบริเวณบ้านทั่วๆไป จึงคิดว่าเสาดังกล่าวเป็นเสาวิทยุ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ตามอำเภอและตำบลต่างๆ ท่านผู้นำของประเทศถึงกับกล่าวชมกับผู้ใกล้ชิดและผู้ติดตามว่า ทางใต้นี้เจริญมากจริงๆ มีวิทยุฟังกันทุกบ้าน ทั้งที่ความจริงมิใช่เสาวิทยุ หากแต่เป็นเสารอกนกเขานั่นเอง(มัลลิกา คณานุรักษ์. 2531,25-27)
การเลี้ยงนกเขาชวาในภาคใต้ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันอย่างจริงจังและเลี้ยงกันจนเป็นอาชีพทุกจังหวัด
มากน้อยตามความนิยมของคนไทยแต่ละจังหวัด  ทั้ง ๆ  ที่แหล่งนกเขาชวาพันธุ์ดีในสมัยก่อนอยู่ที่ภาคกลาง
แถวจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี
ีส่วนภาคใต้ที่เป็นแหล่งนกเขาชวาพันธุ์ดีก็มีที่จังหวัดกระบี่เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นซึ่งความจริงแล้ว
นกเขาชวาพันธุ์ดีจริง ๆ  อยู่ที่ชวา  ประเทศอินโดนีเซีย  ชื่อของ  “นก”  ก็บอกอยู่แล้ว  และจังหวัดกระบี่มีภูมิประเทศอยู่ใกล้ประเทศอินโดนีเซีย
                นกเขาพันธุ์ดีจะมีขอบตาเหลือง  และนกเขาลักษณะแบบนี้จะมีที่ประเทศอินโดนีเซียแห่งเดียวเท่านั้น  และจะมีอยู่บางท้องที่ในจังหวัดกระบี่ของประเทศไทย  ซึ่งปัจจุบันนกเขาชวาลักษณะแบบนี้หายากเต็มที
                การที่นกเขาชวาหรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  “นกเขาเล็ก”  มีชื่อว่า  “นกเขาชวา”  นั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้  ๓  อย่างดังนี้

  1.  เป็นนกที่พบมากในชวา  ประเทศอินโดนีเซีย
  2. เสียงขันดังกังวานไพเราะคล้ายกับเสียงปี่ชวา
  3. แขกชวาเป็นผู้นำนกแบบนี้มาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรก  จึงได้เรียกตามชื่อของผู้ที่นำมาเลี้ยง

ด้วยเหตุนี้คนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบันจึงได้เรียกนกเขาเล็กว่า  “นกเขาชวา”

 
PREVIOUS    NEXT