พิธีกรรมวันที่สอง พิธีกรรมวันที่สอง คือวันพฤหัสบดี ถือว่าเป็นวันครู เป็นวันประกอบพิธีใหญ่ มีการเซ่นไหว้ครู แก้บนและจัดพิธีกรรมอื่น ๆ ในวันนี้เริ่มพิธีตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครู เช่นเดียวกับวันแรก แล้วเชิญครูหมอโนรามาเข้าทรงถือเทียนลุกขึ้นร่ายรำตามเสียงเชิดของดนตรี ตรวจดูเครื่องสังเวยบนศาล จากนั้นลูกหลานจะเข้าไปกราบไหว้สอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ขอลาภขอพร แล้วนัดแนะกับครูหมอโนราในเรื่องวันเวลาที่จะรำโรงครูในโอกาสต่อไป สำหรับการรับเครื่องสังเวย แล้วจะเอาเทียนนั้นจ่อเข้าปาก หรืออมควันเทียน เรียกว่า “เสวยดอกไม้ไฟ” เมื่อถึงเวลาจะออกจากร่างทรงดนตรีจะทำเพลงเชิด คนทรงจะสะบัดตัวอย่างแรง แล้วทุกอย่างกลับสู่อาการปรกติ เรียกว่า “บัดทรง” ในวันนี้หากมีผู้มาขอทำพิธีครอบเทริด โนราใหญ่และผู้ช่วยอีกสองคนจะแต่งตัวเป็นพิเศษ เรียกว่า “แต่งพอก” ผู้เข้ารับการครอบเทริดก็จะต้องแต่งพอกด้วย แต่ยังไม่ต้องสวมเทริด การแต่งพอกจะนุ่งสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าลายตามแบบโนราเอาผ้าขาวมาผืนหนึ่งพับเข้าเป็นชั้น ๆ ตามจำนวนเทริดที่ตั้งบนพาไล และจัดขนมพองลาให้ครบตามจำนวนชั้นผ้าที่พับเพื่อเซ่นไหว้ครูด้วย ผ้าขาวแต่ละชั้นจะใส่หมาก 1 คำ เทียน 1 เล่ม เงิน 1 บาท เมื่อพับและบรรจุแล้วก็นำมาพันไว้รอยสะเอว แล้วเอาผ้าลายมาคลุมไว้ข้างหลังโดยมีผ้ารัด และมีพอกห้อยสะเอวข้างละอัน พอกนี้ใช้ฝ้าเช็ดหน้าห่อหมาก 1 คำ เทียน 1 เล่ม เงิน 1 บาท ผูกเป็นช่อไว้ จากนั้นจึงนุ่งผ้าลาย แล้วใส่ผ้าห้อยหน้า หางหงส์ เครื่องลูกปัด และสวมเทริด เพื่อทำพิธีต่อไป |
สำหรับพิธีกรรมในวันที่สองนี้มีหลายอย่างได้แก่ 1. การเซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา หลังจากร้องบทเชิญครูแล้ว เจ้าภาพ ชาวบ้าน หรือลูกหลานตายายโนราที่บนบานและสัญญาเอาไว้ว่าจะแก้บนด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นของคาวหวาน วัตถุเครื่องใช้หรือเครื่องแต่งตัวโนรา ก็จะนำมาส่งมอบให้กับโนราใหญ่พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน และเงินทำบุญที่เรียกว่า “เงินชาตายาย” ตามที่ได้บนเอาไว้ หรือตามกำลังศรัทธา จากนั้นจุดเทียนที่เครื่องสังเวย เทียนบนยอดเทริด เทียนบนศาลหรือพาไลเทียนครูที่ท้องโรง เทียนเครื่องสังเวย และเทียนหน้าหิ้งบูชาครูหมอโนราบนบ้านเจ้าภาพ โนราใหญ่และผู้ร่วมพิธียกพานดอกไม้ธูปเทียนขึ้นบูชา จับสายสิญจน์พร้อมกัน โนราใหญ่กล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวชุมนุมเทวดา กล่าวชุมนุมครูหมอ กล่าวคำแก้บน เซ่นไหว้ และเชื้อเชิญครูหมอโนรามารับเครื่องสังเวย และอวยพรแก่ลูกหลาน โนราใหญ่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา แล้วนำเอาหมากพลูมาบริกรรมคาถามอบให้ผู้มาแก้บนทุกคน ๆ ละ 1 คำ นำไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกหมากนี้ว่า ไหมากจุกอก” เสร็จพิธีเซ่นไหว้และแก้บนด้วยสิ่งของแล้วโนราทั่วไปจะรำถวายครู 2. การรำสอดเครื่อง สอดกำไล และพิธีตัดจุก หลังจากโนราทั่วไปรำถวายครูแล้วก็จะ “รำสอดกำไล” หรือ “สอดไหมฺร” เพื่อรับศิษย์เข้าฝึกการรำโนรา โดยผู้ปกครองจะนำบุตรหลานพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน 12 บาท ไปกราบครูโนรา โนราใหญ่รับมอบเครื่องบูชาแล้วสอบถามเพื่อยืนยันความสมัครใจและคำยินยอมจากผู้ปกครอง จากนั้นนำกำไลมาสวมมือให้ประมาณ 3 วง แล้วจับมือทั้งสองของเด็กยกขึ้นตั้งวงเพื่อเอาเคล็ดในการรำ ส่วนการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า “จำผ้า” ผู้เข้าพิธีต้องจัดพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน 12 บาทไปกราบครูโนรา เมื่อได้รับการยืนยันถึงความสมัครใจแล้ว โนราใหญ่จะรดน้ำมนตร์ เสกเป่าด้วยคาถา แล้วมอบเครื่องแต่งตัวโนราที่เรียกว่า “เครื่องต้น” ให้ผุ้เข้าทำพิธีไปแต่งตัว แล้วออกมารำถวายครู โดยรำบทครูสอน บทสอนรำ ตามเวลาอันสมควร เป็นเสร็จพิธี จากนั้นจึงทำพิธีตัดจุก โดยผู้ปกครองนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน 12 บาท มามอบให้โนราใหญ่พร้อมกับตัวเด็ก คณะโนราจะให้เด็กนั่งลงบนผ้าขาว โนราใหญ่และครูหมอโนราองค์สำคัญ ๆ ในร่างทรง เช่น พระม่วงทอง ขุนศรีศรัทธา ทำพิธีร่ายรำถือไม้หวายเฆี่ยนพรายและกริช พร้อมกับนำน้ำมนตร์มาประพรมที่ศีรษะเด็กเอามือจับที่จุกของเด็ก บริกรรมคาถา ดนตรีเชิด จากนั้นจึงใช้กริชตัดจุกของเด็กพอเป็นพิธี เสร็จแล้วประพรมน้ำมนตร์อีกครั้ง ส่งตัวเด็กให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองพาเด็กไปตัดหรือโกนผมจริงต่อไป 3. พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ ทำหลังจากพิธีตัดจุกแล้ว หากผู้เข้าพิธียังไม่เคยตัดจุก จะตัองทำพิธีตัดจุกก่อน และต้องมีอายุครบ 22 ปี เป็นโสด หากแต่งงานมาแล้วต้องทำใบหย่าร้าง โดยสมมุติกับภรรยา เพื่อมิให้ “ปราชิก” ผิดกฎสำหรับโนราไม่ได้ ในอดีตเมื่อครอบเทริดแล้วต้องไปรำ “สามวัดสามบ้าน” แล้วจึงมาเข้าพิธีอุปสมบทจึงจะถือว่าเป็นโนราโดยสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันสามารถอุปสมบทได้ |