วิธีเล่น
การเล่นเพลงเรือหรือการขับเพลงให้ลงกับจังหวะพาย ผู้พายก็ต้องฟังเสียงเพลง ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็น
ผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำ หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม เข้ามาสอดแทรกเข้าไปให้เหมาะสม อาจเป็นแข่งขัน
 ยกย่อง เสียดสีซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย ก่อน การเล่นเพลง  ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อน จากนั้นจึงจะ
เอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้ คนอื่นมาเล่นด้วย  โดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเช้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจ
จะทนอยู่ได้ จึง เกิดการเล่นเพลงเรือโต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย
บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์

อีกมิติหนึ่งของการแสดงประกอบการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ประเภทเนื้อหาสะท้อนภาพสังคม ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. 2532,11

  ธรรมเนียมนิยมในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์
                ธรรมนิยมของการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์น่าสนใจไม่แพ้เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือน
ภาพสะท้อนความเป็นพื้นบ้านในแง่มุมต่าง ๆ  ที่เรายังไม่เคยสัมผัสหรือสัมผัสแล้วแต่ยังไม่ถึงแก่นแท้ของมัน 
ธรรมเนียมนิยม ของการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์แยกกันกล่าวให้ชัดเจนเป็น  ๕  ประการดังนี้คือ
              -  วันเล่น  เพลงเรือแหลมโพธิ์จะเล่นจริง ๆ  ก็เฉพาะในวันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑อันเป็นวันชักพระ
เพียงวันเดียวเท่านั้น หมดวันก็สิ้นสุดการเล่นกันในรอบปี  ส่วนก่อนหน้าวันชักพระจะมีซ้อมเล่นกันทั่วไป 
ตั้งแต่วันเดือน  ๑๑  เริ่มแล้ว  และค่อย ๆ  มากขึ้น  ๆ  จนกระทั่งมากที่สุดในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  อันเป็นวันออกพรรษา
  ดังคำบอกเล่า  ของนายเฮด  แก้วกุลนิลที่ว่า    “.....ยิ่งคืน  ๑๕ ค่ำ  คนเหมือนใบไม้”  ดังกล่าวแล้ว
              -  สถานที่เล่น  การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นมีจุดที่นัดพบกันจุดสำคัญคือแหลมโพธิ์อันเป็นจุดหมาย
ปลายทางที่เรือพระทุกลำมาหยุดพักเพื่อถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มากับเรือพระแล้วประกอบพิธีกรรม
ทางศาสนา  ที่แหลมโพธิ์จึงเป็นสถานที่ที่เพลงเรือทุกลำและจากทุกแห่งในวันนั้นจะต้องขึ้นไปพบกันร้องเล่นเพลงเรือ
จนกระทั่งเสร็จพิธีพระ  อัญเชิญเสด็จพระกลับวัดเรือพระบางวัดอาจไม่กลับวัดเลยทีเดียวก็จะพากันไปต่อที่หาดหอย
ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งปากครองอู่ตะเภาทางทิศตะวันตกของแหลมโพธิ์ไม่ไกลมากนัก  ที่หาดหอยจึงเป็นสถานที่เล่นเพลงเรือ
อีกแห่งหนึ่งที่รองลงไปจากที่แหลมโพธิ์  ที่ว่ารองลงไปก็เพราะว่าหาดหอยไม่ใช่สถานที่เรือพระจะต้องนัดกันไปพบกัน
ทุกำลำเหมือนอย่างที่แหลมโพธิ์นั่นเอง  แต่กล่าวกันว่านอกจากที่แหลมโพธิ์แล้ว  ที่หาดหอยนี่แหละเล่นเพลงเรือ
แหลมโพธิ์สนุกนัก
            -  วิธีเล่น  ธรรมเนียมนิยมที่เกี่ยวกับวิธีเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นี้มีหลายประการด้วยกันคือ
           -  เพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่เป็นเพลงปฏิพากย์  ไม่มีการเล่นโต้ตอบกันระหว่างคณะ  นายดำ  มณีภาค 
อายุ  ๙๐  ปี  (พ.ศ. ๒๕๒๗)  อดีตแม่เพลงคนหนึ่งเล่าถึงเรื่องการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ให้ฟังสรุปได้ว่า
  “การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่เจาะจงถึงใครคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะว่ากราดไปทั่ว ๆ  จึงไม่มีการโต้ตอบ
ลักษณะปากต่อปาก  คำต่อคำ  อย่างเรือพระลำหนึ่งมีเรือยาวชักลากไป  ๔-๕  ลำ  เรือทั้ง  ๔-๕  ลำ  ต่างก็ว่าเพลงของตัวเองไป  เพลงลำใครก็นั้นแต่ก็สนุก  เมื่อพบลำอื่นก็จะว่าแข่งเสียงกัน  ไม่โต้กัน”
             -  เพลงเรือแหลมโพธิ์ที่เล่นในเรือ  ซึ่งก็เป็นเรือยาวชักเรือพระนั่นเอง  เรือยาวลำใหญ่ ๆ  จุผีพายได้ถึง  ๒๕  คน  แต่ที่ไม่เป็นเรือยาวซึ่งมีผีพายแค่  ๔-๕  คนก็มี  การเล่นในเรือนี้เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มชักลากเรือรพระออกจากหน้าวัด  จนถึงแหลมโพธิ์  เรือพระวัดใดอยู่ใกล้แหลมโพธิ์ก็มีเวลาอยู่ในเรือน้อยกว่าเรือพระที่วัดอยู่ไกล  แล้วจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การเล่นเพลงจะขึ้นไปเล่นบนบกด้วย  นั่นคือเมื่อชักพระมาถึงแหลมโพธิ์แล้ว  ช่วงเวลาที่จะเสร็จถวายภัตตาหารเพลพระและพิธีทางศาสนา  เป็นช่วงที่เพลงเรือทุกคณะจะขึ้นมาเล่นสนุกกับบนแหลมโพธิ์  เป็นช่วงการเล่นเพลงที่สนุกไปอีกแบบหนึ่งไม่แพ้การเล่นในเรือ
              -  ไม่มีเครื่องดนตรีใด ๆ  ประกอบการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์  ไม่มีฉิ่ง  กรับหรือเครื่องให้จังหวะ  ไม่มีแม้แต่เสียงปรบมือ  มีก็แต่เสียงพายที่จ้ำลงในน้ำพร้อม ๆ  กันเท่านั้นเพลงที่เล่าถึงประวัติ  เพลงชมความงาม  การพายก็มักจะพายจังหวะช้า ๆ  เพลงเสียดสีสังคม  เพลงสะท้องสภาพสังคม  เพลงสนุกตลกขบขัน  ก็จะลงจังหวะพายเร็ว ๆ  ทำให้เกิดความสนุกสนานคึกคัก
               -  การเริ่มเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็ไม่ต้องไหว้ครู  จะเริ่มต้นเพลงตรงไหนอย่างไรก็ได้  ในจำนวน  ๕๕  เพลงที่เก็บได้ขณะนี้  พบเพียงเพลงเดียวที่ขึ้นต้นเหมือนกับการไหว้ครู  คือเพลง  “ชักพระเกี้ยวสาว”  ของนายไข่  สุขสวัสดิ์  อายุ  ๖๖  ปี  (พ.ศ. ๒๕๒๘)  เป็นผู้แต่งและเป็นแม่เพลงเอง  ดังเนื้อร้องที่ว่า

                                                มือข้าทั้งสองยกประคองขึ้นตั้ง
                                                ยกขึ้นเหนือเศียรรั้งตั้งความวันทา
                                                ไหว้พระพุทธพระธรรมได้จำกายา
                                                ทุกค่ำเวลาวันทาชุลี

 
<<< PREVIOUS     NEXT >>>